วันนี้...คุณ “ลงทุน” แล้วหรือยัง?

>>

ในขณะที่การเลือกตั้งยังคงปวดเศียรเวียนเกล้ากับสูตรการคำนวณจำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์กันอยู่นั้น ฝั่ง “การลงทุน” ของคนไทยก็เป็นปัญหาระดับชาติที่ชวนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมานั่งขบคิดด้วยเช่นกัน

ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 66.4 ล้านคน มี บัญชีเงินฝาก ธนาคาร 99.88 ล้านบัญชี หรือมีจำนวนบัญชีเงินฝากเป็น 150.33% ของประชากรไทย จะเรียกว่า...คนไทยทุกคนล้วนมีบัญชีเงินฝากก็คงไม่ผิดนัก

หันมาดูฝั่งการลงทุนในส่วนของ บัญชีหุ้น กันบ้าง เรามีตลาดหลักทรัพย์มาตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.1975 จะครบ 44 ปีเต็มในปี19 นี้แล้ว มีจำนวนผู้เปิด บัญชีหุ้น สิ้นปี18 อยู่ที่ 1.66 ล้านราย เปิด บัญชี Internet’ อีก 1.52 ล้านราย รวมกันประมาณ 3.18 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 4.79% ของประชากรไทย เท่านั้น

ส่วน บัญชีกองทุน ณ มิ.ย.18 มีอยู่ทั้งสิ้น 6.19 ล้านบัญชี คิดเป็นสัดส่วน 9.32% ของประชากรไทย


มาถึงจุดนี้...คุณเห็นอะไรมั้ย?

คนไทยยัง ขาดวัฒนธรรมการลงทุนและยังคุ้นชินกับ วัฒนธรรมการออมในเงินฝากแบงก์เป็นหลัก ส่วนที่ขยับไปสู่ สินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Asset)’ ถือว่ายังน้อยมาก

 

“ออมเงิน” ไม่ตอบโจทย์เป้าหมาย...ปัญหาใหญ่คนไทย

จากการ “สํารวจพฤติกรรมการออม และการเข้าถึงบริการทาง การเงินภาคครัวเรือน” (เก็บรวบรวมข้อมูลช่วงไตรมาสที่3/18) โดย “สํานักงานสถิติแห่งชาติ” พบว่า วัตถุประสงค์หลักในการออมของครัวเรือนไทย คือ เพื่อใช้ในยามชรา มากสุดเป็นสัดส่วน 42.1% รองลงมาคือ ไว้ใช้ยามเจ็บป่วย/ฉุกเฉิน 32% แต่วิธีการเก็บเงินของครัวเรือนไทยกลับเก็บเป็น เงินสด ถึง 75.5%  เป็น เงินฝากแบงก์ 79.8% ในขณะที่ไปลงทุนใน ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน 3.2% เท่านั้น


เมื่อเห็นตัวเลขผลสำรวจจึงไม่แปลกใจที่ตัวเลข บัญชีเงินฝาก ของไทยถึงมากมายขนาดนี้ จริงๆ การเก็บเงินเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าจะเป็นไปเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายเกษียณแล้ว ยังดีไม่เพียงพอ

ตัวอย่าง : สมมติคุณทำงานตอนอายุ 22 ปี มีเวลาเก็บเงิน 38 ปี ก่อนเกษียณ แล้วต้องการเงินตอนเกษียณประมาณ 5 ล้านบาท ที่ดอกเบี้ย 1% ต่อปี คุณต้องเก็บเงินทุกเดือนๆ ละ 9,018 บาท ไปจนเกษียณ ถ้าคุณทำได้ก็โอเค...จบ ไม่มีปัญหาอะไร

“แต่เงินออมระดับนี้ พอๆ กับรายได้ของแรงงานรายวันทั้งเดือนเลยทีเดียว ถ้าคุณไม่ใช่มนุษย์เงินเดือนที่มีศักยภาพในการเก็บระดับนี้ เป็นแรงงานรายวัน โอกาสเก็บเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายเกษียณด้วยแนวคิดนี้ก็ปิดประตูตายไปเลย”

แต่ถ้าคุณขยับแหล่งเก็บเงินเพื่อเกษียณของคุณออกจาก เงินฝาก ไปสู่การลงทุนใน หุ้นที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 12.26% ต่อปี ได้ คุณจะเก็บเงินลงทุนแค่เพียงเดือนละ 500 บาท เท่านั้น เพื่อจะมีเงินตอนเกษียณ 5 ล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนเดือนละ 500 บาท คนไทยส่วนใหญ่มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำได้ทุกคน

“ค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบัน 360 บาท เก็บวันละ 17 บาท หรือประมาณ 4.72% ของรายได้เท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะเกินความสามารถของคนไทยส่วนใหญ่ที่จะทำ หากบอกว่า 5 ล้านบาท น้อยไป คุณอยากได้สัก 10 ล้านบาท ก็เก็บเพิ่มเป็นเดือนละ 1,000 บาท ที่ผลตอบแทน 12.26% ต่อปี ตอนเกษียณก็มีเงิน 10 ล้านบาทได้เช่นกัน สำคัญ คือ เงินเกษียณของคุณเก็บไว้ที่ไหนในตอนนี้ ถ้าผิดที่ผิดทาง เงินก็ไม่งอกเงย ไม่ตอบโจทย์เท่านั้นเอง”

 

เริ่มต้นลงทุนง่ายๆ คุณก็ทำได้...ไม่ยากอย่างที่คิด

ถ้านึกถึงการลงทุน คุณนึกถึง สินทรัพย์ อะไรบ้าง ตอบตัวเองดูได้เลย (ที่ไม่ใช่เงินฝากธนาคารนะ) ไม่รู้ว่าคำตอบคุณ คือ อะไร แต่น่าจะมี หุ้น ทองคำ ตราสารหนี้ หรือ อสังหาริมทรัพย์ หลุดมาในคำตอบคุณอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

อย่างที่เคยกล่าวไปในบทความก่อนๆ แล้ว...ยังยืนยัน นั่งยัน และนอนยันเหมือนเดิมว่า...การขยับจาก เงินฝาก มาผ่าน กองทุนรวม เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดสำหรับนักลงทุนทุกระดับ ตั้งแต่ รากหญ้า ยัน มหาเศรษฐีเลยทีเดียว

เช่นเดียวกับการเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร ในครั้งแรกเลยก็จะมีเรื่อง งานเอกสาร ให้ต้องกรอก ต้องเซ็นต์ เป็นปกติไม่แตกต่างอะไรกันเลย สิ่งที่คุณต้องเตรียมให้พร้อม ได้แก่

  1. สำเนาบัตรประชาชน
  2. สำเนาหน้า Book Bank (ที่จะเอาไว้ตัดบัญชีเวลาซื้อ/ขายกองทุน)
  3. สำเนาทะเบียนบ้าน (บางแห่งก็ไม่ใช้ถ้าที่อยู่ตรงกับบัตรประชาชน)


เป็นเอกสาร 3 ชิ้น ที่หากคุณมีแล้วก็พร้อมขยับเข้าสู่ กองทุนรวม ได้ทันที ง่ายมั้ยล่ะ? ส่วนเงินฝากในบัญชีแบงก์เชื่อว่ามีกันพร้อมอยู่แล้วทุกคน ลงทุนขั้นต่ำในบางกองทุนของบางบลจ. 500 บาทก็ลงทุนได้แล้ว (เงินขั้นต่ำการลงทุนของแต่ละกองทุน แต่ละบลจ.อาจแตกต่างกันไป)

เอาล่ะ...เอกสารพร้อมแล้วยังไงต่อ

เลือกกองทุนที่ชอบ เลือกบลจ.ที่ใช่ ความสะดวกในการเดินทางของตัวคุณเองด้วยประกอบกัน แล้วก็ไป เปิดบัญชีกองทุน กันได้เลย ปัจจุบันก็มีหลากหลายสถานที่ให้ไปดำเนินการได้

  1. ธนาคารที่คุณใช้บริการอยู่ หรือธนาคารใกล้บ้านคุณ เพราะทุกธนาคารมีบลจ.ของตัวเองหมด
  2. ธนาคารต่างประเทศ ที่เป็นตัวแทนขายกองทุนให้บลจ.ต่างๆ
  3. บลจ.ทุกแห่ง
  4. บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.)
  5. บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ต่างๆ ปกติจะเป็นตัวแทนขายกองทุนให้บลจ.ต่างๆ ด้วย
  6. ตัวแทนจำหน่ายลงทุน อิสระ (Investment Planner : IP อิสระ) ที่ขายกองทุนให้กับบลจ.ต่างๆ      


“แล้วก็แจ้งความประสงค์เปิดบัญชีกองทุน ซึ่ง พนักงานที่มีใบอนุญาตเป็นผู้แนะนำการลงทุนของแต่ละที่ (มีใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)) จะเป็นคนดูแลการเปิดบัญชีของคุณ หากสงสัยอะไรระหว่างเปิดบัญชีสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ดูแลคุณได้เลย เป็นหน้าที่เขาต้องตอบคำถามคุณอยู่แล้วครับ”

ปกติก็จะมีเอกสารที่ต้องกรอกหลักๆ คือ

  • ใบคำขอเปิดบัญชีกองทุน
  • ใบคำสั่งซื้อกองทุน (ในครั้งแรก)
  • ใบขอโอนบัญชีเงินฝาก (ATS) เมื่อทำการซื้อกองทุน และรับเงินกรณีขายกองทุน
  • แบบฟอร์ม FATCA
  • คำขอใช้บริการทาง Internet (แนะนำให้สมัครไว้ด้วยเลย)
  • แบบประเมินความเสี่ยง (Suitability Test)


“ที่เหลือก็แค่กรอกเอกสารต่างๆ ตามปกติของงานเอกสารสำหรับการเปิดบัญชีในครั้งแรก ส่วนใครที่ยังถนัดจะมา ซื้อ-ขาย ที่เคาท์เตอร์ธนาคาร ก็ยังสามารถทำได้ตามปกติ มีแบบฟอร์มซื้อ ขายไว้ให้บริการไม่ต่างกับฝากถอนเงินที่แบงก์แต่ประการใด เพียงแต่พนักงานที่จะดำเนินการธุรกรรมต่างๆ ให้นั้นจะต้องเป็นผู้แนะนำการลงทุนที่มีใบอนุญาตจากสำนักงานก.ล.ต.เท่านั้น นี่คือ จุดที่จะแตกต่างกัน หรือจะทำรายการผ่าน Internet ก็ทำได้สบายมาก”

อย่าลืมว่า...เงินที่คุณหามาได้ ก็เป็น ‘สินทรัพย์’ ของคุณ เหมือนสินทรัพย์ของกิจการนั่นแหละ ถ้าสินทรัพย์ ‘ไม่ก่อให้เกิดรายได้’ คุณก็ต้องบริหารจัดการขยับปรับมันให้ไปอยู่ในที่ๆ เหมาะสม เพื่อให้เป็นสินทรัพย์ที่ ‘สร้างรายได้’ ขึ้นมาให้ได้ อย่าแช่แข็งเงินคุณไว้ในบัญชีเงินฝากอีกเลย วันนี้...คุณ “ลงทุน” แล้วหรือยัง?