“เก็บเงินผิดที่”...คิดจนตัวตาย

>> จะทำให้เงินงอกเงย ผู้ลงทุนก็ต้องรู้จักเลือกแหล่งที่จะนำเงินไปเก็บออมด้วยเช่นกัน เสมือนกับเลือกปลูกต้นไม้ก็ต้องเลือกผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ฉันนั้น ต้นไม้ประเภทเดียวกัน ไปปลูกในพื้นดินและสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ย่อมเติบโตได้แตกต่างกันฉันใด เงินออมของคุณก็เช่นเดียวกัน

จะทำให้เงินงอกเงย ผู้ลงทุนก็ต้องรู้จักเลือกแหล่งที่จะนำเงินไปเก็บออมด้วยเช่นกัน เสมือนกับเลือกปลูกต้นไม้ก็ต้องเลือกผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ฉันนั้น ต้นไม้ประเภทเดียวกัน ไปปลูกในพื้นดินและสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ย่อมเติบโตได้แตกต่างกันฉันใด เงินออมของคุณก็เช่นเดียวกัน

ทาง ‘สํานักงานสถิติแห่งชาติ’ ได้จัดทําโครงการ “สํารวจพฤติกรรมการออม และการเข้าถึงบริการทาง การเงินภาคครัวเรือน” ไตรมาส3/18 นั้น พบว่าครัวเรือนของไทยเลือกเก็บเงินออมโดยเก็บเป็น ‘เงินสด’ สูงสุดถึง 75.5% รองลงมาคือ เก็บเงินใน ‘บัญชีเงินฝาก’ 53.9% มีการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เพียง 3.2% เท่านั้น และเป็นที่น่าสังเกตว่ายังมีครัวเรือนที่ไม่ได้มีการออมอย่างจริงจังอีก 18.0% ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่มากพอสมควร

“เห็นทางเลือกในการเก็บออมเงินของครัวเรือนไทยแล้ว ‘น่าเป็นห่วง’ เป็นห่วงว่าเงินจะโตไม่ทันสำหรับเก็บเอาไว้ใช้ในยามเกษียณ ยิ่งปัจจุบันไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้วด้วย ความเคยชิน ความคุ้นชินกับการเก็บออมแบบ ‘ไม่เสี่ยง’ ของครัวเรือนไทยเอง จะกลายเป็น ‘ความเสี่ยง’ ในอนาคตจากการที่เงินโตไม่ทันกับเงินเฟ้อ บั่นทอนอำนาจซื้อของเงินในกระเป๋าไป รวมทั้งยังเสี่ยงกับการที่จะมีเงินไม่พอใช้ในตอนเกษียณอีกด้วย”

อาศัย “กฎของเลข 72” หากเราต้องการทราบว่าเงินของเราจะกลายเป็น 2 เท่า ในระยะเวลากี่ปี ด้วยอัตราผลตอบแทนที่กำหนด หรือเงินเราจะกลายเป็น 2 เท่า ด้วยอัตราผลตอบแทนต่อปีเท่าไร หากลงทุนในระยะเวลาตามที่กำหนดนั่นเอง

จากข้อมูลการเก็บออมของครัวเรือนไทยนี้ เงินในบัญชีเงินฝากจะโตเป็น 2 เท่า ด้วยดอกเบี้ย 1% ต่อปี จะต้องใช้เวลา 72 ปี นั่นหมายความว่าเงิน 10,000 บาท จะเพิ่มเป็น 20,000 บาท ด้วยดอกเบี้ย 1% จะต้องใช้เวลา 72 ปี เรียกว่าเก็บตั้งแต่เกิด...เกษียณอายุ 60 ปี เงินยังโตไม่ถึง 2 เท่าเลย

แต่ถ้าเปลี่ยนมาเก็บออมผ่าน ‘กองทุนหุ้น’ อ้างอิงข้อมูลผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี (ณ 31 ธ.ค.18) ที่ 12% ต่อปี เงิน 10,000 บาท จะโตเป็น 2 เท่า ในเวลา 6 ปี เท่านั้น

