ผ่านไตรมาสที่1/19 ไปเป็นที่เรียบร้อย ในท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ตลาดการเงินผันผวน และการเมืองในประเทศยังคงไม่มีความชัดเจน แต่ภาพรวมของธุรกิจ “กองทุนรวม” ในช่วงไตรมาสที่1/19 ยังคงเดินหน้าเติบโตต่อเนื่อง โดยมีสินทรัพย์สุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 5.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% จากสิ้นปี18 ความเคลื่อนไหวของธุรกิจกองทุนรวมในไตรมาสที่1/19 จะเป็นอย่างไร ทีมงาน “Wealthythai” มีเรื่องราวมาฝากกัน
ไตรมาสที่1/19 เงินไหลเข้าสุทธิอุตสาหกรรมกองทุน 3.9 หมื่นล้านบาท
“ชญานี จึงมานนท์” นักวิเคราะห์กองทุน บจ.มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) บอกถึงภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนในช่วงไตรมาสที่1/19 ให้ฟังว่า ในช่วง 3 เดือนแรกอุตสาหกรรมกองทุนมีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 3.9 หมื่นล้านบาท เป็นเงินไหลเข้าสุทธิใน ‘กองทุนตราสารหนี้’ 7.1 หมื่นล้านบาท จะเห็นว่านักลงทุนให้ความสนใจกับกองทุนตราสารหนี้ค่อนข้างมาก โดยไหลเข้าสุทธิสูงสุดที่ 1.1 แสนล้านบาท ไปในกลุ่ม ‘กอง Foreign Investment Bond Fix Term’ ในขณะที่เป็นเงินไหลออกสุทธิจาก ‘กองทุนหุ้น’ 1.4 หมื่นล้านบาท และถือว่าลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อเทียบกับไตรมาส1/18 ที่มีเงินไหลเข้าสูงกว่า 8 หมื่นล้านบาท
“อย่างไรก็ตามหากไม่นับรวมกลุ่ม ‘กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)’ แล้ว กลุ่ม ‘กองทุนหุ้น’ ยังคงมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิ 1.4 พันล้านบาท โดยเป็นเงินไหลเข้าสุทธิกลุ่ม ‘กองหุ้นขนาดใหญ่’ 2.5 พันล้านบาท ในขณะที่ไหลออกสุทธิจากกลุ่ม ‘กองหุ้นขนาดกลาง-เล็ก’ 1.1 พันล้านบาท ส่งผลให้กลุ่ม ‘กองหุ้น’ มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิเป็น 296.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% นับตั้งแต่ต้นปี”
“Term Fund-ตปท.”...เงินไหลเข้าสุทธิมากสุดกว่า 1.1 แสนล้านบาท
ทางด้านปริมาณเงินไหลเข้า/ออกสูงสุดนั้นกลุ่ม ‘Foreign Investment Bond Fix Term’ มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด 1.1 แสนล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่ม ‘กองทุนผสม-Aggressive Allocation’ 2.1 หมื่นล้านบาท และหากดูในภาพรวมจะพบว่ากองทุนตราสารหนี้ที่มีเงินไหลเข้าสุทธินั้นล้วนแต่เป็นกองตราสารหนี้ประเภท ‘Term Fund’ และ ‘กองหุ้นต่างประเทศ’ เช่น Japan Equity, Global Equity และ ASEAN Equity แต่ก็มีปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ไหลเข้ากลุ่มกองหุ้นต่างประเทศ
สำหรับเงินไหลออกสุทธินั้น กลุ่ม ‘กองตราสารหนี้ระยะสั้น (Short Term Bond)’ เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลออกสุทธิสูงสุด 3.7 หมื่นล้านบาท ทำให้มีเงินไหลออกสุทธิ 4 ไตรมาส หรือ 11 เดือนติดต่อกัน รวมเป็นเงินไหลออกสุทธิทั้งสิ้น 1.9 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นว่านักลงทุนยังคงหลีกเลี่ยงการลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่ม ‘Equity Large-Cap’ เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลออกสุทธิสูงสุดในประเภทกองทุนตราสารทุนที่ 3.2 พันล้านบาท ซึ่งเกิดจากเงินค่าขายกองทุน LTF เป็นหลัก
