สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่ขยายตัวจาก Trade War ไปสู่ Tech War เมื่อ 10 วันที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ความครุกรุ่นนี้เริ่มมาสักระยะแล้ว ถ้าเราจำกันได้ช่วงต้นปีมีข่าวโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานนาธิบดีสหรัฐ ประสานกับทางการแคนาดาให้จับ “เมิ่ง หวั่นโจว” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทางการเงิน (ซีเอฟโอ) Huawei Technologies ซึ่งเป็นลูกสาวของ “เหริน เจิ้งเฟย” ประธานและผู้ก่อตั้ง Huawei ในข้อหาการใช้ 5G ของ Huawei มีความเสี่ยงต่อทางการทหาร
แต่การที่ทรัมป์ประกาศแบนสินค้าอย่าง Huawei เมื่อ 10 วันก่อนจนกระทบกับความร่วมมือกับ Google Service เจ้าของระบบปฏิบัติการ Android เป็นคลื่นลูกใหญ่ที่กระทบกับความสัมพันธ์การค้าของทั้ง 2 ประเทศ แม้ว่าปัจจุบันจะอยู่ในกรอบการเจรจา 90 วันก็ตาม
ความขัดแย้งนี้ไม่สิ้นสุดง่าย จีนเองก็งัดวัตถุดิบสำคัญสำหรับการพัฒนาชิ้นส่วนทางเทคโนโลยีอย่าง “แร่เอิร์ธ” ที่สหรัฐต้องนำเข้าจากจีนเป็นหลัก มาเป็นเงื่อนไขทางการค้า เอาซี้! ถ้าสหรัฐจะสั่งห้ามธุรกิจในสหรัฐยุ่งกับ Huawei จริง จีนก็จะไม่ส่งแร่เอิร์ธให้สหรัฐ
หันกลับมาในตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงไทยนั้นได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน เพราะความขัดแย้งในครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบแค่เพียงหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ความกังวลเริ่มขยายตัวมายังกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ที่จีนเป็นผู้ส่งออกหลักของโลกเช่นกัน ซึ่งไทยเองก็ถือเป็นผู้ที่ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อับดับต้นๆ ของโลกได้รับผลกระทบไปด้วย
ทำให้ในวันนี้ Wealthy Thai จึงชวนผู้อ่านมาหาคำตอบว่า “หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์” ได้รับผลกระทบจากเทรดวอร์มากน้อยแค่ไหนกัน โดยจะเปรียบเทียบความเคลื่อนไหวราคาหุ้นในช่วง 10 วัน หลังทรัมป์ประกาศแบน Huawei ราคาหุ้นไปทางไหน ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) และราคาย้อนหลัง 3 ปี เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน
KCE หนักสุดในอุตสาหกรรม
หากดูเฉพาะช่วงที่มีสงครามการค้าเกิดขึ้น หรือระหว่างปี 2561-2562 จะพบว่าหุ้น KCE หรือบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) ได้รับผลกระทบมากที่สุดในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ราคาหุ้นจากต้นปีที่ผ่านมาปรับลดลง 33.71% จากราคา 26.25 บาท จนถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 เหลือ 17.40 บาท โดย 10 วันที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กฯ ปรับลดลง 6.57%
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า ระบุว่า ราคาหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ น่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หลังกำไรทั้งกลุ่มช่วงไตรมาส 1/2562 ไม่เด่นจากฐานยอดขายที่ติดลบ 3.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า บวกกับปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทที่ฟื้นตัวช้าจาก Trade War
แต่หยวนต้ายัง มอง KCE เด่นสุด ให้ราคาเป้าหมาย 33 บาท จากราคาปัจจุบันที่เคลื่อนไหว 17.40 บาท โดยแนะนำว่า “ต้องรอจังหวะ” ทั้งนี้มองว่าต้องหลีกเลี่ยงหุ้นที่เกี่ยวกับ Consumer Product อย่าง HANA ไปก่อน และจับตาหุ้น SVI จากผลประกอบการยังเติบโตดีและความเสี่ยงในยุโรปลดลงในอนาคต
แม้ช่วงที่ผ่านมาหุ้น KCE จะมีราคาลดลงรุนแรงจากผลกระทบสงครามการค้าเมื่อปีที่แล้ว ช่วงที่เหลือของปีนี้อาจจะร่วงหนักกว่าเดิมก็ได้ ต้องรอช่วงการเจรจาว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะสงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร แม้ว่าโบรกฯ จะเชียร์หุ้นตัวนี้ก็ตาม
ที่มา
SETSMART
บทวิเคราะห์หุ้นรายเซ็คเตอร์ บล.หยวนต้า
https://mgronline.com/daily