จังหวะลงทุน...”Global Healthcare+Property”

>>

ช่วงนี้ใครๆ ก็ว่าช่วงปลาย “เศรษฐกิจขาขึ้น (Late Cycle)” ต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น บ้างก็ว่า ‘Inverted Yield Curve’ ปรากฏ นับถอยหลังสู่เศรษฐกิจถดถอยได้เลย อีกไม่นานเกินรอ แต่ในงานสัมมนา “ทิศทางการลงทุนในธุรกิจการแพทย์และดูแลสุขภาพ และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ทั่วโลก” ที่จัดโดย ‘บลจ.กรุงไทย’ อาจจะทำให้คุณต้องกลับมานั่งคิดทบทวนอีกรอบ


ก่อนหน้านี้คุณอาจจะมีหลากหลายเหตุผลให้ ‘ไม่ลงทุน’ แต่อ่านจบแล้วคุณอาจจะมีอีกหลากหลายเหตุผล ‘ให้ลงทุน’ ได้เช่นกัน ทีมงาน ‘Wealthythai’ ไม่พลาดที่จะเก็บเอาเรื่องราวดีๆ มีสาระมาฝากกันเช่นเคย

 

4 ปัจจัยหนุนการเติบโตของ... “ธุรกิจสุขภาพโลก” 


เกี่ยวกับเรื่องนี้ Jennifer Nicholas”, CFA Client Portfolio Manager, Janus Henderson Global Life Sciences Fund อธิบายให้ฟังว่า มี 4 ปัจจัยสำคัญ ที่จะตอบคำถามว่า...ทำไมต้องธุรกิจสุขภาพโลก?

 
( Jennifer Nicholas )
 
  • ‘Innovation’ นวัตกรรมทางการแพทย์ได้เร่งตัวขึ้นมาเพื่ออุดช่องว่างในการรักษาทางการแพทย์ ปัจจุบัน 4 โรคสำคัญในโลก ได้แก่ ‘โรคหัวใจ’ มีค่าใช้จ่ายทั่วโลกประมาณ 8.63 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี , ‘โรคมะเร็ง’ มีค่าใช้จ่ายทั่วโลกประมาณ 1.16 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี , ‘โรคเบาหวาน’ มีค่าใช้จ่ายทั่วโลกประมาณ 8.25 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี และ ‘โรคทางพันธุกรรม’ ซึ่งมีมากกว่า 7,000 ชนิดที่สามารถแยกแยะได้ แต่ที่รักษาได้แค่ 5% เท่านั้น


“เหล่านี้จะเป็นตัวเร่งให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นในธุรกิจสุขภาพทั่วโลก ซึ่งจะทำให้ใช้เวลาในการรักษาลดลงและค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ถูกลงด้วยเช่นกัน”

  • ‘Demographics’ โครงสร้างประชากรโลกที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้นทำให้มีการใช้จ่ายเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยการศึกษาพบว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มีการใช้จ่ายเพื่อสุขภาพสูงกว่าคนที่อายุต่ำกว่า 65 ปี ถึง 3 เท่า
  • Globalisation’ การใช้จ่ายเพื่อสุขภาพกระจายไปทั่วโลกและมีความสัมพันธ์กับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจมีการเติบโตสูง ชนชั้นกลางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีรายได้ที่มากขึ้น ก็มีกำลังในการจับจ่ายเพื่อสุขภาพที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน

  • ‘Diversification and defensive Characteristics’ บุคลิกของหุ้นสุขภาพจะคล้ายกับเป็น‘หุ้นเชิงรับ (Defensive Stock)’ ที่มีความผันผวนน้อยกว่าหุ้นทั่วไปและสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีในตลาดขาขึ้น ในขณะที่ในช่วงที่ตลาดไม่สดใสหรือเศรษฐกิจชะลอตัวก็มีความเสี่ยงในขาลงน้อยกว่าหุ้นทั่วไป

 


นโยบายด้านสุขภาพของสหรัฐ...แค่ “ปัจจัยลบระยะสั้น”
 


Jennifer ยังบอกอีกว่า ปัจจุบันหุ้นสุขภาพโลกยังมีมูลค่าที่ถูกกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตและยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากใน ‘ระยะยาว’ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่ม ‘สุขภาพ’ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ดีที่สุดกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมทั้งเทคโนโลยีด้วย อย่างไรก็ตามในกลุ่ม ‘สุขภาพ’ เอง หุ้นที่มีผลงาน ‘ดีสุด Top 5’ กับหุ้นที่มีผลงาน ‘แย่สุด Top 5’ ก็มีความแตกต่างกันมากเหลือเกิน ดังนั้น ‘การบริการแบบเชิงรุก (Active Management)’ จึงมีความสำคัญในการเลือกหุ้นรายตัวเพื่อลงทุน จะได้ลงทุนในหุ้นที่ดีและเลี่ยงหุ้นที่แย่นั่นเอง


