นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2562 สนทช.ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน รวมถึงแผนการบริหารจัดการน้ำพร้อมมาตรการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2561/2562
ทั้งนี้ ในส่วนของปริมาณน้ำต้นทุนนั้นปรากฏการณ์เอลนินโญระดับอ่อนจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงเดือน เม.ย. ซึ่งจะทำให้ปริมาณฝนของประเทศไทยต่ำกว่าปกติ ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2557 ที่มีปัญหาภัยแล้ง แต่จากการบริหารจัดการการใช้น้ำจะทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ เพียงพอต่อการใช้ทั้งในการอุปโภคบริโภคในภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม การดูแลสิ่งแวดล้อม จนถึงฤดูฝนเดือน พ.ค.
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ที่ประชุม กนช.ได้เห็นชอบ 4 มาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือกับฤดูแล้ง ประกอบด้วย
- แจ้งเตือนเกษตรกรงดการปลูกพืชฤดูแล้งและพืชต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่เป้าหมายใน 21 จังหวัดลุ่มน้ำพระยา ขณะนี้พบว่ามีการปลูกพืชเกินกว่าที่มีการทำข้อตกลงกว่า 1 ล้านไร่
- เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยมอบให้กระทรวงมหาดไทย โดยจังหวัดและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นเจ้าภาพหลัก พื้นที่เป้าหมาย 7 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ นครสวรรค์ ชัยภูมิ นครราชสีมา เลย กาญจนบุรี และราชบุรี
- ทบทวนแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง ปี 2561/2562 ให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์เอลนินโญกำลังอ่อน
- กรณีที่มีการปรับแผนการจัดสรรน้ำ โดยเฉพาะในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พิจารณาสมดุลของปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ
นอกจากนี้ ประชุม กนช.ให้ความเห็นชอบ 4 โครงการ วงเงินรวม 1.33 หมื่นล้านบาท ได้แก่ โครงการปรับปรุงและฟื้นฟูคลองเปรมประชากรทั้งระบบตลอดสาย ครอบคลุม จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร วงเงิน 4,466 ล้านบาท
โครงการบรรเทาและป้องกันอุทกภัยเมืองชุมพร ระยะที่ 2 วงเงิน 1,717 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงานปี 2562-2564
สำหรับอีก 2 โครงการเห็นชอบในแผนแม่บท ได้แก่ โครงการแผนแม่บทและฟื้นฟูบึงราชนก จ. พิษณุโลก วงเงิน 1,450 ล้านบาท และโครงการแผนแม่บทและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ 56 โครงการ วงเงิน 5,701.5 ล้านบาท