กองทุนน้ำมัน (Oil Fund)” นั้น เป็นอีกกลุ่มกองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีเป็นทางเลือกการลงทุนมานานแล้ว ในยุคแรกๆ นั้นออกมาช่วงราคาน้ำมันไต่ระดับเพดานความสูงจนโลกมองจะไปไกลถึง 200 ดอลลาร์ต่อบาเรล ย้อนหลังไป 10 ปีก่อนมีอยู่ 3 กอง ปัจจุบัน (ณ 31 พ.ค. 19) มีอยู่ 9 กอง มีสินทรัพย์สุทธิรวมกัน 3,032.06 ล้านบาท หรือเฉลี่ยต่อกอง 336.90 ล้านบาท ถือว่าค่อนข้างเล็ก ซึ่งสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าเป็นกลุ่มกองทุนที่ไม่ได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนเท่าไรนัก
“ย้อนหลังไป 5 ปี มีกองทุนน้ำมันอยู่ 8 กอง นับจนถึงปัจจุบันมีเพิ่มขึ้นมาเพียงกองเดียวเท่านั้น ถ้าเปรียบเทียบกับ ‘กองทุนทองคำ’ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์เช่นกันปัจจุบันมีถึง 32 กอง”
“กองทุนน้ำมัน”…5 เดือนแรกให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10.22%
ช่วง 5 เดือนแรก กลุ่ม “กองทุนน้ำมัน” ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10.22% โดยกองที่มีผลงานดีสุดให้ผลตอบแทน 15.07% ส่วนกองที่แย่สุดให้ผลตอบแทน 7.40% หรือต่างกันอยู่ 7.67%
“โดย ‘กองทุนเปิดแอสเซทพลัสออยล์ (ASP-OIL)’ ของบลจ.แอสเซท พลัส มีผลงานดีสุดให้ผลตอบแทน 15.07%”
ในช่วง 5 เดือนแรก นั้น ราคาน้ำมันดิบ BRENT +18.31%>>>WTI 19.70%
ย้อนหลัง 5 ปี... “กองทุนน้ำมัน” เฉลี่ยติดลบ 21.38%
แต่ถ้ามองภาพให้ยาวขึ้นเป็นช่วง 5 ปีย้อนหลัง กลุ่ม ‘กองทุนน้ำมัน’ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ 21.38% โดยกองที่มีผลงานดีสุดให้ผลตอบแทนติดลบ 20.46% ในขณะที่กองที่แย่สุดนั้นติดลบ 22.32% หรือต่างกันอยู่ 1.86%
“โดยกองที่มีผลงานดีสุด คือ ‘กองเค ออยล์ (K-OIL)’ ของบลจ.กสิกรไทย ให้ผลตอบแทนติดลบ 20.46%”
เรียกว่า...ลบกันถ้วนหน้าตามราคาน้ำมันในช่วง 5 ปีที่ปรับตัวลงเช่นกัน โดยน้ำมันดิบ BRENT -77.59% (เฉลี่ย -15.52% ต่อปี) จากระดับ 112.36 ดอลลาร์ต่อบาเรล มาอยู่ที่ 63.27 ดอลลาร์ต่อบาเรล (ณ สิ้นพ.ค.19)
ส่วนน้ำมัน WTI -92.04% (เฉลี่ย -18.41% ต่อปี) จากระดับ 105.37 ดอลลาร์ต่อบาเรล มาอยู่ที่ 54.87 ดอลลาร์ต่อบาเรล (ณ พ.ค. 19) เช่นกัน
กลไก “กองทุนน้ำมัน”...ไม่ได้สะท้อนราคาน้ำมันได้ดีพอ
จะเห็นว่า...ผลงานของกลุ่ม “กองทุนน้ำมัน” นั้นไม่ได่สะท้อนราคาน้ำมันได้ดีเท่าที่ควร บางครั้งราคาน้ำมันขึ้นมาก ราคากองทุนน้ำมันก็ไม่ได้ไปไหน ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นมาจากปัจจัยเรื่อง ‘อัตราแลกเปลี่ยน’ ด้วยส่วนหนึ่ง แต่ปัจจัยหลักเลยคือ ตัว ‘กลไก’ ของกองทุนน้ำมันเอง ที่ส่วนใหญ่ก็จะไปลงกองทุนแม่ในต่างประเทศที่แทรคราคาน้ำมันในลักษณะของ Passive Fund ปกติ
“แต่น้ำมันโลก ซื้อขายเป็น ‘สัญญาล่วงหน้า (Futures)’ ซึ่งกองทุนก็จะเข้าไปซื้อสัญญาเหล่านี้ถือไว้แล้วก็ Roll สัญญาไปเรื่อยๆ ในบางครั้งราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นไปแล้ว แต่สัญญาที่กองทุนถือลงทุนยังเป็นราคาเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ทำให้ช่วงที่ราคาน้ำมันขึ้น ราคาของกองทุนอาจจะไม่ได้ขึ้นตามไปในสัดส่วนเดียวกันดังกล่าว กลับกันในขาลงก็เช่นกัน”
บลจ.ส่วนใหญ่ก็เข้าใจประเด็นเหล่านี้ดี นอกจากนี้ยังมีต้นทุนเกิดขึ้นเวลาต้องเปลี่ยนสัญญาเพื่อลงทุนต่อด้วย เหล่านี้ทำให้ “กองทุนน้ำมัน” เองจึงไม่ได้สะท้อนการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันได้ดีเพียงพอ จึงเหมาะกับนักลงทุนที่มีความเข้าใจเป็นสำคัญ
“ทิศทางราคาน้ำมันโลกปีนี้ยังน่าจะทรงตัวในระดับสูงได้หลังกลุ่ม OPEC และ NON-OPEC ได้ลดกำลังการผลิตลง 1.2 ล้านบาเรลต่อวัน มาตั้งแต่ต้นปีจนถึงกลางปีนี้ และกำลังจะมีการประชุมในวันที่ 25-26 มิ.ย. เพื่อดูว่าจะต่ออายุการลดกำลังการผลิตต่อไปจนถึงสิ้นปีนี้หรือไม่”
สำหรับใครที่สนใจจะลงทุนใน “กองทุนน้ำมัน” ก็ขอให้ทำความเข้าใจให้ดีก่อนลงทุนและมองในลักษณะของการลงทุนทางเลือกเท่านั้น ไม่ใช่สินทรัพย์หลักที่จะมาเป็น Core Port แต่ประการใด