เรื่องของ “ความเสี่ยง” นั้นมีหลากหลายมิติด้วยกัน นอกจากจะประเมินจาก ‘ปัจจัยภายนอก’ เพื่อดูถึง “ความสามารถในการรับความเสี่ยง (Ability)” แล้ว ยังต้องดูจาก ‘ปัจจัยภายใน’ เพื่อดูถึง “ความเต็มใจในการรับความเสี่ยง (Willingness)” ของผู้ลงทุนประกอบไปด้วยเช่นกัน
- ตามหลักการประเมินความเสี่ยง...คนอายุน้อย สามารถจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ แต่คนอายุน้อยนั้น ก็อาจ “ไม่เต็มใจ” ที่จะเสี่ยงได้เช่นกัน
- ในทางตรงกันข้าม...คนอายุมาก ไม่ควรจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง แต่คนอายุมากบางคน ก็อาจ “เต็มใจ” ที่จะเสี่ยง อย่างที่มักจะพบเห็นกันมาบ้างในห้องค้าหลักทรัพย์ของโบรกเกอร์ต่างๆ
ดังนั้น “มุมมองของผู้ลงทุน” ที่มีต่อเรื่อง ‘ความเสี่ยง’ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม เช่น บางคนลงทุนในอะไรที่ ‘เสี่ยงนิดเดียว’ ก็คิดว่าเสี่ยงมากแล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องของ ‘ถูก’ หรือ ‘ผิด’ แต่ในมุมมองของเขาที่มีต่อการลงทุนนั้น แม้จะเป็นสินทรัพย์ที่มี ‘ความเสี่ยงน้อย’ แต่เขาก็ยังมองว่า ‘เสี่ยงมากไป’ เป็นมุมมองความเสี่ยงที่มาจาก “ภายใน” ดังนั้น ผู้ลงทุนกลุ่มนี้จะให้ไปลงทุนในสินทรัพย์อะไรที่เสี่ยงมากก็คงลำบาก เพราะด้วยมุมมองเช่นนี้ ‘Willingness’ ก็อาจจะน้อยตามไปด้วย
“ในขณะที่บางคนลงทุนในอะไรที่ ‘เสี่ยงมาก’ กลับยังรู้สึกเฉยๆ ในขณะที่คนทั่วไปมองว่าเสี่ยงมากแล้ว การลงทุนที่มีความเสี่ยงสำหรับคนกลุ่มนี้ จะไม่ทำให้เขารู้สึกไม่สบายใจแต่ประการใด เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้ก็สามารถที่จะรับความเสี่ยงได้มาก ลงทุนในอะไรที่เสี่ยงมากได้อย่างสบายใจ”
มีแบบทดสอบที่ใช้กันทั่วไปเพื่อดูมุมมองที่ผู้ลงทุนมีต่อ ‘ความเสี่ยง’ และ ‘ผลตอบแทน’ บนสมมติฐานว่าคุณไม่มีทางเลือกอื่นเลยนอกจาก "ทางเลือก A" และ "ทางเลือก B" 2 ทางเลือกเท่านั้น
โดยทางเลือก A ถ้าคุณลงทุนจะได้รับผลตอบแทนแน่ๆ 4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ในขณะที่ทางเลือก B นั้นถ้าคุณลงทุนคาดว่าจะได้ผลตอบแทน 7 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่ไม่การันตีผลตอบแทนที่คุณจะได้รับ โดยคุณมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงสุดถึง 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และแย่ที่สุดคือ คุณมีโอกาสขาดทุน 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี คำถาม คือ ให้เลือก 2 ทางเลือกนี้ คุณจะเลือกทางเลือกไหน?
สมมติคุณเลือกทางเลือก B ถามใหม่ว่า ให้คุณมีทางเลือกอีก 2 ทางเลือกเหมือนเดิม คือ "ทางเลือก a" และ "ทางเลือก b" โดยทางเลือก a ผลตอบแทนเหมือนเดิม คือ 4 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี ในขณะที่ทางเลือก b นั้น ผลตอบแทนคาดหวังเท่าเดิม 7 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่โอกาสที่ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนสูงสุดขยับเพิ่มขึ้นเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนต่ำสุดก็อาจจะติดลบถึง 6 เปอร์เซ็นต์ต่อปี คุณจะเลือกทางเลือกไหน?
ถ้าคุณเลือกทางเลือก b ในความหมายนี้ก็คือ "คุณพร้อมที่จะรับความเสี่ยง" ได้พอสมควรในความรู้สึกของตัวคุณเอง แต่ถ้ามาถึงตรงนี้แล้วคุณเลือกทางเลือก a เพื่อรับผลตอบแทน 4 เปอร์เซ็นต์ ชัวร์ๆ ไม่เลือกเอา 7 เปอร์เซ็นต์ แบบต้องลุ้น แถมมีโอกาสที่จะขาดทุนด้วย แสดงว่า "คุณพร้อมที่จะรับความเสี่ยงหากความเสี่ยงนั้นไม่สูงจนเกินไป"
ลองมาเริ่มต้นกันใหม่ สมมติคุณเลือกทางเลือก A ก็มีอีก 2 ทางเลือกให้เลือก คือ "ทางเลือก a" และ "ทางเลือก b" โดยทางเลือก a คุณยังคงได้รับผลตอบแทน 4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่ทางเลือก b ผลตอบแทนที่คาดหวังเพิ่มสูงขึ้นเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงสุดและต่ำสุดยังคงเท่าเดิม
หากคุณเลือกทางเลือก a ในความหมายนี้ก็หมายความว่า "คุณไม่พร้อมที่จะรับความเสี่ยง" เพราะคุณเลือกเอาชัวร์ๆ 4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ดีกว่าเป็นของตาย แต่ถ้าคุณเลือกทางเลือก B ก็แสดงว่า "คุณพร้อมที่จะรับความเสี่ยงได้ หากได้ผลตอบแทนที่สูงเพียงพอ" ขึ้นกับเหตุและผลว่าการลงทุนนั้นมันเหมาะสมหรือเปล่า
“นี่เป็นมิติมุมมองต่อความเสี่ยงของผู้ลงทุนเอง ซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวและแตกต่างกันไปในแต่ละปัจเจกบุคคลเช่นเดียวกัน ดังนั้น การประเมินความเสี่ยงของผู้ลงทุนเองควรจะดูทั้งมิติจาก ‘ปัจจัยภายนอก’ และ ‘ปัจจัยภายใน’ ที่ตัวเองมีควบคู่กันไปด้วยเช่นกัน”
สิ่งสำคัญที่สุด คือ การ ‘รู้จัก’ และ ‘เข้าใจตัวเอง’ เพื่อที่คุณจะได้จัดสรรเงินลงทุนได้อย่างเหมาะสมและทำให้เงินลงทุนของคุณทำงานได้เต็มศักยภาพนั่นเอง เพราะคนที่มี ‘Willingness’ ใกล้เคียงกัน แต่มี ‘Ability’ ต่างกัน อาจจะทำให้มีสัดส่วนการลงทุนที่ต่างกันได้เช่นกัน