“บลจ.ทิสโก้”...เกาะแนวโน้มคนนิยมกินดีอยู่ดี ส่ง ‘กอง TISCOWB’ ลุยหุ้นไทย Well-being อิงดัชนีใหม่ ‘SETWB’ ที่สะท้อนความเคลื่อนไหวหุ้นไทยใน 7 หมวดธุรกิจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคบริการและการเกษตร ที่เป็นจุดแข็งของบริษัทจดทะเบียนในไทย ต่างชาติสนใจ เปิด IPO 7-15 พ.ค. นี้
นายสาห์รัช ชัฎสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาด และที่ปรึกษาการลงทุน บลจ.ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ช่วงเดือนเม.ย. ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดทำ ‘ดัชนี SET Well-being (SETWB)’ เพื่อสะท้อนการเคลื่อนไหวราคาหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ มีสภาพคล่องการซื้อขายสูง และมีกำไรติดต่อกัน 2 ปีจาก 3 ปีจำนวน 30 บริษัทใน 7 หมวดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการและการเกษตร ซึ่งเป็นหุ้นที่มีศักยภาพในการแข่งขัน และหลายบริษัทเป็นหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ
บริษัทเล็งเห็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่นักลงทุน จึงนำเสนอ ‘กองทุนเปิด ทิสโก้ หุ้นไทย Well-being (TISCOWB)’ กองทุนรวมหุ้นความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงสูง) เน้นลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี SETWB โดดเด่นด้วยกลยุทธ์การลงทุนแบบเชิงรุก ช่วยนักลงทุนคัดเลือกหุ้นรายตัวที่มีปัจจัยพื้นฐานดี จากบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการตอบโจทย์มาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น และเกี่ยวเนื่องกับความกินดีอยู่ดีของคน
( นายสาห์รัช ชัฎสุวรรณ )
ขณะเดียวกันยังเป็นบริษัทที่มีศักยภาพในการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก รวมถึงมีราคาที่เหมาะสม พร้อมปรับสัดส่วนการลงทุนของหุ้นแต่ละบริษัทตามสภาวะเศรษฐกิจ และปัจจัยเฉพาะในแต่ละวงจรเศรษฐกิจ เปิดเสนอขายครั้งแรก (IPO) ตั้งแต่วันที่ 7 - 15 พ.ค. 19
“ในอนาคตคนไทยจะอยู่ดีกินดีมากขึ้นจากรายได้ที่สูงขึ้น เห็นได้จากรายได้โดยเฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือน รายจังหวัด พ.ศ.2002-2017 จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่พบว่ารายได้ของครัวเรือนในแต่ละจังหวัดเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี ส่งผลให้มีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยและมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดี”
นายสาห์รัช ยังกล่าวอีกว่า ช่วงนี้ยังเป็นจังหวะที่เงินลงทุนต่างชาติจะไหลกลับเข้ามาอีกครั้ง จากปัจจัยการเมืองที่เริ่มชัดเจนขึ้นและแนวโน้มเศรษฐกิจที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง จากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของรัฐบาลชุดใหม่ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีที่จะเข้าไปในลงทุนในกลุ่มที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากสัดส่วนภาคบริการต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ในประเทศไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 50% ถือว่าเป็นระดับที่ยังไม่มากนักหากเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ที่มีสัดส่วนภาคบริการต่อ GDP สูงถึงประมาณ 70-80% อีกทั้งยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เพราะมีสัดส่วนการจ้างงานอยู่ในระดับสูง ซึ่งช่วยสร้างรายได้ ยกระดับชีวิตคนไทยให้กินดีอยู่ดี และภาครัฐให้การส่งเสริมอยู่เสมอ