CPF กับการเดินตามแผน "ครัวของโลก" โบรกฯ เตรียมปรับเป้าราคาหุ้นใหม่ รับไฮซีซั่นส่งออก

>>

ถ้าพูดถึงธุรกิจใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ คงไม่มีใครไม่รู้จัก "ซีพีเอฟ" หรือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) อาณาจักรธุรกิจเกษตรและอาหารครบวงจรรายเดียวในประเทศ! ของตระกูลเจียรวนนท์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีรายได้จาก "ธุรกิจอาหารสัตว์" ทำรายได้ 229,539 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 42% ของรายได้รวม รองลงมาเป็นธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ ทำรายได้ 222,407 ล้านบาท หรือเป็นสัดส่วน 41% ของรายได้รวม ขณะที่กลุ่มธุรกิจอาหาร (ปรุงสุกและพร้อมทาน) ทำรายได้ 89,991 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 17% ของรายได้รวม ส่งผลให้ผลประกอบการ 2561 บริษัทมีรายได้ 567,820.21 ล้านบาท และมีกำไร 15,531.47 ล้านบาท

 


Kitchen of the World


ความน่าสนใจของ CPF ไม่ได้อยู่ที่ขนาดบริษัทหรือกำไรในมือที่มีมากเป็นหมื่นล้านบาท แต่คือการแปลงโฉม "ธุรกิจเกษตรและอาหาร" ซึ่งเป็นธุรกิจรากเหง้าของไทยส่งออกไปทั่วโลก โดยใช้วิชั่น "ครัวของโลก" Kitchen of the World โดยปัจจุบัน CPF ขยายกิจการไปยังประเทศต่างๆ ครอบคลุม 17 ประเทศ และส่งออกสินค้าไปกว่า 30 ประเทศ ใน 5 ทวีปทั่วโลก


อย่างปีที่ผ่านมา นอกจากขยายบริษัทย่อยแล้ว CPF ได้ลงทุนในธุรกิจฟาร์มกุ้งและแปรรูปกุ้งขั้นต้นในบราซิล โดยร่วมทุนกับ Camanor ผู้คิดค้นเทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งระบบปิด ซึ่งเป็นระบบการเลี้ยงกุ้งความหนาแน่นสูง หมุนเวียนการใช้น้ำโดยไม่ใช่สารเคมีหรือยาฆ่าเชื้อ และเข้าซื้อหุ้นใน Jilin Chia Tai Enterprise Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทในจีน นอกจากนี้มีการลงทุนในไต้หวัน สำหรับประกอบธุรกิจภัตตาคาร ลงทุนในยุโรป และลงทุนในธุรกิจผลิตพิซซ่าแช่แข็งและพิซซ่าแบบทานเล่นในสหรัฐ


โดยการเข้าลงทุนในต่างประเทศ CPF แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  • บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ประกอบด้วย HKSE (ไต้หวัน) CPP (จีนและเวียดนาม) CTEI (จีน) TWSE (ไต้หวัน) และ CPE (ไต้หวัน)
  • บริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะลงทุนในประเทศอินเดีย สหรัฐ ตุรกี รัสเซีย อังกฤษ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย จีน ลาว เบลเยี่ยม ศรีลังกาและโปแลนด์ รวม 13 ประเทศ


ส่วนเงินลงทุนในบริษัทร่วมค้า นั้นจะมีบริษัทที่โดดเด่นอย่าง ซีพี-เมจี, ซีพี ออลล์, C.P.aquaculture (อินเดีย) ที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทเป็นกอบเป็นกำ โดยทำรายได้จากต่างประเทศ มาจาก "จีน" มากที่สุด 142,977 ล้านบาท หรือคิดเป็น 21% ของรายได้ รองลงมาเป็นผลผลิตจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะในเวียดนาม ซึ่งมีสัดส่วน 9% ดังตารางนี้

 

 


