ในขณะที่หนังสือพิมพ์กำลังตกต่ำสุดๆ ทําไมบริษัทอย่างบางกอกโพสต์ จึงยังน่าสนใจ?

>>

ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาทําลายธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ทั่วโลกในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการปรับตัวของสื่อต่างๆ เพื่อจะอยู่รอดในยุคดิจิตอลที่ทุกคนรู้จักกันดีนั้น มาถึงวันนี้สื่อดั้งเดิมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทีวี หนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร ก็ยังคงมีการทยอยปิดตัวลงไปเรื่อยๆ และเริ่มปิดกันมากขึ้นในระยะนี้


แม้ว่าสื่อต่างๆ ทั้งโลกและในบ้านเราต่างหาทางเอาตัวรอด แต่แน่นอนการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยของอินเทอร์เน็ตและดิจิตอลของแต่ละเจ้ามีทั้งเร็วและช้า มากและน้อย ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของเจ้าของและผู้บริหาร ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วบริษัทบางกอกโพสต์ก็อยู่ในพวกช้าและน้อย ถ้าเทียบกับเจ้าอื่นๆ ในเมืองไทย


ช่วงที่เริ่มมีการคุกคามจากสื่อดิจิตอลในรูปแบบของสื่อออนไลน์ในรูปแบบของอินเทอร์เน็ตสื่อไทย แทบจะไม่ได้ปรับตัวมากนักจนกระทั่งมาถึงยุคของมือถือโดยเฉพาะช่วงหลังที่บ้านเราเริ่มใช้ความเร็วระดับ 3G 4G เจ้าของสื่อจึงเริ่มเห็นผลกระทบอย่างชัดเจนมากๆ เพราะพฤติกรรมของคนเริ่มเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่หันไปใช้ทั้งไลน์ เฟซบุ๊ค ยูทูป อินสตาแกรมกันอย่างกว้างขวาง ทําให้ยอดขายหนังสือพิมพ์และโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์และทีวีลดลง


RS เป็นบริษัทนึงที่ถือว่าปรับตัวได้เร็วกว่า Grammy เฮียฮ้อแกสั่งปิดโรงงานแผ่นเพลงซีดีก่อนเลย แถมตอนหลังยังเพิ่มธุรกิจเครื่องสําอางค์ขายผ่านช่องทีวีเข้าไปอีก ในวงการสิ่งพิมพ์ค่ายมติชนก็ถือว่าปรับตัวได้เร็วมากเช่นกัน โดยยุบโรงพิมพ์ของตัวเองแล้วไปจ้างคนอื่นพิมพ์ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ทํากันทั่วโลกพร้อมกับพัฒนาหนังสือพิมพ์ข่าวสดให้ไปทางออนไลน์ จนกระทั่งตอนนี้ข่าวสดออนไลน์กลายเป็นผู้นำด้านข่าวออนไลน์ไปเรียบร้อยแล้ว

 

ช้าเพราะไม่ทําอะไร


แต่ที่บางกอกโพสต์หรือที่รู้กันในนาม บริษัทโพสต์พับลิชชิ่งในสมัยโน้น ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทบางกอกโพสต์เมื่อไม่นานมานี้ มีการปรับตัวน้อยมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จนผลประกอบการแย่ลงไปเรื่อยๆ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในวงการธุรกิจสื่อ และแม้จะมีการปรับเปลี่ยนทีมผู้บริหารครั้งใหญ่เมื่อสองปีที่ผ่านมาสถานการณ์ก็ดูจะไม่ดีขึ้นมากนัก เพราะก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เป็นรูปธรรมนอกจากความพยายามในการลดต้นทุน


จนกระทั่งในที่สุดหลังจากทู่ซี้มานานก็ตัดสินใจปิดสื่อสิ่งพิมพ์หลักสองฉบับคือ โพสต์ทูเดย์และหนังสือพิมพ์แจกฟรีที่ชื่อว่า M2F ไปเมื่อปลายเดือนมีนาที่ผ่านมา  เข้าใจว่าทั้งสองฉบับขาดทุนมาตลอดและขาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆ จนทนไม่ไหวโดยเฉพาะ M2F ที่ขาดทุนหนักมากจากการถูกแย่งตลาดจากมือถือ

 

เหลือแต่เรือธงฉบับเดียว


ตอนนี้ทางโพสต์ก็เหลือหนังสือพิมพ์รายวันดั้งเดิมอยู่ฉบับเดียวคือบางกอกโพสต์ซึ่งเข้าใจว่ามีกําไรมาตลอด จากการเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับแรกของประเทศไทยตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1946 หลังสงครามโลกครั้งที่สองมาถึงปัจจุบันก็ 72 ปีเข้าไปแล้ว แต่ไหนแต่ไรมา Bangkok Post ถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่บุคคลชั้นนำต้องอ่าน (Elite Newspaper) โดยเป็นสมาชิกส่งถึงบ้านหรือที่ทํางาน


