เงินเฟ้อส่งสัญญาณชะลอตัว พาณิชย์รื้อเป้าปีนี้ใหม่เหลือ1%

>>

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมิ.ย. โตแบบชะลอตัวเป็นเดือนที่3 อยู่ที่ 0.87% ผลพวงราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ยังมีปัจจัยบวกจากผัก ผลไม้ กลุ่มอาหารสด ที่ยังมีราคาสูงตามสภาพอากาศแปรปรวน


น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค(เงินเฟ้อทั่วไป)เดือนมิถุนายน 2562 เท่ากับ 102.94 สูงขึ้น 0.87% เทียบเดือนมิถุนายนปีก่อน แต่ลดลง 0.36% จากเดือนพฤษภาคมปีนี้ ซึ่งเป็นเงินเฟ้อขยายตัวแบบชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ของปีนี้ ปัจจัยบวกที่มีผลต่อเงินเฟ้อสูงขึ้นคือ สินค้ากลุ่มอาหารสด สูงขึ้น 6.35% โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ข้าวสารและเนื้อสุกร ตามสภาพอากาศที่แปรปรวน


ขณะที่ปัจจัยลบทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวคือสินค้ากลุ่มพลังงานหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยลดลง 3.86% ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ซึ่งมีปัจจัยจากราคาน้ำมันตามสถานการณ์ในตลาดโลก โดยได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในตะวันออกกลาง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว


ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2562 จาก 0.7-1.7% (YoY)(ค่ากลาง 1.2) เป็นระหว่าง 0.7 -1.3% (YoY) (ค่ากลาง 1.0) เพื่อให้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยมีปัจจัยสำคัญจาก ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีแนวโน้มหดตัว เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากบริบททางการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งปริมาณน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศลดลง ประกอบกับ ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศลดลง


นอกจากนี้ การส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัว แสดงถึงการลดลงของแรงส่งด้านอุปสงค์จากต่างประเทศ ส่งผลให้แรงกดดันในการปรับขึ้นของราคาสินค้าและบริการลดลง และส่งผลต่อเนื่องไปยังค่าจ้างของแรงงานในธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย ดังแสดงให้เห็นจากเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์ อาทิ

  • ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ (ข้าวเปลือก ยางพารา ผลไม้)
  • รายได้เกษตรกร และ
  • อัตราค่าจ้างเฉลี่ย มีแนวโน้มดีขึ้น


ด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มลดลง และเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า จะส่งผลให้ค่าครองชีพของภาคครัวเรือนชะลอการเพิ่มขึ้น ตลอดจนต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบของภาคธุรกิจลดลง ส่งผลดีต่อเนื่องไปยังการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนให้มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปีนี้ ดังนั้น คาดว่าปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปี 2562 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอัตราที่ใกล้เคียงกับปี 2561 และจะส่งผลให้เงินเฟ้อของประเทศมีเสถียรภาพ อยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินระยะปานกลางที่รัฐบาลกำหนดไว้