กระทรวงการคลัง เผยดีลควบ TMB-TBANK ผู้ถือหุ้นต้องได้ประโยชน์ พร้อมแนะธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลค่าบาท
>>
รมว.คลัง เผยแผนควบรวม TMB-TBANK ยังไม่คืบหน้า ชี้ 2 แบงก์ยังไม่ได้เข้ามาพูดคุยเพิ่มเติม ย้ำรวมกันแล้วแบงก์ต้องแกร่งขึ้น - ผู้ถือหุ้นได้ประโยชน์สูงสุด พร้อมแนะธปท.ดูแลบาทใกล้ชิด หลังแข็งค่าต่อเนื่องหวั่นกระทบส่งออก
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการควบรวมกิจการธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB และ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK ว่า ขณะนี้ทั้ง 2 ธนาคารยังไม่ได้เข้ามาหารือถึงแนวทางในการควบรวมเพิ่มเติม ซึ่งหากทั้ง 2 ธนาคารจะควบรวมกันจริง กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นจะพิจารณาถึงความแข็งแกร่งของธนาคาร และประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นที่จะได้รับภายหลังการควบรวมแล้ว
เราพูดกันมาหลายครั้งว่าการควบรวมมันต้องทำให้แบงก์แข็งแรงขึ้น ซึ่งถือเป็นแนวทางในการสนับสนุน ที่กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการภาษีออกมาสนับสนุนก่อนหน้านี้ ส่วนกรณีที่หากควบรวมแล้วต้องเพิ่มทุน ยืนยันว่า หากเพิ่มทุนแล้วมันได้ประโยชน์ คุ้มค่า ก็จะเพิ่มทุน แต่ทุกอย่างย้ำว่าต้องดูประโยชน์ที่จะได้เป็นหลัก”นายอภิศักดิ์ กล่าว
ส่วนกรณีค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง นายอภิศักดิ์เปิดเผยว่า เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะต้องดูแลและบริหารจัดการ ซึ่งหากพบว่า ค่าเงินปรับตัวแข็งค่าขึ้นเร็ว หรือ มีความผันผวนเกินไปจนกระทบกับผู้ส่งออก ธปท.จะต้องเข้าไปดูแลเรื่องดังกล่าวให้เหมาะสม และดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าไปกว่าประเทศคู่ค้าคู่แข่ง หรือให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค ขณะเดียวกัน ธปท.จะต้องชั่งน้ำหนักถึงผลดีและผลเสียของค่าเงินบาทที่แข็งค่า เพราะค่าเงินที่แข็งค่าจะมีผลดีต่อการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการลงทุน แต่จะส่งผลเสียต่อภาคการส่งออก โดยเฉพาะภาคเกษตร
“ค่าเงินเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ธปท.จะต้องเข้าไปดูแล ต้องรักษาไม่ให้เงินแข็งกว่าคู่แข่ง และไม่ควรให้ค่าเงินบาทเรานำโด่ง เพราะว่าการนำโด่งเป็นเรื่องที่ทำให้เราเสียเปรียบ ซึ่งตอนนี้ที่เราเห็นคือ พวกสินค้าเกษตร เกษตรกรมีรายได้ลดลงจากผลกระทบดังกล่าว ทำให้รัฐบาลจะต้องเข้าไปดูแล”นายอภิศักดิ์ กล่าว
ด้านกระทรวงการคลังมีหน้าที่ในการดูแลนโยบายการคลัง ที่จะดูแลเรื่องราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศ รวมถึงรายได้ภาคการเกษตรให้สูงขึ้น ขณะที่ธปท. จะต้องดูแลความเหมาะสมของปัจจัยค่าเงินให้เอื้อต่อผู้ส่งออกให้มากที่สุด
ส่วนกรณีที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เปิดเผยดัชนีภาพลักษณ์การคอรัปชั่นในรัฐบาลทั่วโลก ประจำปี 2018 ไทยมีอันดับลดลง จากอันดับที่ 96 มาอยู่ที่ 99 จาก 180 ประเทศทั่วโลกนั้น กรณีดังกล่าว ไม่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน เพราะเชื่อว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้แก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี และจะพยายามผลักดันแนวทางการปราบปรามคอรัปชั่นให้ลดลงต่อเนื่อง โดยใช้สิงคโปร์ที่เป็นประเทศอันดับ 1 ของเอเชีย เป็นแบบอย่างในการแก้ไขปัญหา
ที่มา: www.mof.go.th/