ในอดีตที่ผ่านมาหลายคนมีความพยายามที่จะออกหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษมาแข่งกับโพสต์ฯ แต่ก็ไปไม่รอดยกเว้นเดอะเนชั่นซึ่งตลอดมาก็ไม่เคยเอาชนะบางกอกโพสต์ได้ ดังนั้นจะว่าไปแล้วบางกอกโพสต์ก็ยังถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์ชั้นนําอันดับหนึ่งของประเทศไทย และเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาคนี้อีกด้วย


นั่นก็เป็นเหตผลอันนึงที่ว่า ทําไมหนังสือพิมพ์อย่างบางกอกโพสต์ในฐานะผู้นําตลาดสื่อภาษาอังกฤษที่มีความน่าเชื่อถือ มีชื่อเสียงมายาวนาน จึงมีมูลค่าที่เขาเรียกกันว่า Goodwill ค่อนข้างสูง


เวลานี้หากจะมีมหาเศรษฐีสักคนนึงในโลกนี้ ต้องการมีสื่อสิ่งพิมพ์เป็นของตัวเอง เขาก็จะเลือกซื้อหนังสือพิมพ์ที่เป็นผู้นําตลาดของประเทศนั้นๆ เท่านั้นแหละครับ


ตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้เศรษฐีที่เราคุ้นชื่อกันดีคือ แจ็ค หม่า ก็ได้ให้บริษัทของเขาคือ อาลีบาบาเข้าไปซื้อหนังสือพิมพ์ South China Morning Post (SCMP) ที่ฮ่องกงไปเรียบร้อยแล้ว SCMP ก็คล้ายๆโพสต์แต่แก่กว่ามีอายุ 113 ปี ราคาที่อาลีบาบาจ่ายในการซื้อ SCMP ที่ 226 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 7,000 กว่าล้านบาทไทย นั้นสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้มาก เมื่อเทียบกับยอดสมาชิกในรูปแบบหนังสือพิมพ์และดิจิตอลออนไลน์ ประมาณแสนนิดๆ เหตุผลที่แจ็ค หม่าบอกสื่อขี้สงสัยว่า ซื้อ SCMP มาทําไมแกบอก ผมรักฮ่องกง!



ทางสองแพร่ง


กลับมาที่บริษัทบางกอกโพสต์ที่มีหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์มั่ง หลังจากขาดทุนมาหลายปีก็ทําให้มีหนี้เยอะพอควร น่าจะสักพันสามร้อยล้านบาท โดยเป็นหนี้ระยะสั้นเสียเกินครึ่ง นี่ก็เป็นโจทย์ใหญ่สําหรับกลุ่มเจ้าของคือคุณสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์กับเครือญาติว่าจะเอายังไงดี


บริษัทบางกอกโพสต์ นอกจากจะเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือในแง่สื่อภาษาอังกฤษของไทยและภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว โพสต์ฯ ยังมีจุดแข็งคือไม่มีช่องดิจิตอลทีวีมาเป็นภาระ ซึ่งถือว่าเป็นโชคดีซํ้าสอง หลังจาก ประมูล ITV และดิจิตอลทีวีไม่ได้ ซึ่งอันนี้ถือได้ว่าเป็นฝันร้ายของคู่แข่งอย่างเดอะเนชั่นเลยทีเดียว


แต่ในทางตรงข้ามมีบริษัทลูกที่ชื่อว่า มัชรูม กรุ๊ปทําธุรกิจ content และ production ซึ่งยังมีกําไร นอกจากนั้นแล้วสิ่งสําคัญที่บางกอกโพสต์มีคือ สินทรัพย์ที่มีค่าอย่างยิ่งในเวลานี้ และจะมีค่ามหาศาลในอนาคตคือที่ดินสองแปลง


แปลงแรกคือที่ดินที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ที่ถนน ณ ระนองประมาณเจ็ดไร่เศษ ตีราคากลางไว้แค่วาละสามแสนก็ตกราวๆ 820 ล้านบาท และที่โรงพิมพ์แถวถนนบางนาตราดอีก 23 ไร่ ตีราคาไว้ประมาณ 200 กว่าล้านบาท


การตีราคากลางไว้แถวๆ ตารางวาละสามแสนบาทถือว่าค่อนข้างตํ่าเพราะเวลานี้ CBRE ได้ประเมินราคาที่ดินในย่าน central business district (CBD) คือ

  • เพลินจิต-ลุมพินีไว้ที่ 1.7-3.1 ล้านบาท/ตารางวา
  • สุขุมวิท 2.6 ล้าน
  • และสีลม-สาทร 1.4-1.7 ล้านบาทต่อตารางวา


ที่ดินของโพสต์เจ็ดไร่กว่าที่ถนน ณ ระนอง ถือว่าไม่ไกลจากย่าน CBD แถมมีวิวบางกระเจ้าและคุ้งนํ้าเจ้าพระยา เหมาะมากในการพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยระดับพรีเมียม ย่านบางกระเจ้านี่วิวที่มองจากตึกสูงนี่สวยมาก ได้รับการขนานนามจากนิตยาสาร Time ว่าเป็น "Best Oasis of Asia” เลยทีเดียว ถ้าตีราคาวาละล้าน มูลค่าที่ดินแปลงนี้ก็ปาเข้าไป กว่า 2,800 ล้านเลยทีเดียว


