จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานว่าปัจจุบัน บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จํากัด (มหาชน) หรือ BDMS มีขนาดธุรกิจที่มีขนาดใหญ่สูงสุดติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของโลกซึ่ง ณ วันที่ 29 มีนาคม 2562 มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) อยู่ที่ 3.88 แสนบาท อยู่ในอันดับที่ 4 ของโลกเมื่อเปรียบกับอีกจำนวน 203 บริษัททั่วโลกที่อยู่ในหมวดธุรกิจบริการทางการแพทย์ แต่ล่าสุด ณ วันที่ 19 เม.ย. 2562 มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของ BDMS ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.03 แสนล้านบาท
หลังจากเริ่มเปิดดําเนินงาน “โรงพยาบาล กรุงเทพ” ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2515 นําหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2534 ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ของประเทศ โดยมีโรงพยาบาลเครือข่ายในไทยและกัมพูชา จํานวนรวม 46 แห่ง (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561) ดำเนินการภายใต้ชื่อโรงพยาบาล 6 กลุ่ม คือ
- กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ
- กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช
- โรงพยาบาลบี เอ็น เอช
- กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท
- กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล
- กลุ่มโรงพยาบาลรอยัล
นอกจากนี้เครือข่ายของ BDMS ยังรวมถึงธุรกิจที่ให้การสนับสนุนด้านการแพทย์ ได้แก่ ธุรกิจห้องปฏิบัติการทางการแพทย์, ธุรกิจผลิตยา, ธุรกิจผลิตนํ้าเกลือและธุรกิจร้านขายยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น
การขึ้นติดท็อป 5 ของโลกของ BDMS ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเพราะหากติดตามพัฒนาการธุรกิจมาโดยตลอดจะพบว่ามักเห็นขยายการลงทุนใหม่ๆ อยู่เสมอ ทั้งลงทุนพัฒนาโรงพยาบาลขึ้นเอง หรือใช้กลยุทธ์เข้าซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A)
โดยเฉพาะในปี 2561 ที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการที่สำคัญ จากการขยายโรงพยาบาลเครือข่ายและธุรกิจสนับสนุนด้านการแพทย์ โดย BDMS ได้เปิด "โรงพยาบาลชีวา ทรานสิชั่นนัล แคร์” (Chiva Transitional Care Hospital) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งที่ 46 ของเครือ BDMS เพื่อให้บริการทางการแพทย์ในการดูแลสุขภาพระยะฟื้นฟู สําหรับผู้ป่วยสูงอายุที่ต้องการการ ฟื้นฟูสุขภาพ ผู้ป่วยหลังผ่าตัดและต้องฟื้นฟูทํากายภาพบําบัด และผู้ป่วยที่เป็นโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ โดยมีทีม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุและเวชศาสตร์ฟื้นฟู พยาบาล นักกายภาพบําบัด ให้การดูแลรักษาอย่าง ต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ ภาวะโภชนาการ และเพื่อพัฒนาศักยภาพในการทํากิจกรรมต่าง ๆ โดยมุ่งหวังให้ผู้ป่วย กลับไปสู่สังคมได้
นอกจากนี้ได้ตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ ชื่อ บริษัท บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท จํากัด เพื่อสนับสนุนการดําเนินธุรกิจ BDMS Wellness Clinic ให้ครบวงจร โดยมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท บริษัทเป็นผู้ถือหุ้นสัดส่วน 100% ซึ่งบริษัทย่อยแห่งนี้ได้ร่วมมือกับ MOVENPICK Hotel & Resort เพื่อบริหารจัดการ Wellness Resort ภายในชื่อ “Movenpick BDMS Wellness Resort” ทำโรงแรมขนาดจำนวน 290 ห้องจะสร้างเสร็จเริ่มเปิดให้บริการในเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน ปีนี้ โดยโครงการนี้เป็นการรีแบรนด์ "โรงแรมปาร์คนายเลิศ" หลังจาก BDMS เข้าซื้อที่ดินโครงการ ปาร์คนายเลิศ ในช่วงปลายปี 2559 ซึ่งตั้งอยู่บนทำเลทองที่ถนนวิทยุ ประมาณ 15 ไร่ ประกอบด้วยโรงแรมสวิส โฮเต็ล ปาร์คนายเลิศ และตัวอาคาร มูลค่ารวม 10,800 ล้านบาท
