เจาะหัวใจหุ้น GULF ภารกิจแสนล้าน กับความคาดหวังผู้ถือหุ้นที่ PE 71 เท่า

>>

กระฉ่อนทั้งเมืองเมื่อ GULF หรือบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจด้านการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าไอน้ำและน้ำเย็น เข้าประมูลท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่ 3 ที่มีงบลงทุนกว่า 8.4 หมื่นล้านบาท ร่วมกับกลุ่มปตท. 


ในสังคมหุ้น GULF คือ หุ้นที่ HOT ที่สุดในรอบ 2 ปีนี้เลยก็ว่าได้ จากความเคลื่อนไหวสุดร้อนแรง จากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนธันวาคม 2560 ด้วยราคาไอพีโอที่ 45 บาทต่อหุ้น แต่ปัจจุบัน GULF มีราคาหุ้นทะลุ 100 บาทไปแล้ว และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดมากกว่า 2.16 แสนล้านบาท


ราคาหุ้นที่พุ่งทะลุเพดานมาด้วยความคาดหวังที่สูง ดันให้ PE ของหุ้น GULF แตะ 71 เท่า จนหลายคนขนานนามว่า หุ้น GULF อาจจะเป็นหุ้นโรงไฟฟ้าที่แพงที่สุดในโลก อนาคตหุ้น GULF จะเป็นอย่างไร ไปถึงฝั่งฝันได้หรือไม่ วันนี้เราจะมาหาคำตอบ


GULF กับการลงทุนมหาศาล


นาทีนี้ในแวดวงตลาดหุ้น ใครๆ ก็พูดถึง GULF หลังจากราคาหุ้นที่พุ่งทยอยทำสถิติใหม่อย่างต่อเนื่อง ไม่นับกับการมีข่าวเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งในและต่างประเทศตลอดเวลา เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า

 

โดยสมมติฐานในปัจจุบันพบว่า ปัจจุบัน GULF มีกำลังการผลิตนับจากการถือหุ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ 2,320 MW โดยในสิ้นปีนี้ จะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2,673 MW ซึ่งตามแผนภายในปี 2567 GULF จะมีทั้งสิ้น 33 โครงการ รวมกำลังการผลิต 6,721 MW 

  


 

โดยมีโครงการอย่างการเข้าลงทุนใน SPPs กำลังการผลิต 1,563  MW ใน 12 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 6,000 ล้านบาท สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตามแผนแล้ว 9 โครงการ เหลือรอการเดินเครื่องอีก 3 โครงการ

 

ความคืบหน้าของโครงการในปัจจุบันมีจำนวนมาก อย่างในโรงไฟฟ้า IPPs อีก 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 5,300 MW

  1. โรงไฟฟ้าแห่งแรก GULF SRC ภายในนิคม WHA Eastern Seaboard Industrial Estate1 ชลบุรี กำลังการผลิตติดตั้ง 2,650 MW มูลค่าโครงการ 5 – 5.1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างและเริ่มดำเนินการได้ในปี 2564 
  2. โรงไฟฟ้า GULF PD ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ 2 จังหวัดระยอง กำลังการผลิตติดตั้ง 2,650 MW มูลค่าโครงการ 5.1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่อง ปี 2566

 


การลงทุนไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ GULF มีโครงการขนาดใหญในต่างประเทศ อย่างการเข้าร่วมทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรรมชาติกำลังการผลิตติดตั้ง 326  MW และกำลังการผลิตน้ำจืดติดตั้ง 1,667 ลูกบาศก์เมตร โดยเข้าไปซื้อหุ้นในสัดส่วน 45% และชำระเงินค่าหุ้น 8.75 ล้านดอลลาร์ฯ โดยโครงการดังกล่าว คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงปี 2563 – 2565 

 

และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ในประเทศเวียดนาม ในสัดส่วนการถือหุ้น 49% กำลังการผลิตรวม 340 MW แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานโซลาร์ฟาร์ม กำลังการผลิตติดตั้ง 30 MW มูลค่าโครงการ 33 ล้านดอลลาร์ฯ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2562 – 2563 และโรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังการผลิต 310 MW มูลค่าโครงการ 618 ล้านดอลลาร์ฯ  โดยจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าได้ในปี 2564 – 2566  และกระแสข่าวล่าสุดที่ GULF เข้าประมูลท่าเรือแหลมฉบัง เป็นสัญญาณว่า GULF จะไม่หยุดเพียงแค่ธุรกิจไฟฟ้า แต่ GULF พร้อมจะเข้าลงทุนทุกที่ที่มีโอกาส !!!


การลงทุนสูง กับความคาดหวังมหาศาล

 

เมื่อการลงทุนโปรเจคต่างๆ มีจำนวนมากขนาดนี้ ย่อมทำให้นักลงทุนคาดหวังการเติบโตที่มากขึ้นตามไปด้วย สิ่งนี้สะท้อนจากข้อมูลปัจจัยพื้นฐานของหุ้น GULF ที่เรียกได้ว่าทุกสัญญาณอยู่เกณฑ์โอเวอร์ฮีทเต็มสูบ ความคาดหวังที่ถาโถมใส่หุ้น GULF สะท้อนในตัวเลข

 

  • P/ E                71 เท่า

  • P/BV              5.90 เท่า

  • อัตราเงินปันผล     1.19%     

 