ภาวะอุตสาหกรรมและแนวโน้ม


สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ประเมินว่าในปี 2562 ทั่วโลกจะผลิตเนื้อไก่ 97.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2% ส่วนในไทยคาดว่าจะผลิตเนื้อไก่ 3.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4% ใกล้เคียงกับปริมาณในตลาดโลก และคาดการณ์ว่ามีเนื้อไก่ส่งออกประมาณ 910,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 111,000 ล้านบาท จากความต้องการเนื้อไก่ที่เพิ่มขึ้นของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่เชื่อมั่นในศักยภาพเนื้อไก่ไทย


ส่วนเนื้อหมูในปีนี้ราคายังทรงตัว บวกกับกำลังซื้อผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้น ขณะที่เนื้อกุ้ง สมาคมกุ้งไทยคาดการณ์ว่าผลผลิตกุ้งเลี้ยงโลกจะไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมาเท่าไหร่นัก คาดว่าไทยจะผลิตกุ้งได้ 310,000-320,000 ตัน

 


โบรกฯ ประเมิน
Q3 เป็นช่วงไฮซีซั่น


มุมมองนักวิเคราะห์จากบล.เอเชีย เวลท์ ประเมินว่า CPF จะมีกำไรไตรมาส 2/2562 ที่ 2,423 ล้านบาท ติดลบ 59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และติดลบ 43% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยปัจจัยที่มีผลต่อประกอบการมาจากการตั้งสำรองตามกฎหมายแรงงาน 1,800 ล้านบาท รายการขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ชีวภาพ 400 ล้านบาท จากราคาหมูในเวียดนามที่ปรับลดลง ทั้งนี้ถ้าดูกำไรจากการดำเนินงานปกติจะอยู่ที่ 2,623 ล้านบาท ติดลบ 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และติดลบ 27% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า


อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ให้มุมมองว่าในภาพรวม CPF ยังฟื้นตัวดีจากราคาหมูไก่ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น แต่มีความเสี่ยงเรื่องธุรกิจหมูในเวียดนามที่ได้รับผลกระทบจากโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ในเวียดนามและจีน)


ขณะที่บล.หยวนต้ามองว่า CPF ยังสดใสทั้งในและต่างประเทศ โดยให้ราคาเป้าหมาย ใหม่ที่ 37.5 บาท (จากราคาเดิม 33.60 บาท) มีอัพไซต์ 24.8% และยังคงเป็นหุ้นเด่นในกลุ่มอาหารในปีนี้ ประเมินกำไรไตรมาส 2/2562 ที่ 2,620 ล้านบาท เติบโตขึ้น 46.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากแรงหนุนราคาเนื้อในประเทศ แม้ว่าธุรกิจในเวียดนามจะทำให้กำไรลดลงชั่วคราว  ประกอบกับการขาดแคลนหมูในจีน ส่งผลบวกต่อการส่งออกไก่ของ CPF และธุรกิจหมูในแคนาดา


บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินกำไรไตรมาส 2/2562 อยู่ที่ 4,358 ล้านบาท ติดลบ 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตามประเมินว่าในไตรมาส 3 จะทำได้ดีต่อเนื่อง เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่นของการส่งออก ในเบื้องต้นจึงประเมินว่าอาจจะปรับกำไรสุทธิและราคาเป้าหมายของ CPF ใหม่ แต่จะต้องรอดูผลประกอบการไตรมาสนี้ให้ชัวร์ก่อนๆ อีกครั้ง


กลยุทธ์โตนอกบ้าน และโดยเฉพาะการกระจายการลงทุนในหลายๆ ประเทศ ยังทำให้
CPF โตแข็งแกร่ง การวางรากฐานของบริษัทที่มีฐานการผลิตที่กระจายตัวจะช่วยให้ CPFเดินได้ตามกลยุทธ์ที่วางไว้ให้ครัวไทย ...ไปครัวโลก


ที่มา : รายงานประจำปีของบริษัท บทวิเคราะห์หุ้นบล.เอเชีย เวลท์,บล.หยวนต้า และบล.ฟินันเซีย ไซรัส  และข้อมูลจาก StockRadars