“Infinity Funds” ...พลังควบคุมจักรวาล ‘ผลตอบแทน’ (4)

>>

Power Stone- กลุ่ม “กองทุนหุ้น”


การเสาะแสวงหา Infinity Fundsกลุ่มกองทุนที่ควบคุมจักรวาล ผลตอบแทน ผ่านไปแล้ว 3 อัญมณีSoul Stone-กองทุนอสังหาริมทรัพย์” , Reality Stone-กองทุนผสม” ,Space Stone-กองทุน FIF


ครั้งนี้เป็นอัญมณีเม็ดที่ 4 Power-Stone” ที่สร้างและควบคุมพลังงานทำลายล้างไร้ขีดจำกัด ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งและความอึดถึกทนให้ผู้ใช้ นั่นคือคุณลักษณะของกลุ่ม “กองทุนหุ้น” นั่นเอง


มีการศึกษาทั้งในต่างประเทศและในประเทศ มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สอดคล้องตรงกันอย่างไม่ได้นัดหมาย คือ การลงทุนใน ‘หุ้น’ นั้นเป็นทางเลือกที่สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยในระยะยาวได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่น ถือเป็นจุดเด่นในการสร้างการเติบโต เพิ่มความมั่งคั่งให้กับเงินลงทุนได้เป็นอย่างดี มหาเศรษฐีระดับโลกและจักรวาลนี้ต่างมีอัญมณีเม็ดนี้ไว้ในครอบครอง ในทางตรงข้ามก็มีพลังทำลายล้างมากมายมหาศาล คนเจ๊งหุ้นจึงมักจะมีอยู่มากในแวดวงการลงทุนเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะหากคิดจะลงทุนระยะสั้น โอกาสจะได้รับผลกระทบเชิงลบจาก ‘ความผันผวน’ ยิ่งมีมากเป็นเงาตามตัว


“แต่หากดึงระยะเวลาการลงทุนให้ยาวขึ้น ยิ่งยาว ยิ่งช่วยลดทอนความผันผวนของหุ้นให้ลดลง และยิ่งเพิ่มโอกาสให้เงินในกระเป๋าคุณงอกเงยได้ดียิ่งขึ้นด้วย”

 


‘รูปแบบ’ และ ‘ผลตอบแทน’ ของ...กลุ่ม “กองทุนหุ้น”


Infinity Fund” กลุ่มกองทุนหุ้นนี้ ตรงไปตรงมาตามชื่อ คือไปลงทุนใน ‘หุ้น’ ศัพท์ทางการเรียกว่า ‘ตราสารทุน’ ซึ่งเป็นตราสารทางการเงินที่แสดงสิทธิการเป็น “เจ้าของ” อยากเป็นเจ้าของ ‘7-11’ ก็ไปซื้อหุ้น CPALL อยากเป็นเจ้าของ ‘ปั้มปตท.’ ก็ไปซื้อหุ้น PTT เป็นต้น สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นักลงทุนก็สามารถซื้อขายหุ้นได้ง่ายไม่เหมือนหุ้นที่อยู่นอกตลาด


คุณเป็นเจ้าของแล้วคาดหวังอะไรกับธุรกิจ แน่นอนผลกำไร และเมื่อมาจดทะเบียนในตลาดหุ้นแล้วก็คงคาดหวังให้ราคาหุ้นของตัวเองเติบโตไปตามกำไรที่เติบโตด้วยเช่นกัน มีปันผลกลับคืนมาให้เป็นกำลังใจด้วยก็จะดีไม่น้อย “กองทุนหุ้น” เมื่อเข้าไปลงทุนในหุ้นก็คงคาดหวังไม่ต่างอะไรกับคุณเช่นกัน


ปัจจุบันรูปแบบของกลุ่ม “กองทุนหุ้น” สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทหลักๆ ตามนิยามของ ‘สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC)’ ได้แก่

