การประท้วงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ฮ่องกง กับมุมมองการลงทุน

>>

ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านหนึ่งในข่าวที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ก็คือเหตุการณ์การชุมนุมครั้งใหญ่ในฮ่องกง โดยมีผู้ประท้วงเกือบ 2 ล้านราย จัดตั้งขบวนเดินเรียกร้องบนถนนใจกลางกรุงฮ่องกงเพื่อคัดค้านร่างกฎหมาย ‘‘ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน’’ และเรียกร้องให้ Carrie Lam ผู้นำสุงสุดของฮ่องกงออกจากตำแหน่ง นอกจากนี้สื่อหลายสำนักรายงานว่า นี่คือการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ฮ่องกง โดยการประท้วงครั้งใหญ่ครั้งล่าสุดคือ “การปฏิวัติร่ม” ในปี 2014

 


ประวัติศาสตร์ประเทศฮ่องกง


“ฮ่องกง” เป็นเกาะเล็กๆที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่ได้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษตั้งแต่ปีค.ศ. 1841 ก่อนถูกส่งมอบคืนให้กับจีนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 โดยมีชื่อใหม่ว่า “เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน” และภายใต้หลักการ “One country, two systems” โดยที่บริบทของจีนกับฮ่องกง จะเป็น Semi-Autonomous กล่าวคือ จีนยอมให้ฮ่องกงมี “กฎหมายพื้นฐาน” หรือรัฐธรรมนูญฉบับเฉพาะของตน


โดยที่ฮ่องกงได้รับสิทธิในการปกครองตนเอง รวมทั้งมีระบบยุติธรรมอิสระ มีสภานิติบัญญัติ มีระบบเศรษฐกิจและสกุลเงินดอลลาร์ฮ่องกงเป็นของตน ยกเว้นในด้านความมั่นคงและต่างประเทศจะยังคงถูกจีนควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ชาวฮ่องกงยังได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในระดับสูงมาอย่างยาวนาน รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการประท้วง อย่างไรก็ตามกฎหมายพื้นฐานนี้มีอายุแค่ 50 ปี และจะหมดอายุในลงในปีค.ศ. 2047 ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอนาคต


เนื่องจากอังกฤษเคยปกครองฮ่องกง ชาวฮ่องกงจึงได้รับค่านิยมประชาธิปไตยแบบอังกฤษ อีกทั้งการที่ฮ่องกงได้ถูกแยกออกจากจีนมาเป็นเวลานาน ทำให้ชาวฮ่องกงรู้สึกว่าตนเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีนอีกต่อไป โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องการกลับเข้าไปสู่ระบบเดียวกันกับจีน ดังนั้นเมื่อชาวฮ่องกงรู้สึกว่าประชาธิปไตยและเสรีภาพจะ ถูกริดรอนจึงเกิดประท้วงต่อจีนที่มีท่าทีเข้าแทรกแซงควบคุมฮ่องกงมากขึ้นเรื่อยๆ



จุดเริ่มต้นของการประท้วง


ในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ร่างกฎหมายนี้มีจุดเริ่มต้นจากนายเฉิน ถงเจี่ย ชาวฮ่องกงวัย 19 ปี ก่อคดีฆ่าแฟนสาววัย 20 ปีที่กำลังตั้งครรภ์ 5 เดือนในโรงแรมในประเทศไต้หวัน โดยหลังจากฆาตกรรมแล้ว นายเฉิน ได้อำพรางศพไว้ในกระเป๋าเดินทางก่อนนำไปทิ้งไว้ข้างๆสถานีรถไฟในกรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ก่อนที่จะหนีกลับฮ่องกงและถูกจำคุกในข้อหาฟอกเงิน อย่างไรก็ดีทางการฮ่องกงไม่สามารถดำเนินการส่งตัวนายเฉินไปลงโทษที่ไต้หวันได้ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกันระหว่าง ฮ่องกง จีน ไต้หวัน และมาเก๊า


จึงเป็นเหตุให้ นางแคร์รี แลม ผู้นำสูงสุดของฮ่องกง เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความไม่พอใจในกลุ่มนักกิจกรรมการเมือง ทนาย นักธุรกิจ เนื่องจากผู้คัดค้านเกรงว่าจะเป็นการทำให้ศักยภาพด้านศูนย์กลางทางการเงินและความเป็นอิสระจากจีนจะลดลง

 


ข้อกำหนดทางกฎหมายที่สำคัญในร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนฉบับนี้

  • ผู้นำฮ่องกงจะเป็นผู้อนุมัติส่งผู้ร้ายข้ามแดนเมื่อได้รับการร้องขอจากประเทศอื่น หลังศาลอนุมัติแล้ว
  • การส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะเป็นพิจารณาเป็นรายคดี
  • กฎหมายมีมาตรการป้องกันสิทธิมนุษยชนที่มีผลผูกพันธ์ทางกฎหมาย กล่าวถือ ในกรณีผู้ต้องหาคดีการเมืองหรือศาสนาที่มีความเสี่ยงถูกทรมาน หรือต้องโทษประหาร จะไม่ถูกส่งตัว
  • ผู้ถูกส่งตัวต้องก่อคดีอุกฉกรรจ์ เช่น ฆาตกรรม ข่มขืน และมีระวางโทษจำคุกสูงสุด 7 ปีขึ้นไป


หลังจากที่กฎหมายนี้ถูกต่อต้านอย่างหนัก รัฐบาลฮ่องกงจึงตัดสินใจปรับร่างกฎหมายโดยตัดคดีอาญาทางเศรษฐกิจ 9 ข้อออก รวมทั้งคดีฟอกเงิน และเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการล้มละลาย หุ้น อนุพันธ์และสินทรัพย์ทางปัญญาออกจากร่างกฎหมาย แต่ยังคงส่วนของการฆาตกรรม การคบชู้ และการโจรกรรมซึ่งเป็นที่กฎหมายกำหนดให้ต้องโทษจำคุกอย่างน้อย 3 ปีภายใต้กฎหมายปัจจุบันของฮ่องกงไว้ส่วน



ความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย

จากเหตุการณ์ประท้วงในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้ว่าฮ่องกงจะถือเป็นประเทศเดียวกับจีน แต่ประชาชนชาวฮ่องกงต้องการที่จะมีระบบการเมืองการปกครองแยกเป็นอิสระจากจีน (One Country, Two System) การประท้วงต่อจากนี้มีโอกาสยืดเยื้อต่อไป เนื่องจากทางการฮ่องกงยังไม่ได้ทำตามข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง ได้แก่ (1) ให้ Carrie Lam ผู้นำฮ่องกงลาออกจากตำแหน่ง (2) ยกเลิกร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน (3) ปล่อยตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับกุมไป อย่างไรก็ตามทั้งเหตุการณ์ประท้วงในปี 2018 และการประท้วงร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในครั้งนี้ พบว่ามีผลกระทบต่อตลาดหุ้นฮ่องกง (ดัชนี HSCEI) อย่างจำกัด