การเลือกตั้งใหญ่ของประเทศไทย กินเวลามายาวนานมากกว่า 2 เดือน แม้ว่าเราได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่ชื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 ไปแล้วนั้น แต่ความชัดเจนของการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ยังไม่มีทีท่าว่าจะสำเร็จได้โดยง่าย โดยเฉพาะกระทรวงหลัก อย่างกระทรวงคมนาคม ที่ยังไม่ชัดเจนว่า จะอยู่ภายใต้การดูแลของใคร
อะไรคือ สาเหตุที่หลายพรรคการเมือง ต้องการกระทรวงคมนาคมมากมายขนาดนั้น วันนี้เรามาช่วยวิเคราะห์คำตอบ
โครงการภาครัฐกับการลงทุนกว่า 1.36 ล้านล้านบาท
ในการจัดตำแหน่งรัฐมนตรีของรัฐบาลแต่ละยุคแต่ละสมัยกระทรวงคมนาคมนับเป็นกระทรวงเกรด A เหตุผลหลักเพราะ มีหน่วยงานจำนวนมาก มีหน่วยงานราชการในสังกัด เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมเจ้าท่า มีรัฐวิสาหกิจในสังกัด ทั้ง การรถไฟแห่งประเทศไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด และมีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย รวมอยู่ด้วย
กระทรวงคมนาคม มีความเกี่ยวข้องกับการเดินทาง และต้องใช้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก ทำให้งานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ทั้งการลงทุนรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ การก่อสร้างท่าเรือ การขยายสนามบินขนาดใหญ่ โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รวมถึงการก่อสร้างถนนหนทางทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดจำนวนมาก รวมถึงมีส่วนกำหนดกฏเกณฑ์การให้บริการของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด
ล่าสุด บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด ประเมินว่าการประมูลโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชาในเทอมที่ 2 จะมีมูลค่ากว่า 1.36 ล้านล้านบาท สูงกว่างานในมือที่รอรับรู้รายได้ของบริษัทรับเหมารายใหญ่ทั้ง 4 รายในประเทศไทยถึง 2 เท่าตัว
การลงทุนที่สูง อนาคตที่สดใส จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมใครต่อใครถึงอยากนั่งกระทรวงนี้ ไม่เว้นพรรคภูมิใจไทย ภายใต้การนำของ อนุทิน ชาญวีรกุล
(facebook : anutin chanvirakul)
STEC กับรายได้จากโครงสร้างพื้นฐาน 62%
หันมามองบริษัทจดทะเบียนที่จะได้รับประโยชน์จากการลงทุนของภาครัฐที่จะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง และถูกจับตามองมากที่สุด คือ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ที่ปัจจุบันมี เสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ผู้ถือหุ้น STEC ในอันดับที่ 4 โดยถือหุ้น 71,550,128 หุ้น หรือคิดเป็น 4.69% ของหุ้นทั้งหมดโดยผลงานของบริษัทฯ ในช่วงที่ผ่านมา มีการเติบโตที่ดี
โดยเจ้าตัวยืนยันแล้วว่า ไม่มีบทบาทในการบริหาร โดยเจ้าตัวชี้แจงว่า ลาออกจากบริษัทฯ มา 15 ปี หลังรับตำแหน่ง รมต. ปี 2547 และลาออกปี 2549 ก็ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ทำงานการเมืองเคยเป็น รมต.ก็ไม่มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน พร้อมให้ตรวจสอบและพิสูจน์
เมื่อเจาะดูในรายละเอียดผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ตามรายงานประจำปี 2561 พบว่า STEC มีรายได้จากโครงการโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก เป็นสัดส่วนที่มากที่สุด ถึง 62% ทั้งนี้งานโครงการขนาดใหญ่ที่บริษัทอยู่ระหว่างก่อสร้างนั้น มีหลายโครงการ โดย ณ สิ้นปี 2561 บริษัทมีแบ็กล็อกหรือมูลค่างานก่อสร้างคงเหลือในมือรวม 105,200 ล้านบาท
ซึ่งประกอบไปด้วยงานก่อสร้างภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับงานก่อสร้างภาครัฐเป็นงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค ขั้นพื้นฐาน เช่น
- รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
- รถไฟทางคู่ ทางหลวง และ
- งานก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ เป็นต้น
ในส่วนของงานก่อสร้างภาคเอกชนจะมีงานก่อสร้างด้านพลังงาน เช่น
- โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู
- โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
- โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
- โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วง หมอชิต–สะพานใหม่–คูคต สัญญาที่ 3 และ สัญญาที่ 4
- โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สัญญาที่ 4
- โครงการ รถไฟทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย สัญญา 1
- โครงการรถไฟทางคู่ในเส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญาที่ 2
- โครงการรถไฟทางคู่ในเส้นทางนครปฐม-หัวหิน สัญญาที่ 2
- โครงการทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 9 กับทางหลวง หมายเลข 345
- โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา
- โครงการบ่อพักและท่อร้อยสายโครงการอาคารรัฐสภาแห่งใหม่
- โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต เป็นต้น
โดยในรายงานพบว่า กลุ่มเป้าหมายของบริษัทฯ ในอนาคต แบ่งการเข้าประมูลงานเป็น 2 กลุ่มคือ
- งานภาครัฐ (งานราชการและรัฐวิสาหกิจ) ประกอบด้วย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน กรมทางหลวง การไฟฟ้านครหลวง เป็นต้น
- งานภาคเอกชน ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และขนาดกลาง โรงงานอุตสาหกรรม โดยเน้นการรับงาน ก่อสร้างจากบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่จากต่างประเทศ (EPC Contractors) ทำให้บริษัทฯ ยังมีโอกาสที่จะขยายงานของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
รับเหมายังโตได้อย่างน้อย 2 ปี
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่า กลุ่มรับเหมาก่อสร้างโดยเฉพาะรายใหญ่ ยังมีจำนวนสูงรองรับรายได้ต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าได้ดี โดยเฉพาะ STEC ยังคงมีงานในมือปัจจุบันสูงกว่ากลุ่มที่ 9.7หมื่นล้านบาท และ CK ปัจจุบันมีมูลค่างานในมืออยู่ที่ 4.7หมื่นล้านบาท ขณะที่กำลังรอเซ็นสัญญางานโครงการขนาดใหญ่ 3 สนามบิน คาดจะเพิ่มงานในมือได้อีกราว 3-5 หมื่นล้านบาท จะทำให้มีงานในมือเข้าใกล้ระดับ 1แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 ขณะที่ SEAFCO มีงานในมือ 1.8 พันล้านบาท รองรับรายได้ของปี 2562 ได้เกือบ 100%
เราคาดหลังการเมืองมีความชัดเจนจากการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี โดยคาดว่าแผนและนโยบายการพัฒนาในส่วนของสาธารณูปโภคพื้นฐาน จะยังได้รับการสานต่อจากแผนเดิม ทั้งจากโครงการ EEC ทั้ง 4 โครงการ รวมถึงโครงการอื่นที่รอการประมูลที่คาดเห็นความคืบหน้าภายในปี 2562 เช่นงานรถไฟทางคู่เฟส 2 งาน รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายต่างๆ ได้แก่ สายสีส้ม สายสีม่วง สายสีแดง
วงเงินเฉพาะ 2 โครงการโดยรวมอยู่ที่ 6.6 แสนล้านบาทถือเป็นเค้กก้อนใหญ่ ขณะเดียวกัน ครม.มีการอนุมัติและอยู่ระหว่างประมูล คืองานมอเตอร์เวย์ อยู่ระหว่างเตรียมยื่นซองประมูล คาดทราบผลในเดือน ก.ค.
กระทรวงคมนาคม เป็นหนึ่งในกระทรวงที่มีงบลงทุนมากที่สุด ซึ่งใครจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีนั้นย่อมมีความสำคัญในการกำหนดนโยบายโครงการ อนุมัติโครงการ กำหนดกติกาในการประมูล ดังนั้นสิ่งที่ประชาชนจะทำได้คือการร่วมกันตรวจสอบความโปร่งใส เพื่อให้ประโยชน์ของโครงการตกอยู่กับคนทั้งประเทศ
รายงานประจำปี 2561