“หรือไม่ชอบความเสี่ยงมากนัก ลงทุนผ่าน ‘กองตราสารหนี้’ ที่ผลตอบแทนเฉลี่ย 2% ต่อปี เงินคุณจะโตเป็น 2 เท่า ในระยะเวลา 36 ปี เร็วขึ้นกว่าฝากแบงก์ผลตอบแทน 1% ขึ้นมาอีกเท่าตัวเลยทีเดียว หรือหากคุณต้องการให้เงินโตเป็น 2 เท่า ในเวลา 10 ปี ก็ต้องเอาเงินไปเก็บในแหล่งที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยได้ 7.2% ต่อปี เป็นต้น นี่เรามองในแง่ของการเติบโตของเงินออมเท่านั้น”

ถ้าเก็บเป็น ‘เงินสด’ ไม่มีผลตอบแทนด้วยแล้ว ตัวเลขเงินเท่าเดิมก็จริง แต่ “อำนาจซื้อ” ของเงินจะหดหายไปตามการกัดกร่อนของ “เงินเฟ้อ” นั่นเอง เงิน 100 บาท ในวันนี้ ย้อนหลังไปในอดีตช่วงน้ำมันลิตรละ 10 บาท คุณอาจจะเติมได้ 10 ลิตร แต่วันนี้น้ำมันลิตละ 30 บาท เงิน 100 บาท เท่าเดิม จะเติมน้ำมันได้น้อยลงเหลือ 3.33 ลิตรเท่านั้น ในอนาคตเงิน 100 บาท (ตัวเลขเท่าเดิม) ค่าจะยิ่งลดลง หากคุณไม่นำไปเก็บออมไว้ให้ถูกที่ถูกทางเพื่อให้เกิดดอกออกผล อย่างน้อยที่สุดควรจะ ‘ชนะเงินเฟ้อ’ เพื่อรักษาอำนาจซื้อของเงินคุณเอาไว้นั่นเองงานสำรวจในหัวข้อ...หากครัวเรือนต้องหยุดทํางานกะทันหันโดยไม่มีกําหนด ระยะเวลาส่วนมากที่หัวหน้าครัวเรือนคิดว่า สามารถนําเงินออมมาใช้ดํารงชีพได้นั้นเป็นระยะเวลานานเท่าไร พบว่า น้อยกว่า 1 ปี คิดเป็นร้อยละสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงปีอื่นคือ 87.2% รองลงมาตั้งแต่ 1 - 5 ปี 9.2% ตั้งแต่ 6 – 10 ปี 2.5% ตั้งแต่ 11 – 20 ปี 0.6% ตั้งแต่ 21 – 50 ปี 0.3% และต่ำสุดคือใช้ได้ตลอดชีวิต 0.2%

“การเก็บเงินให้เพียงพอจึงมีความสำคัญไม่แพ้กัน ไม่มีสูตรตายตัวสำหรับขนาดของเงินเก็บออมไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ขึ้นกับรูปแบบและเงื่อนไขการใช้ชีวิตของแต่ละคน แต่โดยทั่วไปแนะนำให้มีเงินเก็บออมไว้ประมาณ 6 เท่า ของค่าใช้จ่ายรายเดือนของคุณ ถ้าคุณมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท ก็ควรเก็บเงินเพื่อฉุกเฉินเอาไว้ก่อนประมาณ 60,000 บาท หากคุณต้องหยุดงานกะทันหัน ค่าใช้จ่ายเพียงพอสำหรับ 6 เดือนนี้ ก็หวังว่าจะเพียงพอให้คุณสามารถใช้ได้ในช่วงที่มองหางานใหม่ได้ เป็นต้น แต่เก็บไว้มีแต่ได้ ไม่มีเสียแน่นอน”

สำคัญคือต้องมี “เงินเหลือ” จึงจะ “เก็บออม” ได้ พื้นฐานเลย คือ จ่ายให้น้อยกว่าที่หามาได้ แล้วจะมีเหลือเก็บ ส่วนจะเก็บเงินไว้ตรงไหนให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเงินคุณก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ควรพิจารณาทางเลือกที่ตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินของคุณด้วยเช่นเดียวกัน เพราะหาก “เก็บเงินผิดที่”...อาจต้องคิดจนตัวตายเลยทีเดียว