  1. ‘กองทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็ก’ จะลงทุนในหุ้นที่มี Market Cap. ‘ไม่เกิน 80,000 ล้านบาท’ เฉลี่ยในรอบปีบัญชี ‘ไม่น้อยกว่า 80%’ ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุน
  2. ‘กองหุ้นขนาดใหญ่’ จะลงทุนในหุ้นที่อยู่ในดัชนี SET50 เฉลี่ยในรอบปีบัญชี ‘ไม่น้อยกว่า 80%’ ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุน
  3. ‘กองหุ้นทั่วไป’ ลงทุนในหุ้นแบบไม่จำกัด ลงได้ทุกตลาด ทุกขนาด เฉลี่ยในรอบปีบัญชี ‘ไม่น้อยกว่า 80%’ ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุน ซึ่งเป็นกลุ่มกองทุนพิมพ์นิยมสุดในกลุ่มกองทุนหุ้นไทยด้วยความยืดหยุ่นของการลงทุนนั่นเอง
  4. ‘กองทุนรวมดัชนีSET50’ เป็นกลุ่ม ‘กองทุนรวมดัชนี’ หรือ ‘กองทุน Exchange Traded Fund : ETF)’ ที่บริหารเชิงรับเพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนดัชนี SET50 ให้มากที่สุด

จะเห็นว่ากลุ่ม ‘กองทุนหุ้น’ จะมีการลงทุนในหุ้นเฉลี่ย ‘ไม่น้อยกว่า 80%’ ในหุ้นเป็นสำคัญ


ให้สมกับชื่อกองทุน โดยสไตล์การบริหารจะแบ่งเป็น 2 ค่าย ใหญ่ๆ ได้แก่ กลุ่มที่ ‘บริหารเชิงรุก (Active Management)’ มุ่งสร้างผลตอบแทนให้เอาชนะตลาดโดยอาศัยฝีมือของผู้จัดการกองทุน ,AI หรืออื่นๆ ก็ตาม เป้าหมายสำคัญคือเอาชนะตลาดให้ได้ในระยะยาว (ย้ำว่าในระยะยาวนะ)


“โดยวิธีการจะให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าดัชนี ก็คือ การจัดสัดส่วนหุ้นในพอร์ตโดยเพิ่มน้ำหนัก (Overweight) หุ้นที่คิดว่าจะให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาด และลดน้ำหนัก (Underweight) หุ้นที่คิดว่าจะแย่กว่าตลาด เช่น หุ้น A มีน้ำหนักในดัชนี 10% แต่ผู้จัดการกองทุนคิดว่าหุ้น A จะให้ผลตอบแทนแย่กว่าตลาดก็อาจจะจัดพอร์ตให้สัดส่วนหุ้น A ต่ำกว่าน้ำหนักในดัชนี หรืออาจจะไม่ลงทุนในหุ้น A เลยก็ได้ เป็นกลุ่มที่ใช้ฝีมือ ‘ผู้จัดการกองทุน’ เข้ามาเกี่ยวข้อง”


ในขณะที่ “กองทุนที่บริหารเชิงรับ (Passive Management)” หรือกลุ่ม ‘กองทุนดัชนี (Index Fund’ นั้น ผู้จัดการกองทุนบริหารกองทุนโดยมีเป้าหมายให้ได้ผลตอบแทน ‘เท่ากับ’ หรือ ‘ใกล้เคียงกับดัชนีเทียบวัด’ เช่น ดัชนีตลาดหุ้นไทยบวก 8% ผู้จัดการกองทุนก็หวังว่าจะได้ 8% เท่ากัน กองทุนประเภทนี้จึงหวังแค่ ‘Beta’ ไม่ได้หวัง ‘Alpha’ ลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนล้อไปกับดัชนีของตลาดเลย ตลาดไปไหน ไปด้วยจะขึ้นหรือลงไม่สนใจ ขอเกาะให้ใกล้เคียงที่สุด