“หากดูสัดส่วนของกลุ่ม ‘กองทุนตราสารหนี้’ ในภาพรวมซึ่งสิ้นไตรมาสที่1/19 อยู่ที่ 2.0 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีประมาณ 4.5% ซึ่งมีระดับใกล้เคียงกับช่วงสิ้นปี จึงเป็นไปได้ว่าเงินที่ไหลออกจาก ‘กองตราสารหนี้ระยะสั้น’ ส่วนใหญ่นั้นจะไหลเข้ามาในกลุ่ม ‘กองตราสารหนี้-Term Fund’ แทน ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี ของกลุ่ม ‘กองตราสารหนี้ระยะสั้น’ ที่ต่ำกว่ากลุ่ม ‘Term Fund-ต่างประเทศ’ อยู่ประมาณ 0.97% ด้วยนั่นเอง”
เงินไหลออกสุทธิ ‘กอง LTF’ 6.4 พันล้านบาท
กลุ่ม ‘กองหุ้นไทย’ (ไม่รวม LTF, RMF) มีมูลค่าทรัพย์สินรวมเกือบ 3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% จากสิ้นปีที่แล้ว โดยกลุ่ม ‘กองหุ้นใหญ่ (Equity Large-Cap)’ (ไม่รวม LTF - RMF) มีมูลค่าทรัพย์สิน 2.6 แสนล้านบาท เติบโต 5.8% และ ‘กองหุ้นขนาดกลาง-เล็ก (Equity Small/Mid-Cap)’ 4.1 หมื่นล้านบาทเติบโต 1.9%
โดยกลุ่ม ‘กอง Equity Large-Cap’ ให้ผลตอบแทนสูงสุด 9.4% และต่ำสุดที่ 0.7% (เฉลี่ย 4.4%) คล้ายกับกลุ่ม ‘กอง Equity Small/Mid-Cap’ (เฉลี่ย 4.8%) ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด 10.0% และต่ำสุด 0.5%
“หากดูในอดีตพบว่าผลตอบแทนกลุ่มหุ้นขนาดกลาง-เล็กจะมีค่าผลตอบแทนสูงสุดที่สูงกว่ากลุ่มหุ้นใหญ่ อย่างไรก็ตามกลุ่มหุ้นขนาดกลาง-เล็ก มีความต่างระหว่างผลตอบแทนต่ำสุด-สูงสุด และ Standard deviation ที่มากกว่ากลุ่ม Equity Large-Cap ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวสะท้อนความเสี่ยงและความผันผวนของการลงทุนที่มากกว่านั่นเอง”
ส่วนของกลุ่ม “กองทุนประหยัดภาษี” นั้น ปัจจุบันมี ‘กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)’ มีจำนวน 92 กอง รวมมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 3.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% จากปี18 และกลุ่ม ‘กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)’ มีจำนวน 212 กอง รวมมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 2.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% แบ่งออกเป็น ‘RMF-Equity’ 1.3 แสนล้านบาท หรือ 48.6% ของมูลค่ากองทุน RMF ทั้งหมด ตามมาด้วย ‘RMF - Fixed Income’ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 7.8 หมื่นล้านบาท หรือ 28.6% ของมูลค่ากองทุน RMF ทั้งหมด
ในไตรมาสแรกนั้น ‘กอง LTF’ มีเงินไหลออกสุทธิ 6.4 พันล้านบาท น้อยกว่าไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วที่ไหลออกสุทธิ 1.4 หมื่นล้านบาท ส่วน ‘กอง RMF’ นั้นมีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.5 พันล้านบาท ซึ่งหลัก ๆ มาจาก ‘RMF– Equity’ 925 ล้านบาท และ ‘RMF – Fixed Income’ 511 ล้านบาท
“ทั้งนี้เราประเมินว่าเม็ดเงินลงทุนสุทธิทั้งปีใน ‘กอง LTF’ ในปีนี้จะใกล้เคียงกับในปีที่ผ่านมา และโดยปกติการขายออกสุทธิในไตรมาสที่1 ของทุกปีถือเป็นเหตุการณ์ปกติของปี ก่อนที่จะทยอยไหลเข้าสุทธิในช่วงที่เหลือของปีโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่4 ของทุกปี เพราะคนที่ลงทุนอยู่แล้วยังไงก็ต้องลงทุน แม้ว่าจะไม่มีการต่อภาษีกอง LTF ในปีหน้า เงินลงทุนบางส่วนก็คงต้องหาการลงทุนใหม่ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบอื่น แต่เชื่อว่าเม็ดเงินก็จะยังอยู่ในระบบกองทุนอยู่นั่นเองไม่ได้หายไปไหน”
จะเห็นได้ว่า... “ธุรกิจกองทุนรวม” ในภาพรวมยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่1/19 ที่ผ่านมา โดยการจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) ยังคงเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จในการลงทุนมากกว่าการพยายามจะไป ‘จับจังหวะตลาด (Market Timing)’ เข้าออกในแต่ละช่วงเวลา