ภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2019 เริ่มต้นปีมาก็อยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ชะลอการขึ้นดอกเบี้ย การเจรจาการค้าระหว่าง 2 มหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐกับจีนในระยะสั้นก็ดูจะออกมาดี ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม ก็ยังมี “ปัจจัยเสี่ยง” ที่แฝงเร้นอยู่ ทั้งที่มองเห็นกันและที่ยังไม่ได้มีการพูดถึง เรามีมุมมองที่น่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญเก็บตกจากงาน“SCBAM Investment Forum 2019” ที่จัดโดย ‘บลจ.ไทยพาณิชย์’ มาฝากกัน
“3 ปัจจัยเสี่ยง”...ที่ยังต้องจับตาใกล้ชิด
“ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มองว่า ภาพเศรษฐกิจการลงทุนในปี19 นี้ยังคงต้องจับตาดู 3 ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่
1) ‘เงินเฟ้อสหรัฐ’ อย่าให้เงินเฟ้อสหรัฐปรับตัวขึ้นมาจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เพราะจะตามมาด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ FED นั่นเอง ตอนนี้แค่บอกว่าจะชะลอการขึ้นเพื่อรอดู แต่ไม่ได้บอกว่าจะไม่ขึ้น ปกติดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐจะสูงกว่าเงินเฟ้อประมาณ 1% ปัจจุบันเงินเฟ้อสหรัฐอยู่ประมาณ 2% ตลาดก็มองว่าดอกเบี้ยไปได้ถึง 3% เพียงแต่ตอนนี้ชะลอการขึ้นเท่านั้น
2) ‘หนี้สหรัฐ’ ปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐมีหนี้ 22 ล้านล้านดอลลาร์ มากกว่าขนาดเศรษฐกิจ (GDP) ไปแล้ว และยังมีการขาดดุลงบประมาณที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปีนี้จะขาดดุลงบประมาณ 9 แสนล้านล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี2022 ซึ่งมีความเสี่ยงจะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นได้บ้าง
3) ‘บริษัทจีนมีหนี้มาก’ ในขณะที่บริษัทสหรัฐมีหนี้ประมาณ 9 ล้านล้านดอลลาร์ บริษัทจีนมีหนี้ 18 ล้านล้านดอลลาร์ หากรัฐตัดสภาพคล่อง อาจทำให้ธุรกิจปิดตัวลง มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ (Default) ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องชะลอตัวลงด้วย
“ในส่วนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนนั้นเกินกว่าเรื่องของการค้า แต่เป็นเรื่องของการชี้นำเศรษฐกิจโลกในอนาคตเลย มองมุม ‘จีน’เศรษฐกิจเขาก็ต้องถือว่ามาถูกทางแล้ว หลังจากเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี2000 ตอนนั้นจีนมีขนาดเศรษฐกิจ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่สหรัฐอยู่ที่ 10.3 ล้านล้านดอลลาร์ ใหญ่กว่าจีนเกือบ 10 เท่า สิ้นปี2017 เศรษฐกิจจีนใหญ่ขึ้นเป็น 12 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่สหรัฐอยู่ประมาณ 19 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ตามการคาดการณ์ของ Bloomberg ในปี2028 เศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศจะมีขนาด ‘เท่ากัน’ ที่ 24 ล้านล้านดอลลาร์ ในมุม ‘สหรัฐ’ จะปล่อยให้จีนโตขึ้นมาโดยไม่ทำอะไรเลยหรือไม่”
ประเด็นการเจรจาการค้าในระยะสั้นประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เพียงต้องการสงบศึกในระยะสั้นเท่านั้น ฝั่งของจีนเองก็จะมีทั้งเงื่อนไขที่ ‘รับได้’ และเงื่อนไขที่จีน ‘รับไม่ได้’ จับตาดูว่าใครที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี ‘5G’ ก็จะเป็นเจ้าเศรษฐกิจโลก สหรัฐก็พยายามขวางจีนอยู่ ในอนาคตอาจมีเทคโนโลยี 5G จาก 2 ขั้วอำนาจให้ต้องเลือกใช้ก็ได้ ดร.ศุภวุฒิ ทิ้งท้ายไว้ให้คิดกัน
