ดีเดย์กม.ภาษีอีเพย์เมนต์

>>

กฎหมายภาษีอี-เพย์เมนต์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 2562 เป็นต้นไป ชี้แบงก์ต้องรายงานธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ ฝ่าฝืนไม่รายงานเจอปรับ 1 แสน

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 หรือกฎหมายภาษีอี-เพย์เมนต์ ลงประกาศราชกิจจานุเษกษา ในวันที่ 20 มี.ค. 2562 และมีผลบังคับใช้วันที่ 21 มี.ค. 2562

ทั้งนี้ สาระสำคัญของกฎหมายกำหนดให้สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน จะต้องส่งข้อมูลรายงาน

  1. การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้ง/ปี/ธนาคาร
  2. การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง/ปี/ธนาคาร
  3. ยอดรวมของการรับฝากตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป 

โดยกำหนดให้รายงานข้อมูลดังกล่าวให้กับกรมสรรพากร ครั้งแรกภายในวันที่ 31 มี.ค. 2563

ทั้งนี้ การรายงานความถี่การทำธุรกรรมการเงินอาจจะเพิ่มขึ้นได้อีก ตามการกำหนดของกระทรวงการคลัง และให้กรมสรรพากรมีหน้าที่จัดเก็บข้อมูล ไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่กรมสรรพากรได้รับข้อมูล

นอกจากนี้ กฎหมายได้กำหนดว่า หากผู้มีหน้าที่รายงานไม่ปฏิบัติตาม อธิบดี กรมสรรพากรมีอำนาจลงโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 1 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

พร้อมทั้งปรับปรุงอัตราโทษสำหรับกรณีเจ้าพนักงานเปิดเผยข้อมูลของ ผู้เสียภาษีอากรหรือของผู้อื่นที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยหากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับวัตถุประสงค์การจัดทำกฎหมายดังกล่าว เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็ก ทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ที่ได้กำหนดให้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับการดำเนินการของภาครัฐ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ซึ่งรวมถึงการรับชำระภาษี

อย่างไรก็ตาม ประกอบกับลักษณะการทำธุรกรรมของภาคเอกชนปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ส่งผลให้การตรวจสอบและติดตามข้อมูล เพื่อการจัดเก็บภาษีอากรในปัจจุบัน ไม่อาจดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งกำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์มีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะพิเศษให้กรมสรรพากร เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร