นับตั้งแต่ที่ “สถาบันไทยพัฒน์” ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มพัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจ ได้เปิดเผยรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG จำนวน 100 บริษัท หรือ ที่เรียกว่ากลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 เป็นครั้งแรกในปี 2015 ได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบัน หน่วยงาน ‘ESG Rating’ ได้ Spin-off ออกมาตั้งเป็น ‘บจ.อีเอสจี เรตติ้ง’ เพื่อให้บริการด้านข้อมูลการประเมินและดัชนีการลงทุนที่ยั่งยืนอย่างเต็มรูปแบบ
จากความต้องการของผู้ลงทุนที่มีต่อข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงข้อมูลทางการเงิน ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงผลประกอบการในอดีต ผู้ลงทุนได้ให้ความสำคัญของข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คำว่า ‘ESG’ ซึ่งย่อมาจาก ‘Environmental, Social, and Governance’ จึงเกิดขึ้นในแวดวงตลาดทุน เพื่ออธิบายถึงประเด็นด้าน ‘สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล’ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน
“Financial Times” ได้บัญญัติความหมายของ ESG ว่า...เป็นคำที่ใช้ในตลาดทุนโดยผู้ลงทุนเพื่อใช้ประเมินการดำเนินงานของบริษัท และทำให้ล่วงรู้ถึงผลประกอบการในอนาคตของบริษัท ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการประกอบการดังกล่าวนี้ มาจากบทบาทของบริษัทที่มีต่อเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ภายใต้บริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน
‘สถาบันไทยพัฒน์’ ได้จัดตั้งหน่วยงาน ESG Rating ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะสนับสนุนการพัฒนาระดับการเปิดเผยข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไป รวมทั้งจัดทำช่องทางการเผยแพร่ข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินการได้ดีให้แก่ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มโอกาสการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนจากกลุ่มผู้ลงทุนที่ใช้เกณฑ์ ESG เพื่อสร้างผลตอบแทนทางการเงินที่น่าพอใจในระยะยาว พร้อมๆ กับการสร้างผลกระทบทางสังคมในเชิงบวก
‘สถาบันไทยพัฒน์’ ในฐานะองค์กรร่วมดำเนินงานในความริเริ่มสากลด้านการประเมินความยั่งยืน ของ “Global Initiative for Sustainability Ratings (GISR)” ได้นำหลักการแนวทางในมาตรฐานการประเมินความยั่งยืนของ GISR มาใช้พัฒนาระเบียบวิธีการประเมิน ทั้งในด้านกระบวนการและด้านเนื้อหา ให้เป็นไปตามมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
“ทั้งนี้ ผู้บริหารของสถาบันไทยพัฒน์ ยังได้เข้าร่วมใน Expert Advisors Council (EAC) ของ GISR ซึ่งทำหน้าที่ให้คำแนะนำในเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาตัวชี้วัด บริบทความยั่งยืน และสารัตถภาพให้แก่คณะกรรมาธิการด้านเทคนิคและฝ่ายเลขานุการของ GISR ต่อการพัฒนามาตรฐานการประเมินความยั่งยืนด้วย”
บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไป ที่ต้องการพัฒนาระดับการเปิดเผยข้อมูล ESG หรือต้องการจัดทำข้อมูล ESG เพื่อการเผยแพร่ให้แก่ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ สามารถติดต่อขอรับข้อมูลและคำแนะนำได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป