ไทยจะไปต่อหรือจะหยุด สหรัฐขู่พันธมิตรในอาเซียนเลิกใช้หัวเว่ย

>>

เมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ มีข่าวสำคัญข่าวหนึ่งที่สื่อในไทยมองข้าม คือความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงทางไซเบอร์ของสหรัฐ ที่ขู่ว่าสหรัฐจะประเมินความเสี่ยงในการแบ่งปันข้อมูลกับประเทศพันธมิตรที่ใชอุปกรณ์ที่ผลิตโดยหัวเว่ยของจีน


โรเบิร์ต สเตรเยอร์ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายไซเบอร์, การสื่อสารระหว่างประเทศ และนโยบายข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของสหรัฐที่จะต้องเข้ามาจัดการกับหัวเว่ย หรือบริษัทไม่น่าเชื่อถือรายอื่นๆ ที่เป็นความเสี่ยงต่อเครือข่าย 5G


สเตรเยอร์ กล่าวว่า “หากประเทศอื่นแทรกแซง (สหรัฐ) และปล่อยให้บริษัทที่ไม่น่าไว้วางใจมาเป็นผู้วางรากฐานและให้บริการเครือข่าย 5G เราก็จะต้องประเมินความสามารถในการแบ่งปันข้อมูล และการเชื่อมต่อเครือข่ายกับพวกเขาอย่างที่ทำกันอยู่ทุกนี้”


เจ้าหน้าที่ระดับสูงรายนี้ยังอ้างว่า สหรัฐไม่เห็นความแตกต่างใดๆ ระหว่างอุปกรณ์หลักและอุปกรณ์ที่ไม่ใช่ส่วนหลักของเครือข่าย 5G ของหัวเว่ย ซึ่งกำลังเป็นประเด็นเรื่องความมั่นคงอยู่ในขณะนี้ หมายความว่าไม่ว่ามหามิตรของสหรัฐจะใช้อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือธรรมดาๆ ของหัวเว่ย หรือจะใช้บริการ 5G ก็ตาม สหรัฐก็จะมองว่าเป็นพวกที่คบไม่ได้ทั้งสิ้น


แม้ว่า สเตรเยอร์จะไม่ได้เอ่ยชื่อประเทศไหนออกมาตรงๆ แต่ South China Morning Post ชี้ว่า มหามิตรของสหรัฐที่น่าจะเข้าข่ายก็คือ ไทยกับฟิลิปปินส์ เพราะก่อนที่จะได้คำตอบนี้ออกมา ผู้สื่อข่าว South China Morning Post ตั้งคำถามเกี่ยวกับการแชร์ข้อมูลกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คำตอบของสเตรเยอร์จึงหมายถึง 2 ประเทศนี้เท่านั้นจะเป็นอื่นไปไม่ได้


ที่ผ่านมา สหรัฐกับพันธมิตรข่าวกรองทั้ง 5 หรือ Five Eyes อันประกอบไปด้วย สหรัฐ, แคนาดา, นิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย และอังกฤษ พยายามที่จะขัดขวางหัวเว่ยมาโดยตลอด โดยชี้ว่าเทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ยเป็นอันตรายต่อความมั่นคง เพราะสามารถเปิดช่องให้รัฐบาลจีนสอดแนมข้อมูลผู้ใช้ได้


ส่วนพันธมิตรในเอเชียของสหรัฐ คือ เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์ และไทยมีปฏิกิริยาต่างๆ กัน ในเวลานี้ญี่ปุ่นไม่ยอมให้หัวเว่ยเข้ามายุ่มย่ามแล้ว ส่วนเกาหลีใต้อาจจะสั่งแบน เหลือแต่ไทยกับฟิลิปปินส์เท่านั้นที่ยังคลุมเครือ


เมื่อสัปดาห์ที่แล้วจากการเปิดเผยโดยแหล่งข่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ ทำให้ทราบว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติของอังกฤษได้ตัดสินใจที่จะขัดขวางไม่ให้มีการใช้งานเทคโนโลยีหลักในเครือข่าย 5G จากหัวเว่ย แต่ยังอนุญาตให้ใช้งานอุปกรณ์อื่นๆ ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งจากข้อมูลลับจะเห็นว่า แม้แต่พันธมิตรใกล้ชิด คือกลุ่ม Five Eyes ก็ยังยอมให้ใช้อุปกรณ์อื่นๆ ของหัวเว่ยได้ แต่ทำไมสหรัฐจึงขู่ที่จะไม่ให้พันธมิตรระดับลูกไล่ เช่น ไทยกับฟิลิปปินส์อย่าใช้ผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยทั้งหมด?


แต่ปรากฎว่าหลังจากแหล่งข่าวแย้มพรายเรื่องนี้กับสื่อ นายกรัฐมนตรีอังกฤษสั่งเด้งรัฐมนตรีกลาโหมแทบจะในทันที ฐานปล่อยให้ข้อมูลดังกล่าวหลุดออกมา ซึ่งโอกาสเป็นไปได้คืออังกฤษถูกสหรัฐกดดันให้เลิกใช้หัวเว่ยทั้งหมด ไม่อย่างนั้นจะถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติสองมาตรฐานกับพันธมิตรรายอื่น


คราวนี้แรงกดดันมาตกอยู่กับประเทศที่ยังไม่แสดงท่าทีใดๆ อย่างไทย ไม่ว่าจะเป็นท่าทีเกี่ยวกับการใช้หัวเว่ยทั้งอุปกรณ์พื้นๆ ไปจนถึงอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับหัวใจหลัก อย่าง 5G


ทำไมจึงเหลือแค่ไทย? เพราะในการประชุม Belt and Road ที่ปักกิ่ง รามอน โลเปซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของฟิลิปปินส์แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่สนใจกับการที่สหรัฐตีปี๊บกล่าวหาหัวเว่ยเรื่องความมั่นคง ท่าทีของฟิลิปปินส์ทำให้สหรัฐต้องเต้นแน่นอน เพราะประเทศนี้เป็นมหามิตรสำคัญที่เคยเป็นทั้งอดีตอาณานิคม และอดีตที่ตั้งฐานทัพ แต่ในระยะหลังผู้นำฟิลิปปินส์เลิกเผชิญหน้ากับจีน หันมาจูบปากกันจนลืมไปว่าเคยทะเลาะกันเรื่องน่านน้ำทะเลจีนใต้


สหรัฐรู้ตัวว่ากำลังสูญเสียที่มั่นสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากปล่อยให้ประเทศเหล่านี้ใช้หัวเว่ย ก็เท่ากับถูกถอนหมุดด้านความมั่นคงออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ - ถ้าเชื่อตามที่สหรัฐประโคมว่า 5G ของจีนเปิดช่องให้ล้วงข้อมูลได้จริง


คำถามก็คือหัวเว่ยล้วงข้อมูลได้จริงหรือไม่? หัวเว่ยบอกว่าไม่ แต่มีข่าวออกมาเป็นระยะเรื่องตรวจพบการล้วงข้อมูล


หนึ่งวันหลังจากการสัมภาษณ์โรเบิร์ต สเตรเยอร์โดย South China Morning Post สำนัก Bloomberg ได้รับข้อมูลจาก Vodafone บริษัทโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 9 ของโลกและใหญ่ที่สุดในยุโรป เผยว่า พบช่องโหว่ในอุปกรณ์ที่ผลิตโดยหัวเว่ยในธุรกิจของ Vodafone ในประเทศอิตาลี และเป็นช่องโหว่ที่อยู่ในระบบมานานหลายปีแล้ว แต่ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขเป็นที่เรียบร้อย


ปัญหาที่ว่านี้คือ มีช่องทางเข้าระบบหลังบ้านของซอฟต์แวร์ที่อนุญาตให้หัวเว่ยสามารถเข้าถึงเครือข่ายในอิตาลี ที่มีผู้ใช้งานทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจหลายล้านราย เมื่อพบปัญหาแล้ว Vodafone จึงสั่งให้หัวเว่ยทำการแก้ไขด้วยการปิดช่องทางเข้าถึงในเราเตอร์ เมื่อปี 2011 และให้หัวเว่ยรับประกันว่าจะไม่เกิดเรื่องแบบนี้อีก แต่จากการตรวจสอบต่อมาก็ยังพบว่าระบบหลังบ้านยังเป็นปัญหาอีก


แม้จะมีข้อมูลลับสุดยอดหลุดออกมา แต่กลับกลายเป็นว่า Vodafone ปกป้องหัวเว่ยจากการถูกกวาดล้างโดยสหรัฐแม้ว่าบริษัทนี้จะเป็นกิจการของอังกฤษ ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Five Eyes และหลังจากนั้นเพียงวันเดียว Vodafone ยังปฏิเสธว่าหัวเว่ยเป็นภัยคุกคามต่อการให้บริการในอิตาลีอีกด้วย


อย่างไรก็ตาม ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ช่องโหว่ในระบบหลังบ้านเท่านั้น แม้หัวเว่ยจะแก้ไขให้แล้ว และ Vodafone อาจจะยินดีเป็นคู่ค้าทางธุรกิจต่อไป (ถึงขั้นปกป้องให้ด้วยซ้ำ) แต่ปัญหาทางเทคนิคก็เรื่องหนึ่ง ยังมีอีกประเด็นที่ต้องระวังกันด้วย คือตัวบทกฎหมายของจีน อย่างที่ สเตรเยอร์ ชี้ว่าความเสี่ยงมาจากกฎหมายข่าวกรองแห่งชาติของจีน ซึ่งอาจบังคับให้บริษัทต่างๆ มอบข้อมูลทางธุรกิจให้กับรัฐบาลจีนแต่รัฐบาลจีนปฏิเสธมาหลายครั้งแล้วว่า จะไม่บังคับให้หัวเว่ยส่งมอบข้อมูลให้


กลับมาที่ไทย ในเวลานี้ประเทศเรายังไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ย แต่จากข้อมูลของ Bloomberg ได้ระบุไปแล้วว่า ไทยจุดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ "อาจจะแบน" หัวเว่ย เช่นเดียวกับอาร์เจนตินา, ออสเตรีย, บราซิล, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ฟิลิปปินส์, รัสเซีย, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, สเปน และสวิตเซอร์แลนด์


แต่ Bloomberg ไม่ได้ระบุว่า นำข้อมูลมาจากไหน ส่วนนิตยสาร Fortune กลับรายงานว่าไทยกับมาเลเซียจะใช้เทคโนโลยี 5G ของหัวเหว่ยทั้งๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด


ที่มา : โดย ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์