‘ตลาดเกิดใหม่’… เศรษฐกิจโตดี-น่าสนใจลงทุน
“ดร.ยรรยง ไทยเจริญ” รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มงาน Economic Intelligence Center บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ ยอมรับว่า เศรษฐกิจโลกปี 2019 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับปีก่อน และเศรษฐกิจเริ่มโตไม่สอดคล้องกันระหว่างภูมิภาค แต่การเติบโตยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี19 และ 20 ลงเหลือ 3.5% (เดิม 3.7%) และ 3.6% (เดิม 3.7%) ตามลำดับ โดยฝั่ง ‘ตลาดพัฒนาแล้ว (Developed Market :DM)’ เศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงปลายวัฏจักร (Late Cycle) มีการเติบโตที่ชะลอลงเหลือ 2.0% (เดิม 2.1%) และ 1.7% (เท่าเดิม) ในปี19 และ20 ตามลำดับ
ต่างกับ ‘ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market : EM)’ ที่ยังคงเติบโตแม้จะชะลอตัวลงเล็กน้อยก็ตาม โดยคาดว่าเศรษฐกิจปี19 จะโตเหลือ 4.5% (เดิม 4.7%) และปี20 โต 4.9% (เท่าเดิม)
อย่างไรก็ตาม ในตลาดเกิดใหม่ด้วยกันเองก็มีเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมาก โดยปัจจัยสำคัญที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่มี 5 ปัจจัย ได้แก่
1) ‘การค้าโลก’ จากการค้าโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวซึ่งตลาดคาดว่าจะชะลอตัวมากกว่าในปีที่แล้วด้วย
2) ‘ภาวะการเงิน’ ตลาดมองว่า FED จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยเลย ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐลดลง หนุนเงินทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่มากขึ้น
3) ‘ทิศทางดอลลาร์’ ดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
4) ‘ราคาน้ำมัน’ ปี18 ราคาน้ำมัน (Brent) ปรับตัวขึ้นมา 31% กระทบตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะประเทศที่นำเข้าน้ำมัน แต่ในปีนี้เราประเมินว่าราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มต่ำกว่าปีที่แล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 65 ดอลลาร์ จากปีก่อนที่ 72 ดอลลาร์
5) ‘ความเสี่ยงทางการเมือง’ เช่น สงครามการค้า ผลของ Brexit การบอยคอตอิหร่าน รวมทั้งการเลือกตั้งในอินเดียและอินโดนีเซีย
“ภาวะการเงินของตลาดเกิดใหม่ผ่อนคลายลง หลังเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้าตลาดเกิดใหม่ ส่งผลให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และ sovereign spreads ก็ปรับแคบลง จากสถิติเมื่อค่าเงินดอลาร์ ‘แข็งค่า’ หุ้นตลาดพัฒนาแล้วจะดีกว่าตลาดเกิดใหม่ แต่ในช่วงที่ค่าเงินดอลลาร์ ‘อ่อนค่า’ หุ้นตลาดเกิดใหม่จะดีกว่าตลาดพัฒนาแล้ว ปัจจุบันสัดส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) ของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ปรับลดลงมากในปี 2018 และอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ถือว่าไม่แพงและน่าสนใจลงทุน เพียงแต่ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวอาจต้องเลือกบนปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและเน้นกระจายการลงทุนเป็นสำคัญ”
ทั้งนี้ จะเห็นว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ยังคงมี “ปัจจัยเสี่ยง” ที่เร้นกายแฝงอยู่จากปัจจัยเดิมๆ ที่ดูเหมือนจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ก็พร้อมจะกลับมาปะทุเป็น ‘ปัจจัยลบ’ กดดันตลาดการลงทุนของโลกได้เสมอเช่นกัน โดย ‘ตลาดเกิดใหม่’ จะดูน่าสนใจกว่า ‘ตลาดพัฒนาแล้ว’ ในปีนี้ในภาพรวม ดังนั้น ‘อย่าประมาท’ ในการลงทุนดีที่สุด