“ก.ล.ต.”…ตั้งเป้าให้ผู้ลงทุนไทยเข้าถึงคำแนะนำการลงทุนที่มีคุณภาพ

>>

นางณัฐญา นิยมานุสร ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวเสวนาในหัวข้อ“Democratized Access to Wealth Adviceที่จัดขึ้นในงานSEC Conference 2019: Capital Market for Allว่า ปัจจุบันยังมีประชาชนน้อยรายที่เข้าถึงตลาดทุนไทย ส่วนผู้ที่เข้ามาลงทุนแล้วก็อาจไม่สามารถใช้ประโยชน์จากตลาดทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวได้ เนื่องจากเลือกลงทุนไม่ถูกหรือไม่เหมาะสม เพราะมีข้อมูลมากเกินไป และยังขาดการได้รับคำแนะนำและการวางแผนทางการเงินที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง สำนักงานจึงมีเป้าหมายที่อยากเห็นประชาชนในวงกว้างสามารถเข้าถึงบริการให้คำแนะนำการลงทุนที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวได้ โดยมีแนวทาง ดังนี้

  1. เปิดพื้นที่ ลดอุปสรรค ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน โดยทบทวนกฎเกณฑ์ให้มีเท่าที่จำเป็น ไม่ให้เป็นอุปสรรคกับรูปแบบการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และสามารถแข่งขันอย่างเป็นธรรม
  2. ส่งเสริมให้มีการไหลเวียนและเข้าถึงข้อมูล (information flow) ทำข้อมูลให้พร้อมใช้ในรูปแบบ open API และ machine readable เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์หรือเปรียบเทียบข้อมูล รวมถึงการใช้ประโยชน์จากกระบวนการระดมความคิดจากคนหมู่มากผ่านช่องทางเว็บไซต์ (crowdsourcing) ในการให้ความรู้ผู้ลงทุนในวงกว้าง ทำให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน
  3. เอื้อให้การเปิดบัญชี ปรับเปลี่ยน และโอนย้ายการลงทุนได้โดยสะดวก (ease of switching) โดยขจัดอุปสรรคทางกฎหมายให้เอื้อต่อการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ e-KYC
  4. สนับสนุนให้เกิด landscape ด้านการให้คำแนะนำที่มีคุณภาพสำนักงานได้ริเริ่มโครงการ “5 ขั้น มั่นใจลงทุน” ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจให้บริการให้คำแนะนำแบบองค์รวม
“เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ทำให้เกิดโอกาสและการแข่งขันในการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ลงทุน เช่น การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล การให้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (robo advisor) การให้บริการผ่านมือถือ เป็นต้น ส่งผลให้ทุกคนต้องปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง โดยสำนักงานเห็นว่าการให้บริการให้คำแนะนำที่มีคุณภาพจะเป็นกุญแจที่ทำให้ธุรกิจหลักทรัพย์สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้”
( ณัฐญา นิยมานุสร )

ในมุมมองของธุรกิจหลักทรัพย์ นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) เห็นว่า ในอดีตธุรกิจเน้นการสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ลงทุน ทำให้ผู้ลงทุนลงทุนแบบรายหุ้นและรับความเสี่ยงด้วย แต่ปัจจุบันทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับผู้ลงทุนอย่างยั่งยืน ดังนั้น ภาคธุรกิจก็ต้องปรับรูปแบบการให้บริการตามความต้องการของลูกค้า และ  ต้องขยายรูปแบบในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น คำนึงถึงการกระจายความเสี่ยงให้กับลูกค้า โดยเฉพาะการบริการให้คำแนะนำการลงทุน ถือเป็นปัจจัยความสำเร็จ เพราะว่าถ้าลูกค้าอยู่ได้ ธุรกิจก็อยู่ได้

“สำหรับการแนะนำที่มีคุณภาพ สิ่งสำคัญต้องเริ่มจากการทำความรู้จักลูกค้า ซึ่งไม่ใช่แค่การพิสูจน์ตัวตน แต่ต้องเข้าใจถึงความคาดหวังและดีกรีในการรับความเสี่ยงของลูกค้า เพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับลูกค้า โดยคำแนะนำดังกล่าวต้องผ่านกระบวนการคิดอย่างรอบคอบถี่ถ้วนที่มาจากมุมมองของ บล. เอง เพื่อให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่าเป็นคำแนะนำที่มีคุณภาพ”

( ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ )

ส่วนมุมมองของธุรกิจจัดการลงทุน นายวศิน วณิชย์ธนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) มองว่า นักลงทุนไม่ได้อยากได้กองทุน แต่อยากได้ผลลัทธ์ของการลงทุน โดยปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจเริ่มขายกองทุนแบบ open architecture (ไม่จำกัดเฉพาะผลิตภัณฑ์ของบริษัทในเครือ) เพราะได้ FundConnext (ระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อความสะดวกในการจองซื้อและขายหน่วยลงทุนต่าง บลจ.) มาช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสำหรับผู้เล่นรายเล็ก อีกทั้ง บล. ก็เริ่มหันมาขายกองทุนรวมมากขึ้น

ดังนั้น บลจ. ควรพิจารณาว่าจะเป็นแค่ผู้ผลิตหรือจะเพิ่มมูลค่าการให้บริการ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการส่งมอบคำแนะนำที่ดีให้แก่ลูกค้า เนื่องจากข้อมูลกองทุนรวมแบบย่อ (fund factsheet) ในรูปของ machine readable  ทำให้เกิดข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่าย และสามารถนำไปใช้วิเคราะห์ต่อได้  นำข้อมูลไปใช้เปรียบเทียบได้ ทำให้เกิดการตรวจสอบจากมวลชน

“โดยสรุป บลจ. ต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจและยอมรับ digital disruption โดยมองว่าดาต้าและเทคโนดลยีเป็นตัวที่ช่วยให้เข้าใจและเข้าถึงผู้ลงทุนได้ดียิ่งขึ้น”
( วศิน วณิชย์ธนันต์ )