ฤดูร้อนปีที่ 128 ของ “โอสถสภา” ร้านขายยาในตำนาน ย่านสำเพ็ง

>> ใครจะคิดว่าบริษัทที่มีมูลค่าหรือที่ในวงการหุ้นเรียกๆ กันว่า “มาร์เก็ตแค็ป” ของ OSP ในวันนี้จะสูงถึง 81,852.19 ล้านบาท หรือถ้าให้เข้าใจง่ายลงไปอีกคือ ถ้าใครอยากซื้อโอสถสภาวันนี้เลย จะต้องใช้เงินตามตัวเลขที่บอกไป ซึ่งอย่าลืมว่าตัวเลขนี้ไม่ได้เป็นตัวเลขนิ่ง จบวันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีจุดเริ่มต้นจากร้านขายในย่านสำเพ็ง กรุงเทพฯ

ทุกวันนี้ถามว่ามีบริษัทสัญชาติไทยกี่บริษัท ที่พาธุรกิจเดินทางมาเกิน 100 ปี ? ถ้าในวงการแบงก์ก็ต้องให้กับธนาคารสีม่วง อย่าง ’ธนาคารไทยพาณิชย์’ แต่มีใครนึกออกอีกบ้าง? ว่ามีอีกหนึ่งบริษัทที่ผลิตสินค้าที่ทุกบ้านต้องมีของอย่างน้อย 1 ชิ้น ที่เป็นสินค้าของบริษัทนี้ ทาง Wealthy Thai จึงอยากชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ “โอสถสภา” ที่เดินทางมาคู่คนไทย 128 ปีแล้ว และเพิ่งเป็นน้องใหม่ที่เข้าเป็นสมาชิกในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง

โอสถสภา’ ชื่อนี้มีที่มา

ใครจะคิดว่าบริษัทที่มีมูลค่าหรือที่ในวงการหุ้นเรียกๆ กันว่า “มาร์เก็ตแค็ป” ของ OSP ในวันนี้จะสูงถึง 81,852.19 ล้านบาท หรือถ้าให้เข้าใจง่ายลงไปอีกคือ ถ้าใครอยากซื้อโอสถสภาวันนี้เลย จะต้องใช้เงินตามตัวเลขที่บอกไป ซึ่งอย่าลืมว่าตัวเลขนี้ไม่ได้เป็นตัวเลขนิ่ง จบวันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีจุดเริ่มต้นจากร้านขายในย่านสำเพ็ง กรุงเทพฯ

“ย่านสำเพ็ง” ก็เป็นที่รู้กันว่าคนจีนเยอะ โดยหนึ่งในสินค้าที่ร้าน “เต็กเฮงหยู” ซึ่งเป็นชื่อร้านของโอสถสภาในสมัยโน้น นำมาขายคือยากฤษณากลั่นตรากิเลน ตำรับโบราณของแท้ ถ้าเป็นสมัยนี้คือ ‘ลิขสิทธิ์แท้แต่เพียงผู้เดียว’ อะไรทำนองนั้น

วันเวลาผ่านไป กิจการก็โตขึ้นเรื่อยๆ จากร้านขายของย่านสำเพ็ง ก็ย้ายไปเปิดเป็น “โอสถสถานเต๊กเฮงหยู” ถนนเจริญกรุง และผุดโรงงานขึ้นมาที่ซอยหลังสวน ใจกลางกรุงเทพ และเปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘บริษัท โอสถสภา จำกัด’ ในปี 2538 จนกระทั่งขับเคลื่อนองคาพยพมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปีที่แล้วนี่เอง

สมรภูมิสินค้า Family use

สิ่งที่ทำให้โอสถสภาอยู่มาถึงทุกวันนี้ และน่าจะเติบโตต่อไปในอนาคตคือ “สินค้า” ที่โดดเด่น แม้ว่าในสมรภูมิสินค้าอุปโภคบริโภค หรือสินค้า Fast Moving Consumer Goods (FMCG) ซึ่งถือเป็นสินค้า ‘Family Use’ จะแข่งขันกันรุนแรงในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นค่าย “ยูนิลีเวอร์” ที่มีสินค้ากว่า 400 แบรนด์ ครอบคลุมผู้ใช้งาน 2,000 ล้านคนทั่วโลก ยอดขายเป็นรองแค่ P&G  

