ธปท. โชว์ผลงานปี 61 ผลักดันชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์หนุนลดค่าธรรมเนียมโอน พร้อมสร้างสิ่งแวดล้อมทางการเงินที่มีเสถียรภาพปี 62
>>
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผลงานที่สำคัญของ ธปท.ในปี 61 ซึ่งนอกจากจะเกิดประโยชน์ต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศที่ทำให้เติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ และเอื้อต่อการสร้างพัฒนาการทางการเงินแล้ว ยังเกิดประโยชน์ต่อทั้งภาคประชาชน, ภาคธุรกิจ, ภาคสถาบันการเงิน และหน่วยงานอื่นๆ ด้วย
สำหรับ ประโยชน์ที่เกิดกับภาคประชาชน เช่น การเข้าถึงบริการทางการเงินขั้นพื้นฐาน และเลือกบริการได้อย่างเหมาะสม, ได้รับบริการทางการเงินสะดวก รวดเร็ว และถูกลง, มีความรู้และภูมิคุ้มกันทางการเงิน สามารถเข้าถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินได้มากขึ้น, มีความเชื่อมั่นในธนบัตรและการใช้บริการทางการเงิน เป็นต้น ส่วนประโยชน์ที่เกิดกับภาคธุรกิจ และ SME เช่น สามารถโอนเงินได้สะดวกและถูกลง, เข้าใจและเข้าถึงการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น, ลดต้นทุนความเสี่ยงในการชำระค่าสินค้า เป็นต้น
ขณะที่ประโยชน์ที่สถาบันการเงินได้รับ เช่น สร้างนวัตกรรมหลากหลายตอบโจทย์ลูกค้าได้เร็วขึ้น ปลอดภัย ต้นทุนลดลง, การกำกับดูแลเป็นสากล สร้างความเชื่อมั่นท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น, ดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ส่วนหน่วยงานอื่น ๆ เองก็ยังได้รับประโยชน์ด้วย เช่น มีนโยบายที่สอดประสานระหว่างหน่วยงานมากขึ้น, เห็นภาพความเชื่อมโยงของโครงสร้างทางเศรษฐกิจครอบคลุมขึ้น ตลอดจนสามารถนำข้อมูลและงานวิจัยไปใช้ได้ตรงความต้องการมากขึ้น เป็นต้น
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า การประเมินผลการดำเนินงานในปี 61 นี้ พบว่าแผนส่วนใหญ่ประมาณ 65% หรือ 2 ใน 3 สามารถดำเนินการไปตามกรอบระยะเวลาที่วางไว้ แต่ส่วนที่มองว่าทำได้ดีและเร็วกว่าที่คาดไว้ คือ ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่นำไปสู่การลดค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ซึ่งตามแผนนั้นคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีที่ 3 (ปี 62) ของแผนยุทธศาสตร์ธนาคารแห่งประเทศไทย ปี 60-62 แต่ในความจริงก็สามารถเกิดขึ้นได้ในปีนี้แล้ว พร้อมกันนี้ จำนวนผู้ใช้บริการการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์สามารถเติบโตได้ดีโดยเฉพาะในกลุ่มประชาชน
ส่วนกลุ่มที่การใช้ยังไม่ค่อยเติบโตนัก คือ กลุ่มธุรกิจ สาเหตุมาจากต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการภายในองค์กรให้สอดคล้องกันด้วย ดังนั้น ในปีหน้า ธปท.จะเร่งขับเคลื่อนและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการใช้บริการทางการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
อีกเรื่องที่ทำได้ดี คือ เสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธปท.ได้เริ่มตั้งกลุ่มงานด้านเสถียรภาพระบบการเงินขึ้น โดยจะพิจารณาภาพรวมของระบบการเงินไทยไม่ใช่เพียงแค่ธนาคารพาณิชย์เท่านั้น แต่จะดูความเชื่อมโยงทั้งหมดด้วยการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศ ซึ่งทำให้เห็นความเชื่อมโยงของระบบการเงินทั้งหมดของประเทศ และเห็นว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้นจะโยงไปสู่จุดใดบ้าง เพื่อที่จะวางมาตรการในการป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามไปยังจุดอื่นต่อไป
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า สำหรับในปี 62 จะเป็นการก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ของการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ธนาคารแห่งประเทศไทย ปี 60-62 ที่วางพันธกิจไว้ในการมุ่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินที่มีเสถียรภาพและมีพัฒนาการอย่างยั่งยืนและทั่วถึง
อย่างไรก็ดี จากบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ส่งผลให้สภาพคล่องในระบบการเงินโลกจะค่อยปรับลดลง, ความไม่แน่นอนของทิศทางการค้าโลกและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนบรรยากาศช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเองในความไม่แน่นอนและความต่อเนื่องของนโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลชุดเดิมทำไว้ สิ่งเหล่านี้ทำให้งานของ ธปท.ในช่วงปีหน้าจะต้องกว้างขึ้น ยากขึ้น และทำให้รวดเร็วขึ้น ซึ่ง ธปท.จะต้องจับตามองประเด็นต่างๆ เหล่านี้ เพราะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ด้านนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวถึงแผนงานสำคัญในปี 62 ด้านระบบสถาบันการเงินและการชำระเงินว่า ประกอบด้วย 3 แผนงาน คือ
1. การพัฒนาระบบการเงินและระบบการชำระเงิน โดยในด้านการพัฒนาระบบการเงินและระบบการชำระเงินนั้น ประกอบด้วย
1.1. การปรับปรุงและพิจารณาขอบเขตธุรกิจให้เน้นเชิงหลักการ (Principle Based) มากขึ้น และสนับสนุนให้สถาบันการเงินใช้ข้อมูลอื่นประกอบการพิจารณาสินเชื่อ
1.2. นำหลักการประเมินผลกระทบของหลักเกณฑ์ (Regulatory Impact Assessment : RIA) มาใช้ในการกำหนดนโยบาย
1.3. ปรับให้สถาบันการเงินนำเทคโนโลยีมาใช้แบบครบวงจร เช่น การใช้ Public Cloud และการจัดเก็บ/รับส่งเอกสารแบบอิเล็กทรอนิกส์
1.4. ปรับหลักเกณฑ์การเข้าร่วมทดสอบและพัฒนานวัตกรรม (Sandbox) และให้สถาบันการเงินมี sandbox ของตนเอง
1.5. ยกระดับด้านความปลอดภัยของข้อมูลสำหรับสมาชิกบาทเนตทุกราย และมาตรฐานข้อความการชำระเงินกับระบบ QR code และ Bulk Payment
2. การกำกับตรวจสอบ ส่วนด้านการกำกับและตรวจสอบนั้น ได้แก่
2.1. การยกระดับการตรวจสอบให้เท่าทัน โดยกำหนดความเข้มข้นในการกำกับดูแลตามลักษณะความเสี่ยงและนัยสำคัญของสถาบันการเงิน, พัฒนาเครื่องมือตรวจสอบ (Dashboard) ให้ติดตามความเสี่ยงได้อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดมากขึ้น
2.2. การยกระดับธรรมาภิบาล และ Risk Culture ด้วยการนำการตรวจสอบพฤติกรรมและวัฒนธรรมองค์กรและ Text Mining มาใช้
2.3. ยกระดับการกำกับดูแลความเสี่ยงด้าน IT และ Cyber ด้วยการปรับปรุงเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี, ทดสอบความพร้อมของสถาบันการเงินในการรับมือภัยไซเบอร์, การพัฒนาความร่วมมือด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์กับหน่วยงานภายนอกอื่น
2.4. ยกระดับการกำกับตรวจสอบผู้ให้บริการชำระเงิน ด้วยการเพิ่มการกำกับตรวจสอบเชิงความเสี่ยง โดยเน้นธรรมาภิบาลและการให้บริการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือกำกับดูแลด้านการชำระเงิน
3. การคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ส่วนด้านการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินนั้น ประกอบด้วย
3.1. บริการทางการเงินทั่วถึง เพิ่มผู้ใช้บริการบัญชีเงินฝากขั้นพื้นฐานร่วมกับหน่วยงานอื่น, ขยายขอบเขตโครงการคลินิกแก้หนี้ให้ครอบคลุม Non-bank
3.2. บริการทางการเงินเป็นธรรม (การคุ้มครองผู้บริโภค) โดยขยายการกำกับดูแลไปยังผู้ให้บริการอื่น, ตรวจสอบ/ประเมินร่วมกับหน่วยงานอื่น และเพิ่มหน้าข้อมูลเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ผ่านเว็บไซต์
3.3. ระบบการเงินยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมการทำธุรกิจที่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ
3.4. การให้ผู้บริโภคมีภูมิคุ้มกัน ด้วยการเพิ่มความรู้ด้าน Digital Banking และการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ แก่กลุ่ม Millenial กลุ่มเกษียณ เป็นต้น
ที่มา: www.bot.or.th/