สำนักข่าว AP รายงานว่า ชาวอิหร่านกำลังประสบกับปัญหาศรษฐกิจอย่างหนัก โดยหลายคนกล่าวโทษมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่เมื่ออิหร่านทนไม่ไหว และขู่ที่จะคว่ำข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ เว้นแต่มหาอำนาจยุโรปจะยื่นมือเข้าแทรกแซงสงครามทางเศรษฐกิจของทรัมป์ สหรัฐกลับไม่แยแสและประกาศว่าจะลงโทษอิหร่านมากขึ้นไปอีก หลังจากทั้ง 2 ประเทศเริ่มเผชิญหน้ากันในอ่าวเปอร์เซีย
ในช่วงเวลาที่สหรัฐกับอิหร่านยังมีข้อตกลงนิวเคลียร์ร่วมกัน สกุลเงินของอิหร่านซื้อขายที่ 32,000 เรียลต่อ 1 เหรียญสหรัฐ วันนี้ค่าเงินดิ่งลงฮวบอยู่ที่ 130,000 เรียลต่อ 1 เหรียญสหรัฐ
ตามสถิติของรัฐบาล อัตราเงินเฟ้อสูงกว่า 37% มีคนว่างงานมากกว่า 3 ล้านคนหรือ 12% ของประชากรวัยทำงาน และอัตรานี้ยังเพิ่มเป็น 2 เท่าในกลุ่มเยาวชนที่มีการศึกษา
ค่าเงินที่อ่อนลงและอัตราเงินเฟ้อทำให้สินค้าและบริการมีราคาแพงขึ้น ตังแต่ผักและผลไม้ไปจนถึงยางรถและน้ำมัน ไปจนถึงสินค้าที่มีราคาสูงเช่นโทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์มือถือธรรมดา มีราคาเท่ากับเงินเดือนข้าราชการประมาณ 2 เดือน ในขณะที่ iPhone เครื่องเดียวมีมูลค่าเท่ากับเงินเดือน 10 เดือน
ปูเรีย ฮัสซานี พนักงานขายโทรศัพท์มือถือในเตหะรานเผยว่า มาตรการคว่ำบาตรทำให้นำเข้าโทรศัพท์มือถือเข้ามาในประเทศไม่ได้ จึงต้องต้องลักลอบนำเข้ามาในตลาดมืดและขายในราคาแพงโดยคิดเป็นอัตราเงินเหรียญสหรัฐ ขณะที่ฮอสเซน รอสตามี คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างโอดครวญว่า เฉพาะผ้าเบรคมีราคาพุ่งขึ้นมาถึง 5 เท่าแล้ว
บิจัน ซันกาเนห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันกล่าวเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่าผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐต่อการส่งออกน้ำมัน รุนแรงมากกว่าในช่วงสงครามยุค 80 ในช่วงสงครามอิรัก-อิหร่าน ซึ่งในตอนนั้นกองกำลังของซัดดัม ฮุสเซ็น โจมตีการค้าน้ำมันของอิหร่าน
"สถานการณ์ของเราเลวร้ายยิ่งกว่าในช่วงสงคราม เราไม่ได้มีปัญหาการส่งออกตอนที่ซัดดัมโจมตีอุตสาหกรรมของเรา ตอนนี้เราไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้ ถ้าบอกว่ามาจากอิหร่าน"
อย่างไรก็ตาม ประชาชนอิหร่านเริ่มที่จะโทษรัฐบาลว่ามีส่วนกับความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความไร้ประสิทธิภาพ และปัญหาคอร์รัปชั่น ชิวา เคชาร์วาซ นักบัญชีวัย 22 ปีบอกว่า "สงครามเศรษฐกิจคือความจริง และประชาชนกำลังตกอยู่ใต้แรงกดดันมหาศาล"
เคชาร์วาซ บอกว่า "(รัฐบาล) บอกให้เราเข้มแข็งและอดทนกับแรงกดดัน แต่ตอนนี้เราเริ่มจะได้ยินเสียงกระดูกของพวกเราลั่นเปรี๊ยะแล้ว (เพราะทนแรงกดดันไม่ไหว)"