‘ศาลแพ่ง x เน็ตเบย์’ เปิดตัวระบบ Mini e-Court ทางเลือกใหม่ยื่นฟ้องคดีผู้บริโภคทางออนไลน์รับยุค 4.0
>>
ปัจจุบันมีหน่วยงานราชการหลายแห่ง กำลังพัฒนาระบบการใช้งานให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และยังลดค่าใช้จ่ายและพื้นที่จัดเก็บเอกสารอีกด้วย
ล่าสุด ‘ศาลแพ่ง’ ภายใต้การนำของ “โอภาส อนันตสมบูรณ์” อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง เป็นหน่วยงานที่กำลังทรานส์ฟอร์มองค์กรเป็น ‘ศาลยุติธรรมดิจิทัล’ เช่น การพัฒนาโปรแกรม Mini e-Court สำหรับคดีผู้บริโภค, การยื่นคำร้องและไต่สวนคดีร้องขอจัดตั้งผู้จัดการมรดกทางอิเล็กทรอนิกส์ (ระบบวิดีโอ คอลล์), ฯลฯ ตามนโยบายศาลยุติธรรมที่วางเป้าหมายเป็น Digital Court (D-Court) และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน
ระบบ Mini e-Court ทางเลือกใหม่ฟ้องคดีแพ่ง
รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันมีปริมาณคดีความเข้าสู่ศาลยุติธรรมรวมประมาณ 2 ล้านคดีต่อปี ในจำนวนนี้กว่า 50% เป็นคดีแพ่งที่สามารถไกล่เกลี่ยได้ เช่น คดีผู้บริโภค คดีจัดการมรดก
“วัชระ เนื่องสิกขาเพียร” ผู้พิพากษาช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาแพ่งและผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ข้อมูลว่า ด้วยปริมาณเอกสารคดีความที่มีจำนวนมาก ศาลแพ่งจึงร่วมมือกับ บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) หรือ NETBAY ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาดิจิทัล บิสซิเนส แพลตฟอร์ม เพื่อให้บริการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) พัฒนาระบบ “Mini e-Court” หรือบริการยื่นคำคู่ความผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
ปัจจุบันศาลแพ่งเปิดให้บริการระบบ Mini e-Court สำหรับการฟ้องคดีผู้บริโภคและคดีจัดการมรดกทางระบบออนไลน์เป็นที่เรียบร้อย เริ่มตั้งแต่บริการเตรียมคำฟ้อง ส่งหมายเรียก สำเนาคำฟ้อง นัดพิจารณาคดีและพิจารณาคดีจนจบกระบวนความทั้งหมด นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบสถานะความคืบหน้าทางระบบออนไลน์ได้ และเชื่อมระบบกับกระทรวงมหาดไทยในการตรวจสอบข้อมูลกรณีที่มีการยืนยันตัวตน เพื่อเป็นทางเลือกใหม่แทนการพิมพ์เอกสารและฝ่ารถติดมาศาลแพ่งเพื่อยื่นเอกสารด้วยตนเอง
โดยมีสถิติเกี่ยวกับคดีจัดการมรดก นับตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2561 ถึง เดือนพฤษภาคม 2562 มีประชาชนยื่นฟ้องคดีทางอิเล็กทรอนิกส์และไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว 15 คดี และรอไต่สวนอีก 9 คดี
ส่วนในอนาคตศาลแพ่งจะพัฒนาระบบ Mini e-Court สามารถรองรับคดีอื่นๆ เช่น คดีเกี่ยวกับประกันภัย, คดีจำนอง, คดีกู้ยืม, ฯลฯ เน้นที่มีทุนทรัพย์ไม่สูง และจะพัฒนาระบบให้ใช้งานง่าย
เน็ตเบย์ร่วมพัฒนาระบบ
“พิชิต วิวัฒน์รุจิราพงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) หรือ NETBAY ระบุว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีการเชื่อมต่อแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการทำธุรกรรมทางออนไลน์กับหน่วยงานราชการ โดยศาลแพ่งก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งระบบดังกล่าวถือเป็นทางเลือกใหม่แก่ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น
“บริษัทนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนา ดิจิทัล บิสซิเนส แพลตฟอร์ม เพื่อให้บริการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคธุรกิจกับประชาชน โดยให้ความร่วมมือกับศาลแพ่ง ซึ่งถือเป็นหน่วยงานสำคัญในกระบวนการให้ความยุติธรรม เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อก้าวสู่ยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) จากเดิมที่ใช้เอกสารเป็นหลัก”
4 ขั้นตอนยื่นคำฟ้อง e-Court
- หากโจทก์ไม่สะดวกมาศาล ก็ดำเนินการลงทะเบียนการใช้ระบบต่อศาล โดยยื่นคำขอเข้าเป็นผู้ใช้ระบบกับเจ้าหน้าที่ด้วยตนเอง พร้อมแสดงเอกสารยืนยันตัวบุคคล
- เมื่อได้ Username และ Password แล้ว ก็แนบไฟล์คำฟ้องและไฟล์เอกสารที่กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับคำฟ้อง
- ชำระเงินค่าธรรมเนียมและค่าส่งคำคู่ความผ่านระบบอี-เพย์เมนท์ผ่านธนาคารกรุงไทย (พิมพ์ใบเสร็จรับเงินเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย)
- โจทก์เลือกวันและเวลาเพื่อนัดพิจารณาคดี
เงื่อนไขมีอะไรบ้าง?
- คดีที่สามารถยื่นคำฟ้องคือ คดีผู้บริโภคที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 10 ล้านบาท ประกอบด้วย คดีซื้อขาย เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ กู้ยืมเงิน ค้ำประกัน จำนอง จำนำและคดีเกี่ยวกับบัตรเครดิต
- โจทก์ต้องยื่นคำขอให้ศาลพิจารณาคดีฯ ก่อนวันนัดพิจารณาไม่น้อยกว่า 7 วัน
- เข้าสู่ระบบวิดีโอคอลก่อนพิจารณาคดีประมาณ 1 ชั่วโมง
- ขั้นตอนการพิจารณาจะเหมือนกับการมาที่ศาลด้วยตนเอง เช่น ให้โจทก์แต่งชุดสุภาพเรียบร้อย การกล่าวคำปฏิญาณ การสาบานตนตามลัทธิศาสนา เป็นต้น
- เจ้าหน้าที่บัลลังก์จะตรวจสอบบุคคลในวิดีโอคอลก่อนว่าตรงกับโจทก์หรือทนายความในคดีนี้หรือไม่
- เมื่อศาลพิจารณาดีและพิพากษาคดีแล้ว หากโจทก์ชนะคดี ศาลจะออกคำบังคับให้จำเลยชำระหนี้ในวันเดียวกับที่ศาลมีคำพิพากษา
- หากจำเลยยื่นคำให้การเข้ามาในคดีก่อนหรือวันนัดพิจารณาหรือจำเลยมาศาลในวัดพิจารณา ศาลจะยกเลิกการพิจารณาคดีผ่านทางระบบออนไลน์
นับเป็นการเปิดมิติใหม่ในการยื่นคำฟ้องต่อศาลแพ่งทางระบบ e-Court โดยรวมแล้วระบบนี้จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน นอกเหนือจากการเดินทางมายื่นเอกสารและไต่สวนที่ห้องพิจารณาคดี สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายการเดินทาง