“HSBC”...หนุนผลักดันสู่ ‘อาเซียนที่ยั่งยืน’

>> ความเสี่ยงจากปัจจัยท้าทายด้านเศรษฐกิจมหภาคที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จะเป็นแรงขับให้ ‘อาเซียน’ จำเป็นต้องผลักดันวาระการปฏิรูปอย่างจริงจังมากขึ้นในปี2019

ความเสี่ยงจากปัจจัยท้าทายด้านเศรษฐกิจมหภาคที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จะเป็นแรงขับให้ ‘อาเซียน’ จำเป็นต้องผลักดันวาระการปฏิรูปอย่างจริงจังมากขึ้นในปี2019 นี้

มร.เคลวิน แทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์โลกในปีนี้กำลังดำเนินไปในลักษณะที่สะท้อนจากหัวข้อข่าว เช่น ตลาดวิพากษ์วิจารณ์การที่ธนาคารกลางสหรัฐกลับมาใช้นโยบายการเงินตึงตัว การมีข้อตกลงจากการถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit Deal) หรือการถอนตัวโดยไร้ข้อตกลง (No Deal) การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทจากความไม่แน่นอนทางด้านภาษีการค้า และราคาน้ำมันที่เคลื่อนไหวไม่ผันแปรตามปัจจัยแวดล้อม

มร.เคลวิน แทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

“ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซาอาเซียนยังเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เปิดกว้างและมีศักยภาพเชิงบวกที่สุดในโลก และในปี2019 นี้อาเซียนมีโอกาสจะสร้างจุดเด่นให้ตนเองมากขึ้นด้วยการผลักดันการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องและแสวงหาการเปิดกว้างที่เพิ่มขึ้น”

ความท้าทายที่ใหญ่หลวงที่สุดสำหรับ ‘อาเซียน’ มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในลักษณะของเหตุการณ์ทางธรรมชาติมากกว่ามาจากฝีมือมนุษย์ เนื่องจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีโอกาสประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติมากที่สุดในโลก ทั้งยังถูกซ้ำเติมให้เลวร้ายลงจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

นอกจากด้านสภาพอากาศแล้ว การพัฒนาสู่ความเป็นเมืองบ่งชี้ว่าภายในปี 2030 ประชากรกว่า 100 ล้านคน ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะอพยพเข้ามาอาศัยในเขตเมือง โดยมีความต้องการอย่างมหาศาลในทรัพยากรด้านอาหาร สุขอนามัย และโครงสร้างพื้นฐาน

โดยสิ่งที่ ‘อาเซียน’ ควรให้ความสำคัญ ในปี2019 ได้แก่

1) เพิ่มการค้าภายในภูมิภาคเพื่อชดเชยการชะลอตัวของการค้าโลก

2) ดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ภูมิภาคมากขึ้น

3) การลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัล

4) ผลักดันสู่อาเซียนที่ยั่งยืน เรื่องที่มุ่งเน้นเพื่อผลักดันไปสู่อาเซียนที่ยั่งยืน รวมถึง

  • พัฒนากรอบแนวคิดและมาตรฐานด้านสิทธิประโยชน์ในระดับภูมิภาค (เช่น การให้เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายด้านการให้คำปรึกษาด้านการเงินและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อสีเขียวหรือออกพันธบัตรสีเขียว) ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพของต้นทุน และนำไปสู่การเป็นเครื่องมือทางการเงินที่น่าสนใจสำหรับองค์กรธุรกิจ
  • ขับเคลื่อนแนวคิดเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network) ซึ่งริเริ่มขึ้นในเดือนเม.ย. 2018 ไปสู่โครงการเมืองอัจฉริยะครอบคลุมเมืองนำร่อง 26 แห่ง
  • ร่วมมือกับจีน สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งล้วนหมายมั่นให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเป้าหมายสำหรับการดำเนินโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพเชิงธุรกิจและมีความโปร่งใส ซึ่งจะก่อให้เกิดอุปสงค์เพื่อการพาณิชย์ และนำไปสู่การบริหารจัดการหนี้อย่างยั่งยืน

มร.แทน กล่าวสรุปว่า การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งแรก ระหว่างวันที่ 17-18 ม.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีภายใต้การนำของไทยในฐานะประธานอาเซียน โดยที่ประชุมสมาชิกอาเซียนเห็นพ้องในหลายประเด็นสำคัญซึ่งได้หยิบยกขึ้นมาหารือ เพื่อผลักดันให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองและความยั่งยืนทั่วทั้งภูมิภาค

“แน่นอนว่าการบูรณาการอย่างต่อเนื่องของอาเซียนเป็นเรื่องสำคัญภายใต้สถานการณ์โลกที่ท้าทายของปี 2019 องค์กรธุรกิจต่าง ๆ กำลังเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะทำให้การค้าในภูมิภาคอาเซียนเป็นไปอย่างราบรื่น กระตุ้นการลงทุนระหว่างประเทศ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืน”

ดังนั้น การบรรลุเป้าหมายการปฏิรูป การบูรณาการ และการเปิดกว้างที่เพิ่มขึ้นในปี 2019 จะช่วยให้อาเซียนสามารถระดมทุนและสร้างเกราะกำบังตนเองจากกระแสโลกที่มีแนวโน้มจะดำเนินต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า