“หุ้นสหรัฐ” ยังคงเดินหน้าบวกอย่างต่อเนื่องนับรวมเวลากว่าทศวรรษแล้ว ล่าสุดทั้งดัชนี ‘S&P500’ และ ‘Dow Jones’ ก็ทุบสถิตทำ ‘จุดสูงสุดใหม่ (All Time High)’ ไปแล้วทั้งคู่ นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันให้ผลตอบแทน 18.70% และ 15.86% ตามลำดับ ถือเป็นหนึ่งในตลาดหุ้นที่สร้างผลตอบแทนที่ดีในโลกตลาดหนึ่งในช่วงที่ผ่านมาเลยทีเดียว
ในสถานการณ์เช่นนี้ก็ถือเป็น ‘จุดวัดใจ’ นักลงทุนทั่วโลกอีกครั้งว่า ‘หุ้นสหรัฐ’ นับจากนี้บนปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้าจะยังร้อนแรงเหมือนช่วงที่ผ่านมาหรือไม่ ‘Wealthythai’ มีมุมองที่น่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญมาฝากกัน
“หุ้นสหรัฐ”...ให้น้ำหนัก ‘Slightly Overweight’
“วนา พูลผล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า ถ้าดูจากพื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐถือว่ายังดูดีสุดในกลุ่มตลาดพัฒนาแล้ว เศรษฐกิจไตรมาสที่1/19 ปรับสูงขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ อยู่ที่ 3.2% จากไตรมาสก่อน ซึ่งโดยรวมเศรษฐกิจเติบโตได้ในเกณฑ์ดีแต่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะในภาคการผลิต ล่าสุดทาง ‘ธนาคารกลางสหรัฐ (FED)’ ออกมาส่งสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ย หากสงครามการค้าทวีความรุนแรง การเจรจาทางการค้าที่ไม่สำเร็จจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับกำไรบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐก็ยังเติบโตได้ดีแต่ก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นกัน
“ตลาดหุน้โลกปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ต้นปีถึงปลายดือนเม.ย. ทำให ้Valuation ของหลายภูมภิาคขยับขึ้นมาอยู่ในระดับปานกลาง
ในภาพรวมเราประเมินว่าตลาดหุ้นจะมีความเสี่ยงสูงมากขึ้น จากประเด็นความไม่แน่นอนหลายอย่าง และคาดว่าการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็น 25% จะกระทบต่อผลประกอบการของทั้งสหรัฐและประเทศอื่นๆ”
ในภาพใหญ่เราแนะนำให้ลดน้ำหนัก ‘หุ้น’ ลง และเพิ่ม ‘ตราสารหนี้’ ขึ้น แต่ในสินทรัพย์ที่เป็นหุ้นเรายังชอบ ‘สหรัฐ’ เป็น Slightly Overweight ด้วยพื้นฐานที่ยังดี และกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ยังเติบโตได้เฉลี่ย 7-8% โดยเน้นการเลือกคุณภาพของหุ้นที่ลงทุนเป็นสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด แนะนำให้นักลงทุน ‘กระจายการลงทุน (Asset Allocation)’ โดยลดน้ำหนักของสินทรัพย์เสี่ยงลง เพราะเรากำลังอยู่ในช่วงปลายวงจรเศรษฐกิจขาขึ้น (Late Cycle) แล้ว
“Underweight”…ให้ใช้ความระมัดระวังในการลงทุน
ด้าน “วศิน วณิชย์วรนันต์” ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย จำกัด มองว่า ตลาดโลกโดยรวมเติบโตในอัตราที่ชะลอลง โดยตัวเลขดัชนีชี้วัดภาคการผลิตของประเทศแกนหลักมีแนวโน้มอ่อนแอลง ประกอบกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นทั้งจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ – จีนที่ยังมีความไม่แน่นอน และสถานการณ์ Brexit ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเด็ดขาด (Hard Brexit) ทั้งนี้ ธนาคารกลางประเทศแกนหลักยังคงส่งสัญญาณผ่อนคลายต่อนโยบายการเงินมากขึ้นเพื่อรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจ
“เศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวเพิ่มขึ้น ‘ธนาคารกลางสหรัฐ (FED)’ ยังคงมีแนวโน้มผ่อนคลายทางการเงินและส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ย ซึ่งอาจมีการปรับดอกเบี้ยลงถึง 2 ครั้งในปีนี้ ทั้งนี้ ประเด็นสงครามการค้ากับจีนที่กลับมาตึงเครียดและมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งอาจกระทบต่อผลกำไรบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐได้”
ทั้งนี้มองว่า ‘ความผันผวน’ จะยังคงอยู่กับการลงทุนจากนี้ไปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในการประชุม G-20 ปลายเดือนมิ.ย. นี้ สหรัฐกับจีนจะเจรจาจบลงได้ด้วยดีก็ตาม เพราะเรายังน่าจะเห็นการเจรจาต่อรองปรับเปลี่ยนเงื่อนไขไปมาเป็นระยะๆ ดังนั้น ‘การกระจายการลงทุน (Asset Allocation)’ จึงเป็นหัวใจสำคัญเสมอในการลงทุน
“บริษัทให้น้ำหนัก ‘Underweight’ หุ้นสหรัฐ ในขณะที่ ‘Neutral’ หุ้นยุโรปและจีน แต่การให้น้ำหนักนี้ไม่ได้หมายความว่าลงทุนไม่ได้แต่ประการใด อย่างหุ้นสหรัฐนักลงทุนที่สนใจลงทุน แนะนำให้ใช้ความ ‘ระมัดระวัง’ ในการเข้าลงทุน โดยประเมินสถานการณ์ก่อนตัดสินใจ ส่วนผู้ลงทุนที่เคยลงทุนไว้แล้ว แนะนำให้ปรับลดสัดส่วนการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ต เช่นเดียวกับที่ให้น้ำหนักเป็น ‘Neutral’ นั้น คือ คนที่มีอยู่แล้วก็ไม่แนะนำให้ลงทุนเพิ่มแต่ประการใด”
นี่คือ 2 มุมมอง จาก 2 ค่ายบลจ.ที่มีต่อ ‘หุ้นสหรัฐ’ แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้ง 2 บลจ.เห็นตรงกันอย่างไม่ได้นัดหมาย คือ ‘การกระจายการลงทุน (Asset Allocation)’ ไปในสินทรัพย์ต่างๆ อย่างเหมาะสม เพื่อจะทำให้พอร์ตการลงทุนของคุณสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้อย่างต่อเนื่องในทุกสภาวการณ์นั่นเอง