วิกฤต “มะกัน-เวเนซุเอลา” ป่วนราคาน้ำมันตลาดโลก

>>

วิกฤตใน “เวเนซุเอลา” ยังลุกลามนับตั้งแต่ “นิโคลัส มาดูโร” เข้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ผ่านไปเพียงเกือบ 2 สัปดาห์กลุ่มผู้ประท้วงหลายพันคน นำโดย “ฮวน กุยโด” ประธานสมัชชาแห่งชาติ เคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจของผู้นำโดยไม่ยอมรามือความขัดแย้งภายในของเวเนซุเอลากำลังบานปลายกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับ “สหรัฐอเมริกา” หลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศรับรอง นายฮวน กุยโด ในฐานะรักษาการประธานาธิบดีเป็นชาติแรก หลังจากนั้นแคนาดา บราซิล อาร์เจนตินา โคลอมเบีย เปรู ปารากวัย และคอสตาริกา ต่างแสดงเจตนารมณ์ร่วมจุดยืนเดียวกับสหรัฐ

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ทวีตข้อความด้วยว่า “สนับสนุนให้ทำรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจนายมาดูโร” 

ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและเวเนซุเอลาที่คุกรุ่นอยู่แล้วร้อนแรงยิ่งขึ้น โดยรอยเตอร์สรายงานว่า ล่าสุด ประธานาธิบดีมาดูโรใช้ไม้แข็งตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐอย่างเด็ดขาด ประกาศให้นักการทูตอเมริกันออกจากประเทศภายใน 72 ชั่วโมง นับตั้งแต่ที่ได้ประกาศเมื่อวันที่ 23 ม.ค.

นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กระบุว่า ที่ผ่านมาสหรัฐแซงก์ชั่นเพียงตัวบุคคล ประกอบด้วยผู้นำมาดูโรและภริยา ทั้งเจ้าหน้าที่คนสนิท 13 คน และบริษัทอีก 20 แห่ง ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประธานาธิบดี ให้ขึ้นบัญชีดำของสหรัฐ ล่าสุดทำเนียบขาวเผยว่า รัฐบาลทรัมป์กำลังพิจารณามาตรการคว่ำบาตรธุรกิจน้ำมันของเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นท่อลำเลียงใหญ่ที่สุดของนายมาดูโร

โดยจะจำกัดการนำเข้าน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาเพิ่ม หลังจากที่ลดการนำเข้าลงต่อเนื่อง ซึ่งในไตรมาสแรกปี 2018 สหรัฐนำเข้าน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาลดลงเหลือ 480,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดิมระดับ 840,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ธ.ค.ปี 2017 ซึ่งคาดการณ์ว่าโรงกลั่นน้ำมันในเทกซัสและในรัฐลุยเซียนาจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่กังวลว่า ราคาน้ำมันดิบโลกอาจจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่ปกติ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการแซงก์ชั่นน้ำมันของสหรัฐ ขณะที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ได้ร่วมกันปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลงเช่นเดียวกัน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์