นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 1 มีวงเงินปรับเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศที่เพิ่มขึ้น อาทิ
- โครงการพัฒนากำลังคนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรม
- โครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง
- โครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศ ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) และ
- การให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลังพิจารณาความจำเป็นหากู้เงิน แนวทางแก้ไขปัญหา และแผนการบริหารหนี้ที่ชัดเจนของรัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 รัฐวิสาหกิจที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (DSCR) ต่ำกว่า 1 ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งมีรายได้แค่ชำระดอกเบี้ยจ่าย และหนี้ที่ครบกำหนดในวงเงินที่ค่อนข้างสูง
ซึ่งกระทรวงการคลังจัดทำแนวทางกระจายภาระหนี้ให้สอดคล้องกับการจัดหารายได้ และความสามารถในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ในแต่ละปี
กลุ่มที่ 2 รัฐวิสาหกิจที่มี DSCR ติดลบ ได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ให้บริการสาธารณะและดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับติดตามเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่ง ดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการหนี้และแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรให้ชัดเจนและสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
นอกจากนี้ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ไม่รวมหนี้เงินกู้ของหน่วยงานภาคการเงินที่กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน รวมถึงหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นหนี้สาธารณะ อย่างไรก็ตามเพื่อเสถียรภาพทางการเงิน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดให้มีการติดตามหนี้เงินกู้ของหน่วยงานของรัฐที่ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ และรายงานต่อคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังและคณะรัฐมนตรีอย่างสม่ำเสมอ