รฟท.แจงไฮสปีดเฟสแรก กรุงเทพ-พิษณุโลกเจรจายังไร้ข้อสรุป

>>

ร.ฟ.ท.แจงรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลก เจรจาและศึกษารูปแบบไม่เสร็จ เผยคณะทำงานด้านเทคนิคเจรจาญี่ปุ่นยังไม่ถึงประเด็นลงทุน ยืนยันคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ คาดผู้โดยสารเหยียบ 3 หมื่นคนต่อวัน


นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลก วงเงิน 2.12 แลนล้านบาท นั้น คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการช่วงเฟส 1 ราว 29,000 คน/วัน ในปัจจุบัน กระทรวงคมนาคมได้มีการแต่งตั้งคณะทํางานด้านเทคนิคขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-เชียงใหม่ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ในการเจรจาและศึกษารูปแบบการดําเนินโครงการฯ ซึ่งทางญี่ปุ่นได้นําส่งรายงานศึกษาความเหมาะสมมาให้รัฐบาลไทยพิจารณาแล้ว แต่ทว่าการศึกษารายละเอียดยังไม่ข้อสรุปแต่อย่างใด


อย่างไรก็ตามการรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการฯ ยืนยันว่า ตามลำดับขั้นตอนการเจรจาและศึกษารูปแบบการดําเนินโครงการฯ ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบเป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล โดยยึดประโยชน์ขององค์กรและของประเทศ รวมถึงยังดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในการพิจารณาความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ด้วย

( นายวรวุฒิ มาลา )


“ผลการศึกษาประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-เชียงใหม่ พบว่ามีผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจมากกว่า 12% ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่ สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกําหนดไว้ ดังนั้น โครงการฯ จึงมีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์”


นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังได้พิจารณาอย่างรอบคอบต่อประโยชน์ทั้งทางตรง ได้แก่ มูลค่าการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ยานพาหนะ มูลค่าการ ประหยัดเวลาในการเดินทาง มูลค่าจากการลดค่าใช้จ่ายจากอุบัติเหตุ และมูลค่าการกําจัดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงประโยชน์ทางอ้อมที่เกิดขึ้น เช่น การกระตุ้นการพัฒนาพื้นที่ และการจ้างงานด้วย


นายวรวุฒิกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม คณะทํางานด้านเทคนิคฯ ยังไม่ได้มีการพิจารณาประเด็นการใช้งบประมาณการลงทุนในโครงการนี้แต่อย่างใด เนื่องจากโครงการก่อสร้างทางรถไฟมีลักษณะเป็นบริการสาธารณะ ซึ่งโดยทั่วไปรัฐบาลจะรับภาระเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเช่นเดียวกับ โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟไทย-จีน และโครงการระบบ รถไฟชานเมือง (สายสีแดง) อย่างไรก็ดี รฟท. พร้อมรับฟังข้อคิดเห็นจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้านเพื่อใช้ประกอบการดําเนินโครงการลงทุน เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐมีความคุ้มค่า และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด