นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การส่งออกเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบการขยายตัวเศรษฐกิจมากที่สุด เพราะการส่งออก 5 เดือนแรกออกมาไม่ดีขยายตัวติดลบ ซึ่ง สศค. กำลังติดตามการส่งออกเดือนที่ 6 จะออกมาอย่างไร เพื่อจะใช้ปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่อีกครั้งในสิ้นเดือน ก.ค.นี้ จากที่ก่อนหน้าคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.8% และมูลค่าการส่งออกขยายตัวได้ 3.4%
ทั้งนี้ จากที่ สศค. หารือกับกระทรวงพาณิชย์ ยังมีความเชื่อมั่นว่าการส่งออกในครึ่งปีหลังขยายตัวได้ดีกว่าครึ่งปีแรก และการส่งออกทั้งปีไม่น่าจะแย่ไม่ขยายตัวเลยหรือขยายตัวติดลบ เหมือนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือสำนักวิจัยเศรษฐกิจของธนาคารพาณิชย์ ประเมินออกมาก่อนหน้านี้ โดยกระทรวงพาณิชย์ยังตั้งเป้ามูลค่าการส่งออกทั้่งปีจะขยายตัวได้ 3%
"กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่ามาตรการกระตุ้นการส่งออกที่ดำเนินการมา และปัญหาสงครามการค้าที่มีสัญญาณดีขึ้น จะส่งผลดีให้การส่งออกของไทยทั้งปีขยายตัวเป็นบวกได้" นายลวรณ กล่าว
สำหรับปัญหาค่าเงินบาทแข็ง มาจากหลายสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากที่ประเทศไทยเกินดุลบัญชีสะพัดต่อเนื่องมานาน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด
นายลวรณ กล่าวว่า สศค. ได้เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้รัฐบาลใหม่ตัดสินใจว่าจะดำเนินมาตรการอะไรบ้าง กรอบใหญ่ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องดูแลเรื่องการบริโภคภาคเอกชน เพราะเป็นมาตรการที่มีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจเร็ว การจะไปหวังผลจากมาตรการการลงทุนหรือการส่งออก ให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เร็วๆ เป็นเรื่องที่ยาก
"มาตรการกระตุ้นการบริโภคจะมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่ให้หดตัวไปมากกว่านี้ จะมีทั้งมาตรการทางการเงินและการคลัง ซึ่งขอให้ สศค. เสนอ รมว.คลัง และรัฐบาลใหม่พิจารณาก่อน สศค. เตรียมมาตรการไว้ครบทุกด้าน และคิดว่าตรงจุด และคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ถูกใช้ไป ถ้าใช้ยาแรงก็ต้องใช้เงินงบประมาณมากถือเป็นเรื่องปกติ" นายลวรณ กล่าว
นายลวรณ กล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ที่จะใช้ล่าช้าออกไป 3 เดือน จากเดิมต้องเริ่มใช้ 1 ต.ค. 2562 เป็น 1 ม.ค. 2563 ไม่ส่งผลกระทบกับการขยายตัวเศรษฐกิจ เพราะในส่วนของงบประมาณประจำไม่กระทบ เพราะตามกฎหมายงบประมาณให้ใช้ตามงบประมาณปี 2562 ไปก่อนได้
สำหรับงบลงทุนในไตรมาสแรกปี 2563 มีจำนวน 8.3 หมื่นล้านบาท เป็นงบลงทุนที่มีการผูกพันแล้วสามารถเบิกจ่ายได้ตามปกติ 4.2 หมื่นล้านบาท ไม่เกิดการสะดุด เหลือเพียง 4.1 หมื่นล้านบาท ที่มีปัญหายังเบิกจ่ายไม่ได้ แต่รัฐบาลได้มีมาตรการอื่นๆ ออกมาชดเชย ทั้งการเร่งเบิกจ่ายงบประจำให้ใช้จ่ายเร็วขึ้นมาใช้ในไตรมาสแรกมากขึ้น รวมถึงการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนเก่าค้างท่อให้ออกมาได้
ในส่วนของเรื่องการกำหนดเงื่อนไขการลงทะเบียนผู้รับบัตรสวัสดิการภาครัฐรอบใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา ยังสรุปไม่ได้ว่าจะให้ลงทะเบียนเป็นรายบุคคลเหมือนเดิม หรือแบบใหม่เป็นรายครอบครัว ต้องเสนอให้รัฐบาลเห็นชอบ ซึ่งมีข้อเสนอปรับปรุงมาตรการบัตรสวัสดิการให้ดีขึ้น