ล่าสุดมีข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์สองข่าว ที่จะช่วยดึงให้ราคาที่ดินของโพสต์สูงขึ้นไปอีก ข่าวแรกโดยประชาชาติธุรกิจก็คือ ข่าวที่รัฐบาลและการท่าเรือแห่งประเทศไทย จะพัฒนาที่ดินบริเวณท่าเรือคลองเตย 2,353 ไร่ ให้เป็นพอร์ตซิตี้ ลงทุนกว่าแสนล้านบาท ผ่านระบบ PPP ดึงเอกชนร่วมลงทุน 30 ปี ปั้นเป็นแลนด์มาร์คใหม่แข่งกับไอคอนสยาม มีทั้งสํานักงาน ดิวตี้ฟรี ท่าเรือครุยส์ และโมโนเรลเชื่อมรถไฟฟ้าไต้ดิน ปีนี้นําร่อง 17 ไร่ มูลค่า 5.4 พันล้าน



ข่าวที่สองนี่ลงหน้าแรกของบางกอกโพสต์เดือนที่แล้วนี่เองว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยเตรียมพัฒนาที่ดิน 227 ไร่ ริมแม่นํ้าเจ้าพระยาย่านคลองเตยไปทางด้านถนนเชื้อเพลิง ให้เป็นเมืองใหม่ที่ชื่อว่า Chao Phraya Gateway แข่งกับไอคอนสยาม การประมูลที่ดินน่าจะเกิดขึ้นภายในสองปีนี้ โดยมูลค่าโครงการจะอยู่แถวๆ สองแสนล้านบาท มีโรงแรมหกดาว ท่าเรือ ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุมแข่งกับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และหอคอยชมวิวสูง 350 เมตร


ทั้งสองโครงการก็อยู่ติดๆ กับที่เจ็ดไร่กว่าของบางกอกโพสต์ ถ้านึกภาพไม่ออกก็ลองหันหน้าไปทางทะเล โครงการของการท่าเรือจะอยู่ทางซ้าย ส่วนของการรถไฟจะอยู่ทางขวา บางกอกโพสต์จะอยู่ตรงกลาง

 

ความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา


ในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทเมื่อปลายเดือนมีนาที่ผ่านมา ได้มีการรายงานว่าปีที่แล้ว ผลการดําเนินงานขาดทุนลดลง 50% หมายความว่าหลังจากการปิดโพสต์ทูเดย์กับ M2F ไปผลการดําเนินงานน่าจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ก่อนหน้าที่จะมีการปิดนสพ.สองฉบับดังกล่าว ลุงก็ลองไปส่องดูข้อมูลหลังการปิดทะเบียนโอนหุ้นเมื่อวันที่ 7 เดือนมีนา 62 ได้มีการขายหุ้นของผู้ถือหุ้นล็อตใหญ่ของผู้ถือหุ้นดั้งเดิมสามรายคือ

  • คุณเอกฤทธิ บุญปิติ ขายไป 24.77 ล้านหุ้น
  • หม่อมอุ๋ย ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล 8 ล้านหุ้น
  • กับม.ร.ว. เกษมสโมสร เกษมศรี 8 ล้านหุ้น 

โดยผู้ซื้อก็คือ นายภัสสรกรณ์ จิราธิวัฒน์ 9.2 ล้านหุ้น นายธีรเดช จิราธิวัฒน์ 24.77 ล้านหุ้น นายธีระเกียรติ จิราธิวัฒน์ 9.8 ล้านหุ้น


เมื่อมีผู้ถือหุ้นสอบถามถึงราคาที่มีการซื้อขายหุ้นของหม่อมอุ๋ยและ ม.ร.ว.เกษมสโมสร ทางท่านประธานคุณสุทธิเกียรติได้ตอบในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ว่าราคาซื้อขายน่าจะประมาณ 4 บาทต่อหุ้น จากราคาพาร์ 1 บาท


และหลังจากการซื้อขายเปลี่ยนมือดังกล่าว กลุ่มของคุณสุทธิเกียรติและญาติพี่น้องก็ถือหุ้นโพสต์รวมกันประมาณ 50% ของทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท ดังนั้นยํ้านะครับว่าถ้าใครซื้อหุ้นจากกลุ่มนี้ไป ก็จะได้เป็นเจ้าของโพสต์คนใหม่ทันที


ท้ายที่สุดถามว่ามีเจ้าสัวในเมืองไทยสนใจบางกอกโพสต์ไหม เจ้าสัวมีบริษัทอสังหาที่พร้อมจะพัฒนาที่ตรงนี้และที่บางนาไหม


สนใจเป็นเจ้าของสื่อชั้นนําไหม คําตอบของลุงสายลับคือมีแน่นอน แล้วถ้าสนใจแล้วมีการคุยกันไหม ลองเดาดูเองละกันครับ น่าจะเดากันได้ไม่ยาก!