เนื่องจากกลุ่ม ‘กองทุนดัชนี (Index Fund)’ หรือ ‘Passive Fund’ ไม่ต้องใช้นักวิเคราะห์หรือผู้จัดการกองทุนในการวิเคราะห์อุตสาหกรรมหรือวิเคราะห์หุ้นรายตัว แต่อาจจะใช้ผู้จัดการกองทุนในการคอยทำคำสั่งซื้อขายเพื่อปรับพอร์ตให้มีน้ำหนักสอดคล้องดัชนีอ้างอิง กองทุนประเภทนี้จึงใช้คนน้อยกว่า Active Fund จึงมีต้นทุนดำเนินงานถูกกว่าและทำให้กอง ‘Passive Fund’ มีค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการต่ำกว่ากอง ‘Active Fund’ นั่นเอง


ปัจจุบันกองทุน Passive Fund จะมี 2 รูปแบบหลัก คือ

  • กองทุนรวมดัชนี (Index Fund)
  • กองทุนรวมอีทีเอฟ (Exchange Traded Fund : ETF) ซึ่งจะต่างกันที่กองทุน ETF ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่ ‘ราคาปัจจุบัน (Real Time)’ เหมือนหุ้นตัวหนึ่งเลย


“ดังนั้น การดูผลตอบแทนของกองหุ้นทั้ง 2 ค่าย 2 แนวคิด จึงต่างกันออกไป ค่าย ‘Active Management’ ก็ต้องดูว่า...ในระยะยาวแล้วเขาสามารถเอาชนะตลาดได้จริงหรือเปล่า ศัพท์ทางการเรียกว่า ‘ค่าอัลฟ่า (Alpha)’ มากน้อยแค่ไหน แต่ ‘Active Management’ บางค่ายก็ไม่อิงกับดัชนี ขอบริหารสร้างผลตอบแทนในระยะยาวให้ดีอย่างสม่ำเสมอก็พอ ‘แพ้’ หรือ ‘ชนะ’ ตลาดไม่สนใจ (ก็มีเหมือนกัน ค่ายเหล่านี้ก็จะคุยยากนิดนึง) ส่วนกลุ่มที่อิงดัชนีนั้น ก็ขอแค่ผลตอบแทนเท่าตลาดก็พอใจแล้ว ไม่โลภมาก ศัพท์ทางการเรียกว่า ‘ค่าเบต้า (Beta)’ ผู้ลงทุนต้องดู ‘ค่าความคลาดเคลื่อน (Tracking Error)’ เป็นสำคัญ ว่ามากหรือน้อย สามารถ Track ดัชนีได้ดีแค่ไหน ยิ่งค่านี้น้อย แสดงว่า Track ดัชนีได้ดี ไม่ห่างไกลจากความเคลื่อนไหวของดัชนีมากนัก”

 


ความเชื่อผิดๆ...เกี่ยวกับ
‘กองทุนหุ้น’


ก่อนจะไปถึง ‘ความเชื่อผิดๆ’ ก็มาดู ‘ความเห็นที่ถูกต้อง’ ของการลงทุนในหุ้นผ่าน ‘กองทุนหุ้น’ กันก่อนล่ะกัน ยิ่งลงทุนยาว ความผันผวนยิ่งลดลง ผู้ลงทุนสามารถดูได้จาก ‘ความแตกต่าง’ ของกลุ่มกองทุนหุ้นที่ปรากฎในแต่ละช่วงเวลาได้เลย จะเห็นว่า ‘ขนาด’ ของความแตกต่างจะลดลง ยิ่งเวลายิ่งผ่านไปนาน ขนาดก็จะยิ่ง ‘ลดลง’


‘ลดลง’
ระหว่างช่องว่างของผลตอบแทน และ ‘ความผันผวน’ ของกองทุนด้วย จะเห็นว่ายิ่งระยะเวลาการลงทุนยิ่ง ‘ยาวนาน’ ความผันผวนของกลุ่มกองทุนหุ้นก็จะลดลงด้วย ไม่เพียงเท่านี้ ‘ความเสี่ยงในขาลง (Downside)’ ยิ่งนาน ก็จะยิ่งลดลงด้วยเช่นกัน จะเห็นว่า ‘ผลงานแย่สุด’ ของกลุ่มกองทุนหุ้นจะขยับปรับตัวสูงขึ้นยิ่งเวลาผ่านไป


