คาดดัชนีหุ้นหลังเลือกตั้งร้อนแรง

>>

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือน ข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.92% มาอยู่ที่ระดับ 130.68 อยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง นับเป็นการฟื้นตัวสูงสุดในรอบ 10 เดือน นับจากเดือน พ.ค. 2561 ด้านตลาดตราสารหนี้เงินไหลออกต่อเนื่อง


ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ประจำเดือน มี.ค. 2562 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนรวมทุกกลุ่มในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.92% เป็นเดือนที่สองติดต่อกัน มาอยู่ที่ 130.68 ในเกณฑ์ร้อนแรง จากระดับทรงตัว ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับจากเดือน พ.ค. 2561 โดยนักลงทุนเชื่อว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น

ทั้งนี้ นักลงทุนคาดหวังในเชิงบวกจากการเข้าสู่การเลือกตั้ง ความเชื่อมั่นผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอาจจะชะลอตัวจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจโลก การคลายความกังวลต่อนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ เพราะคาดว่าจะขึ้นเพียง 1 ครั้งเท่านั้น

 
( ไพบูลย์ นลินทรางกูร )

ขณะที่นักลงทุนยังคงกังวลผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน การพิจารณาข้อตกลงการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม 2 เดือนแรกตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 5.7% นับจากสิ้นปี 2561 ถือว่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นประเทศเพื่อนบ้าน เช่น 

  • เวียดนาม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.2%
  • ฮ่องกง เพิ่มขึ้น 10.8% จีน เพิ่มขึ้น 17.9%
  • ไต้หวัน เพิ่มขึ้น 6.8%
  • เกาหลี เพิ่มขึ้น 7.6% 

โดยตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นสูงกว่ามาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินเดีย

สำหรับค่าเงินบาทในช่วง 2 เดือนแรก มีการแข็งค่าขึ้นมาประมาณ 2% ส่งผลบวกต่อตลาดหุ้น แต่เฉพาะเดือน ก.พ. ค่าเงินเริ่มอ่อนตัวลงประมาณ 1% ส่งผลดีต่อการส่งออก แต่ส่งผลลบต่อการลงทุนในตลาดหุ้น

"คาดว่านักลงทุนต่างประเทศจะรอดูว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งจากการที่ทางสภาธุรกิจตลาดทุนไทยได้เดินสายรับฟังนโยบายทางเศรษฐกิจพรรคการเมือง ส่วนใหญ่จะโฟกัสคล้ายกัน แต่ต้องดูว่าถ้าเป็นรัฐบาลหลายพรรคจะผสมนโยบายแต่ละพรรคอย่างไร และวิธีการที่จะไปให้ถึงเป้าหมายเป็นอย่างไร เช่น การทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น การลงทุน การขยายการส่งออก การส่งเสริมการท่องเที่ยว" ไพบูลย์ กล่าว

กิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) คาดว่าเดือน มี.ค.นี้ จะยังมีแรงเทขายจากนักลงทุนต่างประเทศ จากการที่ปลายเดือนจะมีการเลือกตั้ง ทำให้ต้องการรอความชัดเจนของรัฐบาลก่อน และดัชนี MSCI มีการเพิ่มน้ำหนักหุ้น เอ-แชร์ ของจีนสูงขึ้น ทำให้เงินไหลเข้าไปในตลาดหุ้นจีนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 เดือนแรกนักลงทุนต่างชาติยังซื้อสุทธิ 1,500 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 2.36 หมื่นล้านบาท เป็น 2 กลุ่มที่ช่วยพยุงให้ดัชนีหุ้นไทย ส่วนนักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 3 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือ 10 ปี นักลงทุนต่างชาติมีการขายหุ้นไทยสุทธิ 5.9 แสนล้านบาท และถ้าย้อนหลังกลับไป 5 ปี มีการขายสุทธิ 4.2 แสนล้านบาท ทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นไทยในปัจจุบันเหลือประมาณ 29% เท่านั้น

ดังนั้น เชื่อว่าหลังการเลือกตั้งและเห็นความชัดเจนของรัฐบาลจะทำให้เงินไหลกลับเข้ามา เพราะปัจจัยภายในประเทศยังแข็งแกร่ง โดยคาดว่า

  • เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3-4% ลดลงเล็กน้อยจากปี 2561 ที่เติบโต 4.1%
  • การส่งออกขยายตัวได้ประมาณ 3-5%
  • จำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8% นำโดยชาวจีน

การลงทุนภาครัฐจะเป็นหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งจะกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น และบริษัทจดทะเบียนจะยังคงทำกำไรในระดับที่ดี คาดว่าจะเติบโต 6%

"เรามองเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปีนี้ที่ 1,850-2,000 จุด เพราะราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ หรือ พี/อี ไทยอยู่ที่ 14.5 เท่า ใกล้เคียงกับตลาดหุ้นในภูมิภาคนี้ แต่ดัชนีหุ้นไทยเราไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก และเงินไหลเข้าก็ยังต่ำกว่าภูมิภาค" กิติชาญ กล่าว

กิติชาญ กล่าวว่า กลุ่มที่น่าสนใจลงทุนมากที่สุดคือ ธนาคารพาณิชย์ เพราะจะได้ประโยชน์จากการขยายตัวของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงการควบคุมดูแลสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ทำได้ดี ตามด้วยกลุ่มค้าปลีกที่จะได้ประโยชน์จากการบริโภคที่เพิ่มขึ้น

ส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่จะได้ประโยชน์ คือบริษัทที่ทำบ้านแนวราบ ด้านคอนโดมิเนียมยังมีปริมาณที่ล้นเกินความต้องการของตลาด รวมถึงกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการลงทุนภาครัฐ และการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนจีน กลุ่มท่องเที่ยวที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล และกลุ่มสื่อสารที่จะได้ประโยชน์ หากมีการยืดการจ่ายเงินเพื่อต่อใบอนุญาตคลื่น 900 และมีการประมูลคลื่น 5จี

อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี และ 10 ปี มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น นักลงทุนต่างประเทศยังคงขายตลาดสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง โดย 2 เดือนแรกมีเงินไหลออก 2.72 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากนักลงทุนคลายความกังวลเรื่องสงครามการค้า และธนาคารกลางสหรัฐมีท่าทีจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้เงินไหลออกไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น โดยคาดว่าเงินจะยังคงไหลออกอย่างต่อเนื่องในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ยอดคงค้างของเงินลงทุนต่างชาติในตราสารหนี้ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 9.59 แสนล้านบาท และมีการลงทุนในตราสารหนี้ที่อายุยาวมากขึ้นเฉลี่ย 8.2 ปี

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยทั้งระบบ มีมูลค่าประมาณ 13 ล้านล้านบาท คาดว่าปีนี้ตลาดรองจะมีความซบเซาลง หลังจากกฎหมายใหม่ที่จะเก็บภาษีจากการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ 15% มีผลบังคับใช้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน โดยกระทรวงการคลังคาดว่าจะสามารถเก็บภาษีได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งคนที่ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศต้องเสียภาษี 15% ด้วย

ทั้งนี้ คาดว่ากองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ หรือ NAV ประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท จะได้รับความนิยมลดลง เพราะผลตอบแทนที่ได้จะลดลง เช่น เดิมเคยได้ 2% จะถูกเก็บภาษี 15% ของ 2% ถ้าต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากหรือใกล้เคียงกันก็อาจไม่จูงใจ ส่วนตลาดแรกอาจจะไม่กระทบ เพราะยังมีธุรกิจที่ต้องการระดมเงินทุนด้วยการออกตราสารหนี้จำนวนมาก