แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เสนอให้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง พิจารณาขยายเวลาการใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินใหม่ (ไอเอฟอาร์เอส 9) กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐออกไปอีก 5 ปี จากเดิมใช้ปี 2563 ออกไปเป็นปี 2568 แต่หากธนาคารไหนมีความพร้อมก่อนก็สามารถเริ่มใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ได้ทันที เพื่อให้สถาบันการเงินของรัฐมีเวลา
ทั้งนี้มองว่าสถาบันการเงินรัฐส่วนใหญ่มีภารกิจแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารรัฐไม่มีผลต่อความเชื่อมั่นในการออกไประดมทุนในต่างประเทศ จึงน่าจะเลื่อนได้ อีกทั้งหากมีการประกาศไอเอฟอาร์เอส 9 อาจกระทบต่อสถานะของบางธนาคาร จนต้องมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นมาก เพราะธนาคารรัฐหลายแห่งมีการปล่อยกู้โดยไม่ได้ใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกัน
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธนาคารพร้อมใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาได้ตั้งสำรองไว้สูงกว่าเกณฑ์ อาทิ ลูกค้าทั่วไปมีการกันสำรองไว้ 1% ส่วนลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนได้กันสำรองไว้ 100% สูงกว่าเกณฑ์ที่ 10% ส่วนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียค้างชำระเกิน 3 เดือน ก็สำรองไว้ 100% ขณะเดียวกัน ยังมีการสำรองตามเกณฑ์คุณภาพลูกหนี้ เช่น ในการพักชำระหนี้ธนาคารก็จะแบ่งเกรดตามความเสี่ยง ถ้าเสี่ยงมากก็ตั้งสำรองมาก
อย่างไรก็ตามสิ่งที่กังวลคือเรื่องการนำข้อมูลมาใช้ประกอบการพิจารณาคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อต่างๆ ซึ่งตามมาตรฐานไอเอฟอาร์เอส 9 จะต้องใช้ข้อมูลย้อนหลัง 60 งวด มาคาดการณ์โอกาสที่จะเกิดการค้างชำระหนี้ในอนาคต อีกทั้งตอนนี้ ธ.ก.ส.มีบัญชีลูกค้าสินเชื่อมากถึง 40 ล้านฉบับ นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งยากจะอธิบายตามมาตรฐานไอเอฟอาร์เอส 9 เช่น มาตรการพักหนี้เพื่อภัยแล้ง เพื่อช่วยเหลือน้ำท่วม และเพื่อส่งเสริมปรับเปลี่ยนการผลิต
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการ ผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธนาคารยังไม่ได้รับแจ้งว่าจะมีการเลื่อน ใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ออกไป ซึ่งต้องรอ รับแจ้งหนังสืออย่างเป็นทางการก่อน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารมีความ พร้อมการตั้งสำรองรองรับอยู่แล้วเนื่องจาก สินเชื่อของธนาคารส่วนใหญ่เป็นการปล่อยกู้แบบมีหลักประกัน