Yield Curve หรือส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยระยะยาวและระยะสั้นของสหรัฐฯ นับเป็นสัญญาณสำคัญที่สะท้อนมุมมองของตลาดทุนต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ในภาวะปกติ Yield Curve จะมีลักษณะ “ชันขึ้น” คือพันธบัตรที่มีอายุยาวกว่าจะให้ดอกเบี้ยสูงกว่าพันธบัตรระยะสั้น แต่เมื่อใดที่ Yield Curve มีลักษณะ “Invert” หรือดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาว ต่ำกว่า ระยะสั้น ก็จะเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย
ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็เนื่องมาจากว่าดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะสั้นนั้นจะเคลื่อนไหวตามดอกเบี้ยนโยบายที่ธนาคารกลางเป็นผู้ประกาศ ซึ่งในช่วงปลายวัฏจักรเศรษฐกิจ ธนาคารกลางมักทยอยขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมไม่ให้เศรษฐกิจเติบโตร้อนแรงจนเกินไป ในขณะที่ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวนั้น จะเคลื่อนไหวตาม อุปสงค์และอุปทานในตลาด
ในยามที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงสูงนักลงทุนก็จะมีความต้องการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ให้ผลตอบแทนคงที่ ซึ่งเมื่อนักลงทุนแห่กันซื้อก็จะเป็นการกดดันดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวให้ต่ำลง (ดอกเบี้ยพันธบัตรจะเคลื่อนไหวสวนทางกับราคา) หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ นักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว จึงยอมซื้อพันธบัตรระยะยาวที่ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าระยะสั้น เนื่องจากคาดว่าแบงค์ชาติจะต้องลดดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั่นเอง
การ Invert ของ Yield Curve สามารถพยากรณ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือ Recession ได้อย่างแม่นยำ โดยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา มีการเกิด Recession 7 ครั้งในสหรัฐฯ ซึ่ง Yield Curve ได้ส่งสัญญาณ Invert ก่อนที่จะเกิด Recession ทุกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมา Recession มักจะเกิดขึ้นหลังจาก Yield Curve Invert เป็นเวลา 20 เดือนโดยเฉลี่ย หากเรายึดเอาวันที่ 22 มีนาคม เป็นวันแรกที่ Yield Curve ในสหรัฐฯ Invert นับต่อไปอีก 20 เดือนก็หมายความว่า Recession นั้นอาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2020 ซึ่งก็สอดคล้องกับคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์หลายๆ สำนัก
การ Invert ของ Yield Curve นับเป็นสัญญาณการสิ้นสุดของวัฏจักรการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งก็มักเป็นสัญญาณของการ “จบรอบ” ของตลาดหุ้นขาขึ้น (Bull Market) ด้วยเช่นกัน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าตลาดหุ้นจะพลิกกลับเป็นขาลงในทันทีที่ Yield Curve เริ่ม Invert จากการศึกษาของเราพบว่าตลาดหุ้นมักจะ Peak ก่อนจะเกิด Recession ราว 6-7 เดือน ซึ่งหากเราคาดว่า Recession จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีหน้า ตลาดหุ้นก็น่าจะ Peak ในปลายไตรมาส 1 ถึงต้นไตรมาส 2 ของปีหน้า ซึ่งหากยึดตามความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในอดีต ก็หมายความว่าเรายังมีเวลาอีกเป็นปีในการปรับพอร์ตก่อนที่หุ้นจะพลิกกลับเป็นขาลง (Bear Market)
ตลาดหุ้นมักจะ Peak ก่อนจะเกิด Recession ราว 6-7 เดือน
ดังนั้นนักลงทุนจึงยังไม่ควร Panic และรีบเทขายหุ้นในช่วงนี้ โดยในระยะสั้นเรามองว่าตลาดหุ้นจะยังยืนได้และอาจมี Upside อีกเล็กน้อยช่วงในไตรมาส 2 จากตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวตามการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ประกอบกับข่าวดีจากการตกลงทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ รวมถึงนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกที่กลับมาผ่อนคลายมากขึ้น แต่ในระยะกลางถึงยาวเราแนะนำให้นักลงทุนทยอยขายทำกำไรและปรับพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยงและเตรียมรับมือกับ Recession ครั้งถัดไปที่ต้องมาถึงในไม่ช้า
บทวิเคราะห์เโดย คมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)