“ปัจจัยลบที่จะเข้ามากระทบธุรกิจสุขภาพใน ‘ระยะสั้น’ คงมาจากนโยบายต่างๆ ของผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐที่จะมีขึ้นในการเลือกตั้งปีหน้า เพราะถือเป็นนโยบายหลักที่จะเอามาใช้หาเสียง บางคนก็มีนโยบาย Medical for All ที่เป็นหลักประกันสุขภาพที่รัฐดูแลเพียงคนเดียว ตรงนี้ถ้าเกิดขึ้นก็คงกระทบกับธุรกิจสุขภาพได้ แต่เชื่อว่าจะไม่เกิดขึ้นเพราะรัฐจะมีค่าใช้จ่ายมหาศาลและคนสหรัฐเองก็คงไม่เอาด้วยเพราะอาจจะกระทบกับสวัสดิการจากโรงพยาบาลเอกชนที่เขามีอยู่ ในส่วนของนโยบาย ‘โอบามาแคร์’ ก็คิดว่าจะไม่ถูกยกเลิกไปแต่ประการใด ทั้งนี้หาก ‘ปธน.ทรัมป์’ ได้กลับมาอีกครั้งก็คงไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพที่มีอยู่เดิมแต่ประการใดด้วยแต่ในระยะสั้นปัจจัยตรงนี้อาจกระทบกับบรรยากาศการลงทุนในกลุ่มสุขภาพได้บ้าง แต่ถ้ามองการลงทุนในระยะยาวแล้วถือว่ายังมีแนวโน้มที่ดีทีเดียว”

 


“อสังหาริมทรัพย์โลก
”...เหมาะกับสภาพการลงทุนในปัจจุบัน 


นอกจากธุรกิจสุขภาพโลกแล้ว ‘อสังหาริมทรัพย์โลก’ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่น่าสนใจในช่วงเวลานี้เช่นกัน ด้าน Xin Yan Low” Associate Fund Manager, Janus Henderson Horizon Global Property Equities Fund มองว่า ทิศทางของดอกเบี้ยสหรัฐเองก็หยุดขึ้นแล้วและอาจมีการปรับลดลงได้อีก ธนาคารกลางต่างๆ ก็มีแนวโน้มจะผ่อนคลายนโยบายการเงินของตัวเองมากขึ้นเพื่อดูแลเศรษฐกิจ ในภาวะเช่นนี้การลงทุนใน ‘อสังหาริมทรัพย์โลก’ จึงมีความน่าสนใจ เฉพาะในช่วงไตรมาสที่4/18 ผลตอบแทนของอสังหาริมทรัพย์โลกก็ดีกว่าหุ้นโลกประมาณ 8% เลยทีเดียว


 
( Xin Yan Low )


มี 4 เหตุผล ที่ทำให้การลงทุนใน ‘อสังหาริมทรัพย์โลก’ มีความน่าสนใจ ได้แก่

  • ‘Core Asset Class’ เพราะถือเป็นการลงทุนที่เป็นลูกผสม (Hybrid Investment) ที่ให้ผลตอบแทนระหว่าง ‘หุ้น’ และ ‘ตราสารหนี้’ มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าในระยะยาวด้วย

  • ‘Portfolio Enhancement’ เป็นการลงทุนที่ต่อสู้กับเงินเฟ้อได้ดี

  • ‘Diversification’ การลงทุนใน ‘Listed Real Estate’ ช่วยให้เข้าถึงการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ด้วยต้นทุนที่ต่ำ มีสภาพคล่องสูง มีศักยภาพในการกระจายความเสี่ยงไปในสินทรัพย์หลากหลายประเภททั่วโลกอย่างไม่จำกัด

  • ‘Income Stream’ เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอที่ดีกว่าเงินปันผลของหุ้น หรือดอกเบี้ยของตราสารหนี้


อสังหาริมทรัพย์โลกมีความสัมพันธ์กับตราสารหนี้โลกค่อนข้างต่ำเกือบจะเป็น 0 การนำผสมเข้ามาในพอร์ตจึงไม่เพียงแต่ช่วย ‘ลดความเสี่ยง’ เท่านั้น ยังสามารถช่วย ‘เพิ่มผลตอบแทน’ ให้กับพอร์ตการลงทุนได้อีกด้วย ปัจจุบันราคาของอสังหาริมทรัพย์โลกยังซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุน จึงถือว่ามีราคา ‘ไม่แพง’ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์กับหุ้นเทคโนโลยีของโลกต่ำอีกด้วย ในช่วงที่เกิด ‘วิกฤติดอทคอม’ ในปี2000 อสังหาริมทรัพย์โลกจึงไม่ได้รับผลกระทบอะไร และในครั้งนี้ก็เช่นกันหากเกิดวิกฤติกับหุ้นเทคโนโลยีขึ้นก็เชื่อว่าจะเป็นเช่นที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นที่ไม่ส่งผลกระทบกับอสังหาริมทรัพย์โลกแต่ประการใด”


ถึงตรงนี้...ใครที่ยังนึกไม่ออกว่าจะลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหนดี ในช่วงเวลาเช่นนี้ ก็เชื่อเหลือเกินว่า... “ธุรกิจสุขภาพ-อสังหาริมทรัพย์” ทั่วโลก ยังน่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถตอบโจทย์การลงทุน
‘ระยะยาว’ ให้กับคุณได้ไม่มากก็น้อยในช่วงเวลาที่ภาพการลงทุน ‘ระยะสั้น’ ผันผวนเช่นนี้