ผลตอบแทนหายาก...หนุน “อาณาจักรกองทุน” เติบโต 10 ปี เม็ดเงินแตะ 7.17 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 230%

>>

หนึ่งในกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่ถือว่ามีบทบาทในตลาดการเงินของโลกในปัจจุบัน ก็คือ “กองทุน” เพื่อให้มองเห็นภาพ ย้อนหลังไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว สิ้นปี2008 ‘อาณาจักรกองทุน’ ทั้ง ‘กองทุนรวม’ ‘กองทุนส่วนบุคคล’ และ ‘กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ’ มีเม็ดเงินรวมกัน 2.17 ล้านล้านบาท ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา เม็ดเงินลงทุนผ่าน “กองทุน” นั้น เติบโตขึ้นเป็น 7.17 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี2018 เพิ่มขึ้นประมาณ 230% มีการเติบโตเฉลี่ยสะสม (CAGR) 12.68% ต่อปี สูงกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงเวลาเดียวกันประมาณ 3 เท่า นี่สะท้อนถึงความสำคัญของ ‘กองทุน’ ได้เป็นอย่างดี

           
“ในปี2008 บลจ.ที่มีธุรกิจกองทุนรวม มีเม็ดเงินกองทุนรวมกัน 1.92 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 88.41% ของเงินในระบบกองทุนทั้งหมด ให้หลัง 10 ปี ในปี2018 เม็ดเงินของบลจ.ที่มีธุรกิจกองทุนรวมขยับขึ้นเป็น 7.12 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 99.30% ของเม็ดเงินในระบบกองทุนเลยทีเดียว เรียกว่า ‘กินรวบ’ ก็คงไม่ผิดนัก เติบโตเพิ่มขึ้น 270% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยสะสม (CAGR) 13.99% ต่อปี จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมกลุ่ม ‘กองทุน’ จึงมีบทบาทมากขึ้นตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มจะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต เมื่อการแสวงผลตอบแทนในตลาดการเงินทั้งในและต่างประเทศทำได้ยากขึ้นเช่นนี้”



ช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ยังมีความน่าสนใจอีกหลายแง่มุม ในปี2008 บลจ.ที่มีส่วนแบ่งการตลาดในอาณาจักรกองทุนมากสุดยังคงเป็น 2 รายเดิมกับในปี2018 นำมาโดยยักษ์ม่วง ‘บลจ.ไทยพาณิชย์’ ตามติดมาด้วยยักษ์เขียว ‘บลจ.กสิกรไทย’  ซึ่ง 10 ปีที่แล้วถือเป็น 2 บลจ.ที่มีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) เกิน 3 แสนล้านบาท ทั้งคู่ ปัจจุบันในปี2018 ก็ยังคงเป็น 2 บลจ.ที่มี AUM ทะลุระดับ 1 ล้านล้านบาท ทั้งคู่เช่นเดียวกัน ด้วย AUM 1.49 ล้านล้านบาท และ 1.38 ล้านล้านบาท ตามลำดับ

           
ในขณะที่อันดับ3 – 5 นั้น เปลี่ยนหน้าตาไปบ้างเล็กน้อยไม่มากนัก ในปี2008 นั้น บลจ.ที่มี AUM ใหญ่เป็นอันดับ3 – 5 ได้แก่ ‘บลจ.เอ็มเอฟซี’ , ‘บลจ.กรุงไทย’ และ ‘บลจ.ทหารไทย’ ตามลำดับ ให้หลัง 10 ปี บลจ.ที่มี AUM ใหญ่เป็นอันดับ3 – 5 เปลี่ยนมาเป็น ‘บลจ.บัวหลวง’ , ‘บลจ.กรุงไทย’ และ ‘บลจ.กรุงศรี’ ตามลำดับ ด้วยขนาด AUM 8.66 แสนล้านบาท ,7.76 แสนล้านบาท และ 5.15 แสนล้านบาท ตามลำดับ

           
“จะเห็นว่า 5 อันดับบลจ.ที่มีส่วนแบ่งเม็ดเงินในอาณาจักรกองทุนมากสุด 5 อันดับแรกเมื่อ 10 ปีก่อนนั้น ล้วนเป็นบลจ.ลูกแบงก์ทั้งสิ้น ผ่านมา 10 ปี ภาพยังคงไม่ต่างจากในอดีต แต่ในยุค Technology Disruption เช่นนี้ คงต้องดูว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ภาพยังจะเป็นเช่นนี้หรือไม่ ในขณะที่บลจ.ขนาดเล็กที่ไม่มีเครือข่ายแบงก์ในอดีต ก็มีความหวังกับเทคโนโลยีในการเข้าถึงนักลงทุนได้ไม่ต่างจากบลจ.ขนาดใหญ่ ของแค่ผู้ลงทุนมีเทคโนโลยีเช่นมือถือในมือก็เพียงพอ แต่เกมส์นี้บลจ.ใหญ่ก็ขยับลงมาเล่นเช่นเดียวกัน เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบและทิ้งระยะห่างกับบลจ.ที่ไม่ใช่ลูกแบงก์เอาไว้อย่างต่อเนื่อง แต่สุดท้ายผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรยังคงต้องจับตาดูกันต่อไป”

           
อีกตัวเลขที่น่าสนใจและสะท้อนถึงบทบาทที่มีมากขึ้นของ ‘กองทุน’ ในปี2008 สัดส่วนธุรกิจกองทุนรวม ,กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อยู่ที่ 70.53% ,8.07% และ 21.40% ตามลำดับ ผ่านมา 10 ปี ในปี2018 สัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 70.47% ,13.80% และ 15.74% ตามลำดับ จะเห็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมากใน ‘กองทุนส่วนบุคคล’ นั่นอาจสะท้อนว่า...คนมีเงินทั้งกลุ่ม ‘นักลงทุนสถาบัน’ และ ‘บุคคลที่มีความมั่งคั่งสูง’ กำลังมองหา ‘ผู้ช่วย’ ในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับตัวเองมากขึ้น เช่นเดียวกับ ‘นักลงทุนรายย่อย’ ที่ยังคงลงทุนผ่านกองทุนรวมอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่ยิ่งมา...ยิ่งผันผวนเช่นในปัจจุบัน และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคตจากสารพัดปัจจัย การสร้างผลตอบแทนที่ดียิ่งทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะการก้าวเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง ‘ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) : AI’ ในภาคการลงทุนนั่นเอง

อย่างไรก็ตามความยากในการแสวงหาผลตอบแทน ในมุมกลับกลับจะเป็น ‘ปัจจัยบวก’ ต่ออุตสาหกรรม ‘กองทุน’ ในภาพรวมไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน