ทำแบบเดิมไปไม่รอดแน่! ทางรอดเศรษฐกิจไทยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

>>

เปิดมุมมอง ผู้ว่าการ ธปท. กับปัญหาสำคัญในโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยที่ทำให้ไม่สามารถรับมือความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของโลกได้

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 62 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "เศรษฐกิจไทย ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง" ภายในงาน งานดินเนอร์ทอล์ค ประจำปี 2562 เนื่องในโอกาสครบรอบ 64 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศที่ท้าทายยิ่ง

ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า แม้เสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยในวันนี้มีความเข้มแข็งมากทำให้มีกันชนรองรับความผันผวนจากนอกประเทศที่นับวันจะรุนแรงขึ้น แต่มีสัญญาณหลายอย่างที่ต้องระมัดระวังและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องศักยภาพของระบบเศรษฐกิจที่จะมีผลต่อรายได้ คุณภาพชีวิตและความอยู่ดีกินดีของคนไทยในระยะยาว

ดร.วิรไท กล่าวว่า ถ้ามองย้อนกลับไปไกลกว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าเศรษฐกิจไทยเคยโตได้เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 4.8 ต่อปี ในช่วง 2542-2551 แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตเพียงร้อยละ 3.8 ต่อปี และต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายด้าน

โดยเฉพาะข้อจำกัดจากโครงสร้างประชากร การจ้างงานของไทยเคยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 1.1 ต่อปี ในช่วง 10 ปีก่อนวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2552 แต่หลังจากนั้นกลับหดตัวเฉลี่ยร้อยละ 0.1 ต่อปี จำนวนคนไทยในวัยแรงงานได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วเมื่อปี 2555 และกำลังลดลงทุกปี

( ดร.วิรไท สันติประภพ )


"หากเรายังคงขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ต่อไปโดยไม่เปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจไทยจะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฉุดรั้งศักยภาพของเศรษฐกิจไทยไว้ ดังนั้น ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องช่วยกันระบุปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ให้ชัดเจนและร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจัง" 
ผู้ว่าการธปท.กล่าว

ดร.วิรไท อธิบายว่า โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจที่ดี จะต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 มิติสำคัญ คือ

  1. มิติแรก เศรษฐกิจจะต้องมีผลิตภาพ (Productivity) ดี และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง
  2. มิติที่สอง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะต้องกระจายอย่างทั่วถึงไปสู่ประชาชนในวงกว้าง (Inclusivity)
  3. มิติที่สาม เศรษฐกิจจะต้องมีภูมิต้านทาน (Immunity) ที่ดี ไม่มีจุดเปราะบางที่จะสร้างปัญหาหรือนำไปสู่วิกฤตได้ในอนาคต

 

เมื่อมองในมิติแรกคือด้านผลิตภาพ ก็พบว่า ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผลิตภาพของเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงน้อยมาก โดยเกิดจากสาเหตุเชิงโครงสร้างอย่างน้อย 4 เรื่องหลักๆ

 

แรงงานมีผลิตภาพต่ำ ขาดทักษะ

ประการแรก แรงงานจำนวนมากมีผลิตภาพต่ำ ขาดการพัฒนาและไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปสู่ภาคการผลิตที่มีผลิตภาพที่สูงขึ้น แรงงานถึง 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งประเทศอยู่ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำที่สุด การผลิตภาคเกษตรกรรมยังขาดการพัฒนาผลิตภาพให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในวงกว้าง

นโยบายภาครัฐที่ผ่านมามักเน้นการดูแลราคาสินค้าเกษตรซึ่งช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในเศรษฐกิจชนบทได้ดีในระยะสั้น แต่ไม่ช่วยพัฒนาผลิตภาพของภาคเกษตรในระยะยาว และส่งผลข้างเคียงโดยฉุดรั้งแรงงานให้ทำการเกษตรแบบเดิมๆ มากกว่าที่จะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนาผลิตภาพหรือย้ายไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นที่มีผลิตภาพสูงกว่า

ประการที่สอง แรงงานไทยมีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาด สาเหตุมาจากระบบการศึกษาไทยที่ไม่สามารถผลิตแรงงานออกมาตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจได้ รวมทั้งแรงงานไทยยังขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะอย่างจริงจังตลอดช่วงชีวิตของการทำงาน แรงงานจำนวนมากยังทำงานแบบเดิมๆ ด้วยวิธีการเดิมๆ แม้ว่าจะผ่านการทำงานมาหลายปี

"งานศึกษาของ ธปท. ที่พบว่าโครงสร้างอาชีพของคนไทยแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลยตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก" ผู้ว่าการธปท.ระบุ

ประการที่สาม การลงทุนของเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับต่ำ งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า ไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ระดับการลงทุนที่แท้จริงของทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกันยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในภาคอุตสาหกรรมซึ่งสำคัญมากสำหรับการช่วยเพิ่มผลิตภาพกลับลดลงมากในช่วงหลัง

ประการที่สี่ ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจจากกฎระเบียบข้อบังคับของทางการที่มีจำนวนมากและล้าสมัย ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเปลี่ยนแปลงปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว

ดร.วิรไท กล่าวว่า ทางเดียวที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้คือต้องเร่งพัฒนาผลิตภาพในทุกภาคของระบบเศรษฐกิจไทยเพื่อให้คนไทยเก่งขึ้น มีคุณภาพสูงขึ้น และสร้างรายได้ได้เพิ่มขึ้น

 

ความเหลื่อมล้ำรุนแรง

ขณะที่ ความท้าทายเชิงโครงสร้างมิติที่สอง คือ

  1. ความเหลื่อมล้ำของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยไทยมีมีปัญหาการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบไม่ทั่วถึงต่อเนื่องมานาน
  2. ผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนที่มีรายได้สูง มีสินทรัพย์สูง โดยเฉพาะเจ้าของทุนขนาดใหญ่ ส่วนหนึ่งมาจากภาครัฐขาดประสิทธิภาพและความสามารถที่จะทำหน้าที่จัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม

ปัญหานี้จะยิ่งรุนแรงขึ้นสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ตั้งอยู่ในเมืองรองเนื่องจากตลาดเมืองรองมีขนาดเล็กกว่าเมืองใหญ่ และในช่วงหลัง บริษัทขนาดใหญ่ระดับประเทศได้รุกเข้าไปขยายธุรกิจในเมืองรองมากขึ้น งานศึกษาของ ธปท. พบว่าเอสเอ็มอี ในเมืองรอง ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่รุนแรงมากกว่า เอสเอ็มอี ในเมืองใหญ่มาก เพราะนอกจากขนาดของตลาดจะจำกัดแล้ว ยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดอีกหลายด้าน ตั้งแต่

  • คุณภาพแรงงาน
  • ต้นทุนค่าขนส่ง
  • ไปจนถึงบริการสาธารณูปโภค

 

นอกจากนี้ความเหลื่อมล้ำของภาคครัวเรือนยังเป็นปัญหารุนแรงของสังคมไทย ในปีที่แล้ว World Economic Forum (WEF) จัดอันดับให้ไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินมากที่สุดในอาเซียน ความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สินนี้ได้ส่งผลไปสู่ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ซึ่งเป็นหัวใจที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

ยากจงานวิจัยของสถาบันอนาคตไทยศึกษา พบว่า ครัวเรือนไทยที่มีฐานะดีสามารถส่งลูกหลานเข้าถึงการศึกษาในระดับสูงได้มากกว่าครัวเรือนนมากถึง 3 เท่า และนักเรียนในเมืองใหญ่มีโอกาสสอบได้คะแนนสูงกว่านักเรียนในเมืองรอง ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานี้ทำให้เยาวชนจากครัวเรือนยากจนขาดโอกาสสำคัญที่จะยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเองและครอบครัว และจะนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่กว้างขึ้นในอนาคต ซึ่งจะมีผลเสียต่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจและสังคมไทย

 

หนี้ครัวเรือนสูง ไทยอาจเป็นประเทศแรกที่คนส่วนใหญ่แก่ก่อนรวย

ความท้าทายเชิงโครงสร้างมิติที่สาม คือภูมิต้านทานของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าภูมิต้านทานของเศรษฐกิจไทยในระดับมหภาคจัดว่าค่อนข้างดี แต่ในระดับครัวเรือนนั้นถือว่ายังเปราะบางมากจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา หนี้ครัวเรือนของเรามีปัญหาทั้งปริมาณและคุณภาพ ระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ประมาณร้อยละ 77.8 ซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ใกล้เคียงกับเรา