ฝั่งของไทยก็มี “สหพัฒนพิบูล” ที่อายุอานามของบริษัท 77 ปีแล้ว หรือถ้าเป็นคนก็เป็นรุ่นคุณปู่คุณตาเราแล้ว กับตำนาน “ผงซักฟอกเปาปุ้นจิ้น” ที่มีจุดเริ่มต้นที่ถนนทรงวาด ย่านสำเพ็งเช่นกัน เพราะฉะนั้นสมรภูมินี้ถ้าไม่เซียนจริงอยู่ (นาน) ไม่ได้แน่ๆ

พอร์ตสินค้ามีอะไรบ้าง

วันนี้จึงอยากพาไปเจาะ “พอร์ตฟอลิโอ” ว่าขายสินค้าอะไรบ้าง โดย “โอสถสภา” ภายใต้การบริหารงานของเจเนอเรชั่นปัจจุบัน มีสินค้า 4 กลุ่ม ดังนี้

1.ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม

  • เครื่องดื่มบำรุงกำลัง – เอ็ม-150, โสมอินซัม, ลิโพวิตัน-ดี, ลิโพ-พลัส, ฉลามขาว, ชาร์ค เอนเนอจี้ดริ้งค์, เอ็ม-สตอร์ม
  • กาแฟพร้อมดื่ม – กาแฟ เอ็มเพรสโซ ดับเบิล ช็อต
  • เครื่องดื่มเกลือแร่ – เกลือแร่เอ็ม
  • เครื่องดื่มที่เติมส่วนผสมเพื่อให้ได้คุณสมบัติเฉพาะ – เปปทีน, ซี-วิต, คาลพิส แลคโตะ

 

 

2.ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล

  • ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก – เบบี้มายด์
  • ผลิตภัณฑ์ความงามสำหรับผู้หญิง – ทเวลฟ์ พลัส

 

 

3.ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและลูกอม

  • ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ – ยากฤษณากลั่น ตรากิเลน, อุทัยทิพย์, ทัมใจ, ยาธาตุน้ำแดง, ยาธาตุ 4, ยี่ซิน และแบนเนอร์
  • ลูกอม – โบตัน โอเล่



4.บริการบริหารจัดการด้านซัพพลายเชน – ธุรกิจบริการผลิต/บรรจุหีบห่อ

  • สินค้าของโอสถสภาจะเห็นว่ามีหลายตัวที่เป็นผู้นำตลาด มีมาร์เก็ตแชร์สูงสุด นำโด่งมาด้วยยเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ‘เอ็ม-150’ ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มคนขับรถสิบล้อ คนใช้แรงงานแล้ว ตัวผู้เขียนเองเคยมีประสบการณ์โดยตรงคือ ดื่มแทนกาแฟช่วงกลางคืน! สมัยเรียนมหา’ลัย พูดได้เลยว่า “สิบบาทก็รู้เรื่อง” 
  • นอกจากนี้ยังมี “เบบี้มายด์” แบรนด์สินค้าสำหรับเด็กอันดับ 1 ของเมืองไทย ทั้งสบู่ ยาสระผม แป้ง ตลอดจนผลิตภัณฑ์ล้างขวดนม น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ซึ่งในช่วงหลังโอสถสภาก็ทำมาร์เก็ตติ้งกับสินค้ามากขึ้น โดยออกคลิป เขาว่าลูกเราเป็นเด็ก…”เมื่อวันแม่ปีที่แล้ว ซึ่งก็ประสบความสำเร็จถล่มทลาย เพราะออกมาเป็นไวรัลหน้าเฟซบุ๊ค
  • แบรนด์ ‘ทเวลฟ์ พลัส’ กับสินค้าขายดีอย่างแป้งหรือโคโลญจ์ ซึ่งในช่วงชีวิตวัยรุ่น (ผู้หญิง) อย่างน้อยก็ต้องมีไว้ครอบครอง สำหรับตัวสินค้ากลุ่มนี้ โอสถสภาก็ทำมาร์เก็ตติ้งน่าสนใจคือ ดึง “BNK48” มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ตามกลยุทธ์ ‘ไอดอล มาร์เก็ตติ้ง’


ปัจจัยเสี่ยงของสินค้า FMCG

ปัจจัยลบหรือ “ปัจจัยเสี่ยง” ก็มีอยู่เหมือนกัน เนื่องจากสินค้า FMCG เป็นสินค้าที่เกี่ยวกับเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคโดยตรง ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ยอดขายสินค้ากลุ่มนี้ก็จะลดลงตามไปด้วย เพราะฉะนั้นด้วยข้อจำกัดเรื่อง “กำลังซื้อ” จึงมีผลกระทบกับ “ราคาสินค้า” โดยตรง แม้ว่าจะไม่ถึงกับเป็น “สินค้าควบคุม” อย่างไข่ไก่ มาม่า นมเปรี้ยว ผงซักฟอก หรือทิชชู่ ฯลฯ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ลิสต์ให้เป็นรายการสำคัญ แต่ถ้าขึ้นราคาก็มีฟีดแบ็คจากผู้บริโภคแน่นอน

