สรรพสามิตชงภาษีบาปชุดใหญ่ให้รัฐบาลใหม่ไฟเขียว

>>

กรมสรรพสามิตชงภาษีบาป สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ชุดใหญ่ให้รัฐบาลตัดสินใจเดินหน้า


นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมจะเสนอแผนการจัดเก็บภาษีของให้รัฐบาลเห็นชอบ ซึ่งมีแผนเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้ารายการใหม่ประกอบด้วยภาษีสรรพสามิต

  • เครื่องดื่มเบียร์ไร้แอลกอฮอล หรือ เบียร์ 0%
  • ภาษีสรรพสามิตกัญชา
  • ภาษีสรรพสามิตบุหรี่ไฟฟ้า
  • ภาษีความเค็มและความมันในอาหาร
  • มาตรการภาษีสิ่งแวดล้อม
  • การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและ
  • การบริหารจัดการแบตเตอรี่ เป็นต้น


ที่ผ่านมากรมสรรพสามิต เร่งการเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่ต่อเนื่อง แต่การเก็บภาษีสินค้าใหม่ดังกล่าว ยังต้องรอระดับนโยบายจากรัฐบาลใหม่ว่าจะดำเนินการหรือไม่ เพื่อให้เกิดแนวทางที่ชัดเจนและขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน


สำหรัลแนวทางการจัดเก็บเบียร์แอลกอฮอล์ 0% จะมีการเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเปิดพิกัดภาษีใหม่สำหรับภาษีเบียร์ไร้แอลกอฮอลโดยตรง เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี และป้องกันไม่ให้เยาวชนไปทดลองดื่ม เนื่องจากปัจจุบันเบียร์แอลกอฮอล 0% ยังเก็บภาษีในอัตราเดียวกับน้ำอัดลม ซึ่งเสียในอัตราต่ำเพียง 14% อีกทั้งยังไม่สามารถเก็บภาษีเหมือนเบียร์ทั่วไปที่เก็บ 22% บวกกับภาษีปริมาณดีกรีแอลกอฮอลได้ เนื่องจากมีแอลกอฮอลผสมไม่ถึง 0.5% ตามกฎหมาย

( นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต )


ขณะที่ การเก็บภาษีความมันและความเค็มในอาหาร เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการภาษีเพื่อดูแลสุขภาพ โดยกรมสรรพสามิตจะเลือกเก็บภาษีจากสินค้า ขนม อาหารที่มีไขมันและความเค็มผสมในปริมาณสูงก่อน เพราะถือเป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคร้ายแรงที่ไม่ติดต่อ (เอ็นซีดี) แก่เด็กและเยาวชน ที่ชอบกินขนมขบเคี้ยว โดยเบื้องต้นจะใช้แนวทางคล้ายกับการเก็บภาษีจากความหวาน แต่ต้องรอความชัดเจนเพราะการวัดค่าความเค็มทำได้ยากต้องอาศัยความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข


ด้านการเก็บภาษีสรรพสามิตกัญชา และบุหรี่ไฟฟ้า ถือจะเป็นมาตรการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า เนื่องจากตอนนี้กัญชา และบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่ได้เปิดใช้เพื่อการพาณิชย์อย่างถูกกฎหมาย จึงต้องรอดูรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะมีการอนุญาตให้ใช้กัญชาในเชิงพาณิชย์หรือเปิดให้นำเข้าภาษีไฟฟ้าหรือไม่ หากทำได้กรมฯก็ต้องศึกษาการเก็บภาษีสรรพสามิตกัญชาเตรียมพร้อมไว้ ซึ่งขณะนี้ได้ทำรายระเอียดไว้แล้ว ทั้งอัตราภาษี อัตราจัดเก็บเทียบเคียง และอัตราภาษีซึ่งมีความแตกต่างกันตามรูปแบบของสินค้า


ส่วนการจัดตั้งกองทุนแบตเตอรี่ เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลักการต้องการให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฮบริดจ์มีแผนจัดการแบตเตอรี่ที่ผ่านการใช้งานแล้ว โดยหากไม่ได้ทำตามแผนจะถูกเรียกเก็บเงินเข้ากองทุน ซึ่งตามร่างกฎหมายกำหนดเพดานสูงสุดไว้ที่ 1 ล้านบาทต่อแบตเตอรี่ 1 ลูก ดังนั้น การบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วจึงมีความจำเป็นต่อการดูแลสิ่งแวดล้อม