การลงทุนใน Movenpick BDMS Wellness Resort มีลักษณะให้บริการเป็นศูนย์สุขภาพและเวลเนสระดับสากล มีบริการห้องอาหารไทยและนานาชาติ รวมไปถึงอาหารที่ตอบโจทย์เทรนด์คนรักสุขภาพ และ โปรแกรมเวลเนสที่ออกแบบเฉพาะบุคคล รวมถึงรองรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการดูแลสุขภาพป้องกันก่อนการเจ็บป่วย
อีกทั้งสามารถรองรับผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาจากโรงพยาบาลแล้วต้องการพักฟื้นซึ่งปัจจุบัน BDMS มีศูนย์แห่งความเป็นเลิศ (Centers of Excellence) จำนวน 10 แห่งที่ให้บริการรักษาโรคที่มีความยากและซับซ้อนซึ่งมีลูกค้าชาวต่างชาตินิยมเดินทางเข้ารักษาตัวจำนวนมาก ดังนั้นธุรกิจโรงแรมที่เป็นศูนย์สุขภาพและเวลเนส ไม่เพียงจะเป็นแหล่งรายได้ใหม่เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นฐานธุรกิจสำคัญที่จะช่วยสร้าง Synergy กับธุรกิจบริการทางการแพทย์หรือโรงพยาบาลด้วยเพราะสามารถเชื่อมต่อเครือข่ายบริการได้อย่างครบวงจรในกลุ่มของ BDMS
ทั้งนี้ ถือเป็นการขยายฐานไปสู่ธุรกิจใหม่ คือ กลุ่มโรงแรมและภาคการท่องเที่ยวที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการสนับสนุนผลักดันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศ เนื่องจากเป็นหนึ่งของเครื่องจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของจีดีพี ดังนั้นนอกเหนือจากเข้ามาใช้บริการในกลุ่ม BDMS แล้วยังได้ประโยชน์จากการที่ประเทศไทยยังเป็นอีกจุดของเป้าหมายการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย
อีกกลยุทธ์ธุรกิจคือ การหาพันธมิตรเพื่อขยายตลาดไปต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่อย่างจีน โดย BDMS ได้ลงนามสัญญาความร่วมมือกับ Ping An Good Doctor (PAGD) ซึ่งให้บริการด้านการแพทย์และดูแลสุขภาพออนไลน์ของจีนผ่าน Ping An Good Doctor Application ที่มีจำนวนผู้ใช้งานในจีนมากกว่า 200 ล้านคน ซึ่งคาดว่าในเดือน พฤษภาคม ปีนี้ จะมีแพ็คเกจการรักษาพยาบาลของ BDMS นำไปขายบนเว็บไซต์และ Application ของ PAGD อีกทั้งจะพาลูกค้าจากจีนมารักษา Centers of Excellence ของ BDMS ได้
สำหรับ ธุรกิจหลักกลุ่มโรงพยาบาล BDMS ยังเดินลงทุนขยายเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลในทั้งปีนี้จะเพิ่มเป็น 48 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงราย ขนาด 80 เตียงตั้งใน จ.เชียงราย ซึ่งได้เปิดบริการเป็นแห่งที่ 47 แล้วเมื่อต้นปีนี้ที่ผ่านมากับ โครงการโรงพยาบาล Bangkok International Hospital ขนาด 175 เตียงซึ่งตั้งอยู่ใกล้โรงพยาบาลกรุงเทพสำนักงานใหญ่ จะเริ่มเปิดบริการในเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน ของปีนี้เพื่อให้รองการรักษาลูกค้าต่างชาติได้เพิ่มขึ้น ด้วยแหล่งที่มาของรายได้ BDMS ปัจจุบันมาจากคนไข้ชาวต่างชาติสัดส่วน 30% และ 70% เป็นคนไข้ชาวไทย
ส่วนในอนาคตมีแผนจะพัฒนาการรักษาพยาบาลของ โรงพยาบาล Bangkok International Hospital ไปสู่ Smart Hospital ซึ่งจะทำการรักษาโรคเฉพาะทางสมอง, กระดูก, หัวใจ เป็นต้น และในปี 2564 จะมีโรงพยาบาลในกลุ่มทั้งหมดเปิดให้บริการครบจำนวน 50 แห่ง โดยในปีนี้ตั้งงบลงทุนรวม (CAPEX) สัดส่วนประมาณ 8-10% ของรายได้ต่อปีที่คาดว่าจะทำได้ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ขยายธุรกิจ ทั้งการลงทุนพัฒนาโรงพยาบาลตามแผน, ซื้อเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ใหม่, เพิ่มวอร์ดเขยายการให้บริการรักษาพยาบาล
กลยุทธ์ขยายสู่ธุรกิจใหม่ๆ ยังมีต่อเนื่อง BDMS ยังก้าวข้ามเข้าไปในธุรกิจประกันที่เป็นตลาดที่กำลังจะเติบโตสูงเพราะผู้คนสมัยใหม่เริ่มให้ความนิยม และเห็นประโยชน์ของความสำคัญในการทำประกันชีวิตกับประกันสุขภาพมากขึ้นซึ่งแน่นอนว่ากำลังจะเป็น อีกขาธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามา Synergy เติมเต็มพอร์ตธุรกิจในกลุ่มโรงพยาบาลกับโรงแรมได้อีกด้วย