ถ้าดูรายละเอียดจะพบว่าเรามีสัดส่วนหนี้เสียในระดับสูงด้วย และยอดหนี้ของคนไทยจำนวนมากไม่ได้ลดลงแม้ว่าจะมีอายุมากขึ้นจนถึงวัยใกล้เกษียณ ครัวเรือนไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายเรื่องหนี้ครัวเรือนมากขึ้นเพราะเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศแรกในโลกที่คนส่วนใหญ่จะแก่ก่อนรวย

โดยผลสำรวจเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนตั้งแต่หลายปีก่อน พบว่าคนไทยราว 3 ใน 4 ไม่สามารถออมเงินได้ในระดับที่ตั้งใจไว้สำหรับการเกษียณอายุ และเกือบครึ่งหนึ่งยังไม่มีแผนการออมอย่างเป็นรูปธรรมหรือกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการวางแผนการออม ถ้าครัวเรือนไทยไม่สามารถพึ่งพาการออมของตัวเองได้แล้ว ท้ายที่สุดจะกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุของภาครัฐ และบั่นทอนภูมิต้านทานด้านการคลังต่อไป

 

3 การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่ต้องรับมือ

ผู้ว่าการธปท. กล่าวอีกว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมกันอย่างจริงจังเพื่อเตรียมประเทศไทยให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างน้อยใน 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่

ประการแรก คือ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสารสนเทศกำลังเกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด และจะมีผลโดยตรงต่อวิถีชีวิตของทุกคนและต่อการทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ บริษัทด้านเทคโนโลยีไม่ได้ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเข้าไปให้บริการอีกหลายประเภทส่งผลให้เส้นแบ่งระหว่างธุรกิจประเภทต่างๆ บางลงมาก

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้เร่งให้กระแสโลกาภิวัตน์รุนแรงขึ้น เส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศเลือนรางลง ทุกคนบนโลกสามารถเข้ามาสู่สนามการแข่งขันบนอีคอมเมิร์ซ ที่ไร้พรมแดน ในโลกยุคใหม่นี้การแข่งขันทั้งด้านราคาและคุณภาพสินค้าจะรุนแรงและหลีกเลี่ยงได้ยากขึ้น ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน หรือผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ จะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับผู้เล่นจากทั่วโลก

ประการที่สอง คือการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ จากภาวะโลกร้อน ซึ่งมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งขึ้น หากไม่เตรียมตัวไว้อย่างเท่าทัน ภาวะโลกร้อนจะทำให้เกษตรกร ซึ่งเดิมมีฐานะทางเศรษฐกิจเปราะบางอยู่แล้ว อ่อนไหวมากขึ้นและมีภูมิต้านทานต่ำลง

ภาวะโลกร้อนยังทำให้ประชาคมโลกตื่นตัวและสนใจการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้นในปัจจุบัน สังเกตได้จากมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม มาตรฐานด้านการเกษตร มาตรฐานด้านการธนาคารเพื่อความยั่งยืน ตลอดจนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น ลดการใช้พลาสติก และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการจะต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตและรูปแบบธุรกิจเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด รวมถึงเพิ่มทางเลือกสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ตลาดมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก

ประการที่สามคือ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และกระแสการต่อต้านโครงสร้างเชิงสถาบันที่มีอยู่แต่เดิม ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างเชิงสถาบันระดับประเทศหรือระหว่างประเทศ วันนี้เราเห็นความขัดแย้งระหว่างขั้วมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง คาบสมุทรเกาหลี ทะเลจีนใต้ หรือล่าสุดระหว่างอินเดียและปากีสถาน หรือแม้กระทั่งการประท้วงทางการเมืองในฝรั่งเศสและ Brexit ที่สะท้อนการต่อต้านโครงสร้างเชิงสถาบันแบบเดิม

ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์เหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะปะทุเป็นปัญหารุนแรงและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ตลาดเงินตลาดทุนโลกและราคาพลังงาน ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สถานการณ์เหล่านี้สามารถพลิกผันได้ตลอดเวลาและไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้อย่างวางใจ