จับชีพจรหุ้นโอสถสภา เป็นไงบ้าง

ในแง่การลงทุน “หุ้น” ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง ซึ่งหุ้นโอสถสภา หรือ “OSP” มีอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้นหรือพี/อี ที่ราคาปิดเมื่อวาน (27 ก.พ.) ที่ 31.3 เท่า เทียบกับกลุ่ม Food ตามการจัดแบ่งกลุ่มของตลาดหลักทรัพย์ ที่มีค่าเฉลี่ยพี/อีกลุ่มนี้ที่ราว 22 เท่า เพราะฉะนั้นแม้มูลค่าหุ้นจะน่าสนใจกว่าธุรกิจใกล้เคียงกันอย่าง “คาราบาว” ที่มีพี/อีสูงเว่อร์ หรืออยู่ที่ 45 เท่า แต่จากความน่าสนใจที่พี/อียิ่งต่ำยิ่งดี เพราะแสดงถึงราคาถูกและยัง Gap ให้ราคาวิ่งขึ้นไปได้อีกมาก

อัพเดตผลประกอบการล่าสุด!

ล่าสุด OSP รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 4/2561 อยู่ที่ 789 ล้านบาท เติบโต 269% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลทั้งปีมีกำไรรวม 3,005 ล้านบาท โดย “เอ็ม-150” มีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นเป็น 37.9% จากเดิม 37% และ“ซี-วิต” ยังครองตำแหน่งอันดับ 1 ในตลาดเครื่องดื่มที่มีการเติมส่วนผสม (ฟังก์ชั่นนอลดริ้งค์) ด้วยส่วนแบ่งตลาด 25% ขณะที่ “เบบี้มายด์” และ “ทเวลฟ์ พลัส” ก็ประสบความสำเร็จจากการทำมาร์เก็ตติ้ง ทั้งในไทย กัมพูชา ลาวและเมียนมาร์ แม้ว่าในกลุ่มส่งออก จะได้รับเอฟเฟคจากภาวะเงินบาทแข็งค่าอยู่ในตอนนี้   

ในปี 2561 ที่ผ่านมา รายได้รวมจากการขายอยู่ที่ 24,297 ล้านบาท ลดลง 2.9% YoY ซึ่งเป็นผลมาจากการสิ้นสุดสัญญาการจัดจำหน่ายสินค้าของยูนิชาร์ม และรายได้จากการรับจ้างผลิต (OEM) ที่ลดลง โดยเฉพาะการขายขวดแก้วที่ลดลง 33.7% จากการปิดปรับปรุงเตาหลอมแก้ว

ความเห็นนักวิเคราะห์ต่อหุ้น OSP  

นักวิเคราะห์ บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) ประมาณการกำไรปีนี้ที่ 2,616 ล้านบาท และมีโอกาสปรับประมาณการขึ้น เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นมีแนวโน้มสูงกว่าที่ประเมินไว้ที่ 32.7% ทั้งนี้ประเมินว่าอาจมีแรงเทขายทำกำไร หรือ ‘Sell on fact’ เพราะมีการเก็งกำไรผลประกอบการในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังเป็นโอกาสเข้าซื้อสะสม เพราะยังถูกกว่าราคาหุ้นคาราบาว

เพราะฉะนั้นแม้ว่า จะมีเรื่องให้คิดทั้งกำลังซื้อ ค่าเงินบาทแข็งค่า บวกกับการปิดโรงงานหลอมเศษแก้ว ราคาเศษแก้วที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนมูลค่าหุ้น แต่ด้วยการดำเนินงานที่มีสตอรี่มายาวนานเกินศตวรรษ ก็ต้องรอดู Performance กันอีกยาวๆ เพราะแม้จะเป็นยักษ์ใหญ่ แต่ในด้านการลงทุน เพิ่งจะยืนอยู่บนเวที “SET” แค่ 4 เดือนกว่าๆ 

ที่มา https://www.osotspa.com/new/th/home/ และบทวิเคราะห์ OSP ของเมย์แบงก์