แน่นอน GULF เป็นหุ้นที่มีอนาคตดีและอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ด้วยความคาดหวังพี/อีที่สูงถึง 71 เท่า ทำให้ผู้ที่ซื้อหุ้นต้องคาดหวังกำไรจะเติบโตตามด้วย ซึ่งในการลงทุนตามภาวะปกติ หุ้นที่พี/อีสูง 71 เท่านั้น สิ่งที่นักลงทุนควรคาดหวังคือ การเติบโตของกำไรต้องเติบโตมากกว่า 71 % หรือในอีกนัยหนึ่งสิ่งที่นักลงทุนต้องยอมรับความเสี่ยงคือ หากบริษัทสามารถทำกำไรได้เท่ากับปี 2561 ที่ 3,028.13 บาท เท่ากับว่าผู้ลงทุนจะต้องถือหุ้น GULF มากกว่า 71 ปี ถึงจะได้รับเงินลงทุนคืน



ความในใจผู้กุมชะตากรรม GULF
กับภารกิจรายได้แสนล้าน

 
การเติบโตของ GULF  จะยังมีอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้กุมบังเหียนอย่าง "สารัชถ์ รัตนาวะดี" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งใน CEO ที่ถูกจับตามองมากที่สุดในไทย ด้วยบุคลิกที่เงียบครึมและน้อยครั้งจะให้สัมภาษณ์ต่อสาธารณะ

 

(รูปจากรายงานประจำปีของบริษัท)

 

โดยล่าสุดในช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา CEO ผู้นี้ ได้ให้ความเห็นกับสำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทยว่า อนาคต GULF ยังสดใส โดยเขาวางเป้าหมายรายได้ 30,000 ล้านบาท เนื่องจากในปีนี้จะมีบันทึกรายได้จากโรงไฟฟ้าประเภท SPP ขนาดกำลังการผลิตประมาณ 500 เมกะวัตต์ ที่จ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (COD) เมื่อปี 2560 เข้ามาเต็มปี และท้ายที่สุดบริษัทจะต้องผลักดันให้รายได้ปี 2568 พุ่งแตะ 1 แสนล้านบาท !!!!

 
หนทางการเติบโตของ
GULF ยังสดใส ท่ามกลางแผนการเติบโตที่ถูกวางไว้อย่างรัดกุม สิ่งที่ GULF จะทำได้คือการเดินหน้าทำการลงทุนทุกอย่าง ที่อยู่ในแผนให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ พร้อมหาโอกาสการเติบโตในธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับผู้ถือหุ้นที่คาดหวังสุดกำลัง ถ้าในทางกลับกัน หาก GULF เกิดปัญหาสะดุดล่าช้ากว่าแผน หรือไม่สามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้ ความคาดหวังของผู้ถือหุ้น ด้วย PE 71 เท่า ก็พร้อมที่จะถล่มใส่ GULF ได้ทุกเมื่อ

 

ความเห็นนักวิเคราะห์

 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส  แนะนำเก็งกำไร ราคาเป้าหมาย 95-98 บาท แม้หุ้นจะเต็มมูลค่า แต่การเมืองที่ไม่ชัดเจนหนุนหุ้น defensive อย่าง GULF ที่มีโครงการจำนวนมาก มีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มเฉลี่ย 20% ในปี 2019-2024 ข่าวบวกที่หนุนคือโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ที่ GULF จับมือกับ PTT เข้าประมูล และมีโอกาสในต่างประเทศอีกมาซึ่งไม่รวมในประมาณการกำไรของ GULF อยู่ในทิศทางขาขึ้น คาดโตเฉลี่ยกว่า 30% ในระยะ 2 ปีข้างหน้า


บล.โนมูระ พัฒนสิน แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 86.3 บาท 
 มีมุมมองเป็นกลาง โดยที่ประชุมนักวิเคราะห์มีข้อมูลแผนธุรกิจของบริษัทไม่ได้ผิดไปจากคาด ทั้งส่วนของแผนการลงทุนขยายโรงไฟฟ้า ผู้มีหุ้นสามารถ let profit run เพื่อรอ upside จากโครงการที่บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาหรือประมูล รวมถึงโครงการ IPP ภายในประเทศที่มีโอกาสเปิดประมูลในช่วง 2H19F เป็นต้นไปได้ จากมีปัจจัยบวกจากการเปิดโรงไฟฟ้าในมืต่อเนื่องในช่วง 5-7 ปีข้างหน้ารองรับ ซึ่ง equity MW สามารถเติบโตได้กว่า 2 เท่าตัว

 

บล.บัวหลวง แนะนำซื้อเพิ่ม โดยปรับราคาที่เหมาะสมจาก 87 บาท มาอยู่ที่ 108 บาท เพราะผลงานที่ผ่านมาของผู้บริหารเป็นเครื่องยืนยันว่า GULF จะสามารถชนะการประมูลโรงไฟฟ้า และการพัฒนาโครงการอื่นๆได้ตามเป้าหมาย ดังนั้นเราจึงเชื่อมั่นอย่างมากว่าโครงการที่กล่าวมาข้างต้นหลายโครงการ จะกลายเป็นสินทรัพย์ในการดำเนินงานในอนาคต (ซึ่งอาจได้เห็นความชัดเจนของบางโครงการในเร็วๆ นี้) ดังนั้นเราจึงได้ปรับใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักความน่าจะเป็น และรวมมูลค่าบางส่วนของโครงการดังกล่าวเข้ามาอยู่ในราคาเป้าหมายของ

 

ทั้งนี้ระดับราคาในปัจจุบันของ GULF ยังอยู่ในระดับที่ไม่แพง หากประเมินจากมูลค่าตลาด (Market value) ต่อ MWe (เฉพาะโครงการที่ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว) ซึ่งอยู่ที่ 28 ล้านบาทต่อ MWe ต่ากว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เราให้คำแนะนำที่ 29 ล้านบาทต่อ MWe

 
--


ที่มา


สำนักงานข่าว อีไฟแนนซ์

www.bangkokbiznews.com