 

เศรษฐกิจไทยไม่สามารถเติบโตได้ด้วยแรงส่งแบบเดิมๆ

ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถเติบโตได้ด้วยแรงส่งแบบเดิมๆ ของโลกยุคเก่าที่เราคุ้นเคยอีกต่อไป ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยจะถูกบั่นทอนได้อย่างรุนแรงถ้าเราไม่ร่วมกันปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยให้เตรียมรับกับโลกยุคใหม่ได้อย่างเท่าทัน

"นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดจะทำให้รูปแบบการทำธุรกิจในโลกใหม่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และจะทิ้งผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีหรือขาดความรู้ทางเทคโนโลยีไว้ข้างหลัง"

ดร.วิรไท กล่าวว่า ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญอย่างน้อย 3 เรื่อง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโลกยุคใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

1.ต้องส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าด้วยคุณภาพและผลิตภาพเป็นหลัก โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมและ เอสเอ็มอี

เขายกตัวอย่างว่า ที่ผ่านมาเราอาจจะให้น้ำหนักกับเรื่องการเพิ่มปริมาณเพราะคิดว่าทำได้อย่างรวดเร็วและสามารถแสดงเป็นผลงานได้ในช่วงเวลาสั้นๆ แต่อาจสร้างผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้มากทั้งในระยะสั้นและระยะยาว "

"เราไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก หรือไม่จำเป็นต้องมีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดในโลก แต่คงดีกว่าถ้าเกษตรกรไทยสามารถเพิ่มคุณภาพจนสร้างความแตกต่างของผลิตผลทางการเกษตรได้ สามารถจำหน่ายได้ในราคาสูง มีกำไรและเงินออมที่เกิดจากการทำงานด้วยตนเอง โดยที่รัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเข้าพยุงราคาสินค้าเกษตรในทุกฤดูกาลเพาะปลูก

หรือคงดีกว่าถ้าเราสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูงและมีอำนาจซื้อสูงเข้ามาในประเทศได้ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่สร้างปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวที่จะสร้างผลเสียให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในระยะยาว"

2.ต้องเร่งเพิ่มคุณภาพของแรงงานไทยให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โจทย์สำคัญคือจะยกระดับคุณภาพของแรงงานที่อยู่ในกำลังแรงงานปัจจุบัน 38 ล้านคนหรือประมาณร้อยละ 60 ของประชากรไทยได้อย่างไรเพื่อเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก

การยกระดับคุณภาพของแรงงานเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา และตัวแรงงานเอง เนื่องจากโลกข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทักษะที่สำคัญประการหนึ่ง คือทักษะของการเรียนรู้ เพื่อที่จะพัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต

3.จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อศักยภาพของเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร จะทำอย่างไรที่จะให้ทรัพยากรย้ายออกจากภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำไปสู่ภาคที่มีผลิตภาพสูงกว่าได้

การเคลื่อนย้ายทรัพยากรให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่นี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้ากฎระเบียบจำนวนมากของภาครัฐยังล้าสมัย และเป็นพันธนาการไม่สนับสนุนให้ธุรกิจไทยและคนไทยมีความยืดหยุ่นในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด การปฏิรูปกฎหมายและกฎเกณฑ์ของภาครัฐอย่างจริงจังเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถปรับตัวได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

"ผมคิดว่าเรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก ต้องการแรงขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนในสังคม เราทุกคนควรจะต้องถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลง ถ้าเรามัวแต่คิดว่าคนอื่นต้องรับเป็นเจ้าภาพแล้ว ไม่มีทางที่เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ในสังคมไทย"

ดร.วิรไท กล่าวอีกว่า สังคมใดก็ตามที่มีความแคลงใจต่อกันเป็นพฤติกรรมในสังคม สังคมจะเดินหน้าได้ยากมาก ยากที่คนจะยอมแลกผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ยากที่จะยอมแลกผลประโยชน์ของตนในระยะสั้นกับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว การแก้ไขปัญหาสำคัญต่างๆ ของประเทศจะต้องเผชิญกับแรงต้านตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำ ยากที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูปใดๆ ให้สำเร็จได้ การสร้างความไว้วางใจกันจึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่