นายไพรินทร์ โชติถาวร ชูรมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ระบบขนส่งมวลชนทางรางภายในเมืองหลวงเป็นปัจจัยหลักในการแก้ไขปัญหารถติดอย่างยั่งยืน ในอนาคตอาจมีการส่งเสริมให้หน่วยงานราชการและบริษัทเอกชนแจกคูปองค่าโดยสารรถไฟฟ้า เพื่อจูงใจให้พนักงานใช้ระบบขนส่งสาธารณะพร้อมสิทธิพิเศษ โดยคาดการณ์เมื่อระบบรถไฟฟ้าเฟส 1 เปิดให้บริการครบทั้งหมด 10 สาย ในช่วงปี 2567-2568 ส่งผลให้มีปริมาณ ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 2.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 132%
( ไพรินทร์ โชติถาวร )
ปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าภายในกรุงเทพมหานครเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 1.16 ล้านคน แบ่งเป็น
- สายสีเขียว 7.4 แสนคน/วัน
- สายสีน้ำเงิน 4 แสนคน/วัน
- รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ 7.5 หมื่นคน/วัน
- รถไฟฟ้าสายสีม่วง 5 หมื่นคน/วัน
ขณะที่การเปิดใช้รถไฟฟ้าเฟส 1 จะทำให้มียอดใช้บริการดังนี้
- รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค รวม 4.9 แสนคน/วัน
- รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเหนือใต้ 3.3 แสนคน/วัน รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 3 แสนคน/วัน
- รถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง 2 แสนคน/วัน
- รถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงปากเกร็ด- มีนบุรี 1.2 แสนคน/วัน และ
- สายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี 1.1 แสนคน/วัน
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้วางแผนพัฒนารถไฟฟ้าเฟส 2 เพื่อขยายรัศมีโครงข่ายของรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 100% จากเดิมรัศมี 20 กิโลเมตร (กม.) เป็นรัศมี 40 กม. เน้นไปที่พัฒนาสถานีเพื่อเชื่อมต่อการขนส่งทุกรูปแบบ ทั้งรถเมล์ เรือโดยสาร และท่าอากาศยาน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มี 4 เส้นทางที่พร้อมดำเนินการแล้ว คาดจะเริ่มทยอยเสนอขออนุมัติเพื่อเดินหน้าโครงการได้ภายในปีนี้ ประกอบด้วย
- รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี วงเงิน 5 หมื่นล้านบาทนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปข้อมูลเพื่อเสนอขออนุมัติโครงการ เพื่อเริ่มต้นก่อสร้างโครงการไปพร้อมกับทางด่วน N2 ในปีนี้
- รถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี-แยกคลองสาน วงเงิน 2,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างก่อสร้างเพื่อเปิดใช้ต่อไป
- รถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงรามอินทรา-พระราม 3 จะก่อสร้างเฟสแรกช่วงรามอินทรา-พระราม 9 และ
- เส้นทางเดินเรือด่วนเจ้าพระยา ช่วงสำโรง-ปากเกร็ด
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชันศิริราช วงเงิน 6,600 ล้านบาท ระยะทาง 5.7 กม. โดยหลังจากนี้จะนำเข้าสู่ขั้นตอนการประกวดราคาต่อไป เพื่อให้ได้ตัวเอกชนและก่อสร้างภายในปี 2562 ไปพร้อมกับโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีแดงอีก 2 สาย และรถไฟฟ้าสาย สีแดง ช่วงมิสซิ่งลิงค์อีก 2 สาย ใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 5 ปี และเปิดบริการพร้อมกันในปี 2567
( อาคม เติมพิทยาไพสิฐ )
ขณะที่ นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้รายงานให้ ครม.ทราบถึงผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 24-26 พ.ค.-พ.ย. 2561
โดยทั้งสองฝ่ายรับทราบความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-หนองคาย ซึ่งระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา แบ่งเป็นทั้งหมด 14 สัญญา ขณะนี้เริ่ม ต้นไปแล้ว 2 สัญญา
- กลางดง-ป่าอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ดำเนินการไปแล้ว 45%
- ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. ได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการลงนาม