คอลัมน์ “เส้นเรื่องธุรกิจ” : การเติบโตของมวยรอง “เสียวหมี่”

>>

เดือนนี้ (เม.ย. 2562) สมาร์ทโฟน “เสียวหมี่” มีอายุครบ 9 ขวบปีพอดิบพอดี เป็นธุรกิจในส่วนน้อยของน้อยที่สุด ที่สามารถทำกำไรสุทธิแตะระดับ 4 หมื่นล้านหยวน คิดเป็นเงินไทยตัวเลขกลมๆ ราว 2 แสนล้านบาท “เหลยจวิน” (Lei Jun) ประธานซีอีโอและผู้ก่อตั้ง “เสียวหมี่” บอกว่า บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดของเสียวหมี่ได้ภายในปี 2562 นี้ จากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในทุกกลุ่มธุรกิจในปีที่ผ่านมา


เรียกได้ว่า เสียวหมี่สามารถฝ่าด่าน 18 อรหันต์มนุษย์ทองคำแห่งวัดเส้าหลิน และยกกระถางธูปยักษ์ลายมังกรได้เป็นผลสำเร็จ

 

เพราะฉะนั้นจากนี้ไป ทั่วหล้าปฐพี 4G แห่งยุทธภพ Omni Channel (โลกจริงสมาสกับโลกเสมือน) หรือโลกข้างหน้า 5G ที่อยู่ไม่ไกล จะมีอะไรทำให้เสียวหมี่หวั่นไหวในจิตใจได้อีก


สมัยเรียนมหาวิทยาลัย สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เหลยจวินหายใจเข้าออกเป็น “สตีฟ จ็อบส์” หลังอ่านอัตชีวประวัติของพ่อมดแห่งวงการไอทีคนนี้จบเล่ม 

 

เขาใฝ่ฝันว่า จะสร้างบริษัทที่ประสบความสำเร็จแบบเดียวกับจ็อบส์ให้ได้ in one day

           

และแล้วเมื่อเวลาผ่านไปเพียง 9 ปี เขาก็สามารถผลักดันเสียวหมี่ให้ไปยืนต่อแถวถัดจากแอปเปิลได้ โดยมีเพื่อนร่วมชาติอย่างหัวเหว่ยและออปโปคั่นกลาง เสียวหมี่ชัดเจนในตัวตนว่า ขอเป็นผู้เล่นที่ยืนอยู่ในตำแหน่ง “มวยรอง” ในตลาดสมาร์ทโฟนระดับโลก แต่ในฐานะหนึ่งใน global player หมาดๆ ไม่กี่ปีมานี้ ถือได้ว่าเสียวหมี่เป็นผู้เล่นฝีมือจัดจ้านไม่น้อย

 

ในทุกการแข่งขัน จะมีตลาดด้วยกัน 4 ประเภทคือ

  1. ผู้นำ (Leader)
  2. ผู้ท้าชิง (Challenger)
  3. ผู้ตาม (Follower)
  4. ผู้เล่นเฉพาะกลุ่ม (Niches)

ที่ผ่านมาเสียวหมี่เลือกที่จะเป็นผู้ตามที่ดี ขยันครูพักลักจำผู้นำอย่างเทพแอปเปิล จนโดนฮึ่มๆ เอาบ่อยๆ แต่แบรนด์ที่แปลว่า “ข้าวฟ่าง” รายนี้ หาสนใจไม่ ยังคงเดินหน้า Copy and Development ตัวเอง จนพบกับจุดตัดที่เป็นตัวเองจริงๆ

 

และโลกก็เริ่มจดจำได้จริงๆ ว่านี่คือเสียวหมี่ ไม่ใช่แบรนด์ก๊อปปี้แอปเปิล

 

นักวิชาการรายหนึ่งให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า กลยุทธ์ผู้ตามไม่ได้น่าเกลียดหรือเลวร้ายอะไร ถ้าสินค้าของคุณ ยังไม่สามารถขยับเป็นผู้นำและผู้ท้าชิงได้ ก็จงเป็นผู้ตามที่ดี แต่ก็อย่าหลับหูหลับตาเดินตาม จนกลายเป็นสินค้า Me too เพราะในเมื่อรักจะทำธุรกิจ แต่ไม่ยอมคิดอะไรใหม่เป็นของตัวเอง ก็คงไม่เหมาะนักที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นนักธุรกิจ คงเป็นได้แค่นักฉกฉวยโอกาส

 

จะว่าไปแล้ว เสียวหมี่เหมือนกระจกเงาที่สะท้อนด้านตรงกันข้ามกับแอปเปิล

 

ยิ่งระบบปฏิบัติการแอปเปิลเป็นระบบ “ผู้ลากมากดี” มากเท่าใด ระบบปฏิบัติการเสียวหมี่ก็จะ “ไม่ได้มั่วแต่ทั่วถึง” ไปมากเท่านั้น ในขณะที่แอปเปิลแสดงความเป็นเจ้าของในทุกสิ่งผ่านลิขสิทธิ์ เสียวหมี่กลับเลือกที่จะไม่เกาะกุมอะไรไว้เลย ไม่ได้ถือครองเทคโนโลยี หรือเป็นเจ้าของสิทธิบัตร

 

การถือกำเนิดของเสียวหมี่แต่ละเครื่อง เหมือนประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวที่อบอุ่นและม่วนซื่นกันไปทั้งหมู่บ้าน ขณะที่การถือกำเนิดของไอโฟนแต่ละเครื่อง เหมือนเรากำลังดูซีรีส์ The X-Files ที่หลายครั้งก็มีงงในงง

 

เสียวหมี่มีอะไรที่ไอโฟนไม่มี?

 

คำตอบคือ “ราคาติดดิน” และไอโฟนมีอะไรที่เสียวหมี่ไม่มี? คำตอบคือ “ภาพลักษณ์ติดฟ้า” แต่ทั้งฟ้าและดินก็คือโลกใบเดียวกัน ภายใต้ระบบนิเวศของการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน ที่ถึงจุดหนึ่งยังไงก็ต้องเจอจุดตัดระหว่างราคากับภาพลักษณ์

 

หลายปีมานี้เสียวหมี่พยายามนำเสนอแนวคิดที่ว่า การใช้งานเทคโนโลยีระดับเรือธง ไม่จำเป็นต้องแพง เพื่อให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงการใช้งานได้ และมือถือควรเข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน มากกว่ายกระดับความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้น

 

ความสำเร็จของมวยรองอย่างเสียวหมี่ จึงเป็นอีกบทพิสูจน์การทำธุรกิจไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมใดๆ ที่จำเป็นต้องท้าทายตัวเองกับแนวคิดที่ว่า “ของดีไม่ต้องแพง จะทำให้ธุรกิจมันเวิร์กๆ ได้ไหม?”

 

เรื่องน่ารู้ของเสี่ยวหมี่

 

  • เสียวหมี่ได้ชื่อว่าเป็นแอปเปิลแห่งเมืองจีน ขณะที่เหลยจวินก็ถูกยกย่องว่าเป็นพี่จ็อบส์แดนมังกร
  • ในขณะที่ไอโฟนเป็นเทพแห่งภาพลักษณ์ เสียวหมี่ก็เป็นเทพแห่งสเปก
  • เหลยจวินใช้เวลาเพียง 6 ปีก็สามารถไต่เต้าจากวิศวกรไปเป็นซีอีโอ
  • อีก 4 ปีต่อมา เหลยจวินสามารถทำเงินได้มากถึง 2,400 ล้านบาท จากการขายกิจการเว็บหนังสือให้อเมซอน
  • การเติบโตของเสียวหมี่เหมือนสเปกของสมาร์ทโฟนที่ตัวเองขายคือ นับวันจะประสิทธิภาพมากขึ้น ความจุมากขึ้น ในราคาที่ลดลง
  • หนังรัก เถียนมีมี่ (แปลว่าหวานปานน้ำผึ้ง) ใช้เวลา 3,650 วัน (หรือเท่ากับ 10 ปี) กว่าจะสมหวังในรัก ส่วนสมาร์ทโฟนเสียวหมี่ ใช้เวลา 3,285 วัน (หรือเท่ากับ 9 ปี โดยครบรอบในเดือนเม.ย. 2562) เพียรพัฒนาตัวเองจนเต็มประสิทธิภาพ