“หรือสรุปได้ว่า...การลงทุนในหุ้น ยิ่งเวลาผ่านไป ไม่เพียงช่วยลดความผันผวน ผลตอบแทนในระยะยาวยังปรับตัวดีขึ้นด้วยนั่นเอง”


มีการศึกษาและมีการพูดถึงว่า...’ขนาด’ ของกองทุนหุ้น มีผลต่อ ‘ผลตอบแทน’ คือ กองเล็กมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่ากองหุ้นที่มีขนาดใหญ่ เพราะมีโฟกัสมากกว่า ฟังดูก็โอเค แต่ข้อมูลเชิงประจักษ์ก็ไม่แน่เสมอไป (อย่างน้อยก็กับกองทุนหุ้นไทย)


ข้อมูลผลตอบแทนย้อนหลัง 3 ปี (ณ วันที่ 30 เม.ย. 19) กองหุ้นขนาดใหญ่ที่มีขนาดมากสุด 39,448.95 ล้านบาท มีผลงานเป็นอันดับที่ 30 (จาก 38 กอง) ในขณะที่กองที่มีขนาดเล็กสุด 17.56 ล้านบาท ให้ผลตอบแทนเป็นอันดับที่ 14 (จาก 38 กอง)


“ส่วนกองหุ้นใหญ่ที่มีผลงานเป็นอันดับ1 นั้นมี ขนาด 481.77 ล้านบาท (ใหญ่เป็นอันดับ 21 จาก 38 กอง) ส่วนกองที่มีผลงานแย่สุดนั้นมีขนาด 101.81 ล้านบาท (ใหญ่เป็นอันดับ 33 จาก 38 กอง)”


มาดูย้อนหลัง 3 ปี (ณ วันที่ 30 เม.ย. 19) ของกลุ่มกองหุ้นพิมพ์นิยม ‘กองหุ้นทั่วไป’ กันบ้าง พบว่ากองที่มีขนาดใหญ่สุด 64,809.61 ล้านบาท มีผลงานเป็นอันดับที่ 98 (จากทั้งหมด 159 กอง) ในขณะที่กองที่มีขนาดเล็กสุด 5.07 ล้านบาท มีผลงานเป็นอันดับที่ 31 (จาก 159 กอง)


“โดยกองหุ้นทั่วไปที่มีผลงานเป็นอันดับ1 มีขนาด 2,517.52 ล้านบาท (เป็นอันดับ 53 จาก 159 กอง) ส่วนกองที่มีผลงานแย่สุดมีขนาด 179.02 ล้านบาท (ใหญ่อันดับ 114 จาก 159 กอง)”


จะเห็นว่า...ผลการดำเนินงานของกลุ่ม ‘กองทุนหุ้น’ ไม่ได้ขึ้นกับ ‘ขนาด’ ที่อาจจะเชื่อว่ากองที่มีขนาดเล็ก ลงทุนหุ้นมีความยืดหยุ่นมากกว่ากองหุ้นที่มีขนาดใหญ่ แต่ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ปรากฏก็ยืนยันแล้วว่า...’ ไม่แน่เสมอไป’


สุดท้ายข้อเท็จจริงหนึ่งที่ผู้ลงทุนในกลุ่ม ‘กองทุนหุ้น’ ต้องตระหนัก คือ ‘ความแตกต่าง’ ของผลตอบแทนในระยะยาวเฉลี่ยในระดับ 10% ต่อปี เลยทีเดียว เลือกผิด...คิดจนตัวตายนะ แต่นี่คือขุมพลัง “InfinityFunds” ในกลุ่ม ‘กองทุนหุ้น’ ที่ทรงพลานุภาพที่สุดในการสร้างผลตอบแทนช่วยให้เงินของคุณเติบโตในระยะยาวอย่างเป็นกอบเป็นกำ ถ้า ‘ระยะการลงทุน’ ยาวนานเพียงพอ นี่คือ Core Port ที่ไม่ควรละเลยอย่างเด็ดขาด