ตลาดรับสร้างบ้านครึ่งปีชะลอตัว จากผลกระทบเศรษฐกิจในประเทศ

>>

Hightlight

  • ภาพรวมธุรกิจสร้างบ้านหรือที่อยู่อาศัยเริ่มชะลอตัวลง สอดคล้องกับเศรษฐกิจในประเทศ
  • โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสองพบว่า การลงทุนเรื่องบ้านหรือที่อยู่อาศัยหลังใหม่ของผู้บริโภคชะลอตัวชัดเจน หากเปรียบเทียบกับ 2 ไตรมาสก่อนหน้านี้ สะท้อนความเชื่อมั่นและกำลังซื้อผู้บริโภคปรับตัวลดลง 
  • สมาคมฯ ได้ปรับลดตัวเลขมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านบ้านลงเล็กน้อย จากเดิม 1.6-1.7 ล้านบาท มาอยู่ที่ 1.4-1.6 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทย และกำลังซื้อเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วงครึ่งปีแรก

 



ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทย แนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินไว้ โดยการส่งออกสินค้าขยายตัวชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้มาก ตามภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลง จากสภาวะการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้นของ 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในส่วนของภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทย พบว่าขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้เช่นกัน รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนแนวโน้มขยายตัวชะลอลง รายได้และการจ้างงานที่มีสัญญาณชะลอลงในภาคการผลิตเพื่อส่งออก และหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับที่สูง

 

สำหรับภาพรวมธุรกิจสร้างบ้านหรือที่อยู่อาศัยเริ่มชะลอตัวลง สอดคล้องกับเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 พบว่า การลงทุนเรื่องบ้านหรือที่อยู่อาศัยหลังใหม่ของผู้บริโภคชะลอตัวชัดเจน หากเปรียบเทียบกับสองไตรมาสก่อนหน้านี้ ซึ่งสะท้อนให้รู้ว่าความเชื่อมั่นและกำลังซื้อผู้บริโภคปรับตัวลดลง ตามทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนสูง 



ภาพรวมการแข่งขันธุรกิจรับสร้างบ้านครึ่งแรกปี ’62

 

อย่างไรก็ตามแม้ความต้องการสร้างบ้านของผู้บริโภคและประชาชนแนวโน้มชะลอตัว หากแต่ผู้ประกอบการที่แข่งขันอยู่ในตลาดรับสร้างบ้าน ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งในต่างจังหวัด กลับแข่งขันกันไม่รุนแรงเหมือนเช่นก่อนหน้านี้ สมาคมฯ ประเมินว่า     

 

  1. จำนวนผู้ประกอบการที่แข่งขันอยู่ในธุรกิจรับสร้างบ้านลดลง
  2. ปัญหาขาดแคลนแรงงานและต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นตลอดเวลา
  3. แรงกดดันจากผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าและบริการคุณภาพสูง 



ซึ่งจำนวนผู้ประกอบการที่ลดลงหรือหายออกไปจากธุรกิจนั้นส่วนหนึ่ง เป็นเพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองและภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่เรื่องขาดแคลนแรงงานยังคงเป็นปัญหาที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ต้องแบกรับความเสี่ยงสูงมาก ขณะเดียวกันการตอบสนองความต้องการผู้บริโภคก็มีแรงกดดันสูง หากคุณภาพสินค้าและบริการไม่เป็นที่พึงพอใจ ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น ในยุคสังคมออนไลน์ปัจจุบัน 



ในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา พบว่าความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน ยังคงมีการจัดกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยหันมาเลือกใช้การตลาดในรูปแบบของอีเว้นท์มาร์เก็ตติ้ง เช่น การออกบูธงานแสดงสินค้า ออกบูธตามห้างสรรพสินค้าชานเมือง และใช้สื่อโซเชียลมีเดียควบคู่กัน ในขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก โดยเฉพาะที่แข่งขันอยู่ในต่างจังหวัด จะใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นหลัก เพราะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า และเลือกสื่อสารเฉพาะกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ให้บริการเท่านั้น 


แนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านครึ่งปีหลัง

 

แนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านในครึ่งปีหลัง สมาคมฯ ประเมินว่าความต้องการสร้างบ้าน และกำลังซื้อผู้บริโภคครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หากการเจรจาข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นไปในด้านบวก ภาพรวมเศรษฐกิจโลกก็น่าจะขยายตัวและส่งผลดีต่อประเทศไทย ทั้งในด้านการส่งออกและการท่องเที่ยว ตลอดจนการปรับตัวของผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจรับสร้างบ้าน ต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การให้บริการ มีความเชี่ยวชาญ และมีความเป็นมืออาชีพที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ตรงตามความต้องการมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ยังเป็นกังวลก็คือ ภาคการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาล ที่อาจฉุดความเชื่อมั่นกำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัว

 


ทั้งนี้สมาคมฯ ได้ปรับลดตัวเลขมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านบ้านลงเล็กน้อย จากเดิม 1.6-1.7 หมื่นล้านบาท มาอยู่ที่ 1.4-1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทย และกำลังซื้อเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วงครึ่งปีแรก บวกกับในครึ่งปีหลังภาคธุรกิจเองมีแนวโน้มชะลอการลงทุน และผู้ประกอบการหลายราย (รายเดิม) เลิกกิจการ อย่างไรก็ดีในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-มิ.ย. 62) สมาคมฯ ประเมินว่ากลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้านมีแชร์ส่วนแบ่งตลาดแล้วประมาณ 7 พันล้านบาทเศษ  
       


โอกาสและการปรับตัว

 


นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ขยายและเติบโตได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยปัจจัยหลัก ๆ เกิดจากความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจโลกและของภายในประเทศ ภาคการส่งออกที่ไม่มีขยายตัว และภาคท่องเที่ยวมีตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลงจากที่ประเมินไว้ รวมถึงสภาพปัญหาการเมืองภายหลังมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แล้ว พบว่าบรรดาพรรคการเมืองมีการต่อรองผลประโยชน์ในการเข้าร่วมและแย่งชิงกัน จัดตั้งรัฐบาลแบบไม่เกรงใจประชาชน 

 


สำหรับแนวโน้มและทิศทางตลาดรับสร้างบ้านในครึ่งปีหลัง ประเมินว่ามีทั้งโอกาสและความเสี่ยงพอ ๆ กัน โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ที่ต้องลุ้นและติดตามว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะเป็นไปในทิศทางใด ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรติดตามและเฝ้าระวัง พร้อมเร่งหาทางปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเชื่อว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคยังมีมากพอในระดับหนึ่ง  โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการเลือกสร้างบ้าน ทั้งนี้ในส่วนของสภาพการแข่งขันของตลาดรับสร้างบ้านในช่วงครึ่งปีหลัง ประเมินว่าจะกลับมาแข่งขันกันดุเดือดอีกครั้ง โดยมีกลุ่มผู้นำตลาดที่สร้างบ้านด้วยระบบสำเร็จรูป ได้แก่ กลุ่มซีคอนโฮม เอสซีจีไฮม์ พีดีเฮ้าส์ ฯลฯ ซึ่งยังต้องการขยายกำลังการผลิตและแชร์ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มนี้สามารถสร้างบ้านได้รวดเร็ว ควบคุมคุณภาพได้แม่นยำกว่า และใช้แรงงานคนจำนวนน้อย จึงมีความได้เปรียบผู้ประกอบการทั่ว ๆ ไป ที่ประสบปัญหาแรงงานขาดแคลนและมีข้อจำกัดอื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตลาดของตัวเอง

 

นอกจากนี้มีข้อมูลที่สมาคมฯ รวบรวมไว้ที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคที่ใช้บริการสร้างบ้านกับสมาชิกสมาคมฯ ต้องการกู้เงินหรือขอสินเชื่อปลูกสร้างบ้าน มีสัดส่วนสูงถึง 44% และ 41% ตามลำดับ จากปกติมีสัดส่วนขอสินเชื่อปลูกสร้างบ้านไม่เกิน 30-36% ถือเป็นสัดส่วนการขอสินเชื่อปลูกสร้างบ้านที่สูงที่สุดในรอบ 6 ปีของกลุ่มสมาชิกสมาคมฯ และจากจำนวนผู้ขอสินเชื่อทั้งหมด 82% เลือกจะปลูกสร้างบ้านในต่างจังหวัดที่เหลืออีก 18% ปลูกสร้างในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวอาจมีนัยสำคัญ ในแง่การปรับตัวของผู้ประกอบการและธุรกิจรับสร้างบ้าน โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจและตลาดรับสร้างบ้านในครึ่งปีหลัง มีความเสี่ยงและโอกาสพอ ๆ กัน