โดยในปี 2561 ตั้งย่อยใหม่คือ บริษัท กรุงเทพพรีเมียร์ นายหน้าประกันชีวิต จํากัด จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัทกรุงเทพพรีเมียร์ นายหน้าประกันภัย จํากัด” โดยขยายขอบเขตการดําเนินธุรกิจจากเดิมซึ่งดําเนินการเฉพาะใน ส่วนนายหน้าประกันชีวิตเพียงอย่างเดียว ไปสู่การเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยด้วย
จากมุมมองผู้บริหารที่เห็นโอกาสเติบโตของแนวโน้มคนไทยที่กำลังให้ความสำคัญในการทำประกันสุขภาพมากขึ้นโดยเฉพาะในเขตต่างจังหวัดซึ่งจากศึกษาข้อมูลพบว่าคนไทยมีการทำประกันสุขภาพเติบโตเฉลี่ยประมาณ 15% ต่อปี ดังนั้น BDMS ซึ่งเป็นผู้ประกอบโรงพยาบาลที่มีเครือข่ายจำนวน 50 แห่งมากที่สุดในประเทศจะรับประโยชน์จากผู้ทำประกันสุขภาพ
ในปีนี้ BDMS คาดว่าสัดส่วนของกลุ่มคนไข้ที่มีการทำประกันสุขภาพจะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 30-35% ของยอดขายรวมของบริษัท จากปี 2561 ที่ผ่านมามีสัดส่วน 29% ทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากช่วง 4 ปีก่อนหน้านี้ที่มีสัดส่วน 14%ของยอดขายรวมของบริษัท
เมื่อวิเคราะห์กลยุทธ์การลงทุนของ BDMS จะเห็นว่าไม่ได้จำกัดตัวเองเฉพาะอยู่ในธุรกิจโรงพยาบาลเท่านั้น แม้ธุรกิจนี้จะมีขนาดใหญ่ขึ้นแท่นติดอันดับโลก แต่ยังแสวงหาสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ๆ ตลอดเวลา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนให้ BDMS ขึ้นท็อป 5 ของโลก อีกตัวเลขที่ช่วยยืนยันคือ ผลประกอบการโดยรายได้ช่วง 4 ปีที่ผ่านมาที่มีการเติบโตขึ้นทุกปี
- ปี 2558 มีรายได้ 65,188.32 ล้านบาท
- ปี 2559 มีรายได้ 70,496.17 ล้านบาท
- ปี 2560 มีรายได้ 77,136.78 ล้านบาท
- ปี 2561 มีรายได้ 81,096.62 ล้านบาท
ขณะที่มีกำไรสุทธิ
- ปี 2558 มีกำไรสุทธิ 7,917.47 ล้านบาท
- ปี 2559 มีกำไรสุทธิ 8,386.48 ล้านบาท
- ปี 2560 มีกำไรสุทธิ 10,215.74 ล้านบาท
- และ ปี 2561 มีกำไรสุทธิ 9,191.46 ล้านบาท
ซึ่งลดลงจากปี 2560 เพราะในปี 2560 บริษัทมีกำไรพิเศษจากการขายหุ้นบางส่วนใน บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎ์ จำกัด(มหาชน) หรือ BH จำนวน 2,195 ล้านบาท
ด้านมุมมองนักวิเคราะห์มีความเห็นดังนี้
บล.ฟินันเซีย ไซรัส แนะนำ ซื้อ BDMS ให้ราคาเป้าหมาย 30 บาท คาดว่ากำไรไตรมาส 1/62 จะก้าวกระโดดเพราะมีกำไรขายหุ้น RAM 5.37 พันล้านบาท ช่วยกลบการเงินสำรองพนักงานเกษียณกว่า 500 ล้านบาทได้ ซึ่งคาดว่ากำไรปกติปีนี้จะเติบโต 10% เป็น 1.09 หมื่นล้านบาท จากการเติบโตของโรงพยาบาลในเครือ ขณะที่ผู้ป่วยต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งจะเปิดโรงพยาบาลใหม่อีก 2 แห่ง และคาด Wellness center จะขาดทุนราว 100 ล้านบาท
บล.โนมูระ พัฒนสิน แนะนำ BDMS มีมุมมอง NEUTRAL ให้ราคาเป้าหมาย 25.80 บาท คาดไตรมาส 1/62 BDMS มีกำไรสุทธิ 8,785ล้านบาท เติบโต 201% จากช่วงเดียวปีก่อน หรือเติบโต 551% จากไตรมาสก่อนหน้า เติบโตเด่นจากบันทึกกำไรขายหุ้น RAM คาดกำไรฟื้นตัวตามการเติบโตของรายได้จากกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นน้อยกว่า
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) แนะนำ ซื้อ BDMS ให้ราคาเหมาะสม 27.40 บาท ด้วยเหตุผล 1) แนวโน้มกำไรไตรมาส 1/62 คาดโดดเด่นจากการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้น RAM 2) ปี 2562 เรามองว่า BDMS ยังสามารถเก็บเกี่ยวผลกำไรจากการลงทุนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ 2 พร้อมแผนเจาะกลุ่มลูกค้ำประกัน และขยายตลาดลูกค้าจีนหนุนกำไรปกติปีนี้โตอีก 11%YoY ขณะที่ 3) คาดว่าบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการขายหุ้น RAM ไปชำระหนี้ ช่วยให้สถานะการเงินดีขึ้น 4) ล่าสุด MSCI มีการปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นไทย ซึ่ง BDMS เป็นหนึ่งในหุ้นที่ได้รับประโยชน์มากสุด