มอง EA ผ่านสายตา บลูมเบิร์ก เมื่อยักษ์พลังงานไฟฟ้าของไทยเขย่ายานยนต์ไฟฟ้าอาเซียน

>>

ถอดบทสัมภาษณ์ สื่อมวลชนระดับโลกด้านเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างบลูมเบิร์ก ที่ให้ความสนใจบริษัทอนาคตไกล บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) EA ผ่านการสัมภาษณ์พิเศษ สมโภชน์ อาหุนัย ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้เดินหน้าสร้างการเปลี่ยนแปลงอาเซียนผ่านแผนการเปิดตลาดรถยนต์ EV โดยเริ่มทำตลาดผ่านประเทศไทยจากสหกรณ์รถแท็กซี่ ก่อนที่จะขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียน แผนการของ EA จะเป็นอย่างไร และบลูมเบิร์ก มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร ติดตามบทสัมภาษณ์บางช่วงบางตอนได้ที่นี่


อย่างไรก็ตาม Wealthythai ขอขอบคุณสำนักงานข่าวบลูกเบิร์กสำหรับบทความดังต่อไปนี้  โดยผู้อ่านสามารถอ่านบทความเต็มเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษได้ในลิ้งด้านล่างท้ายบทความ

 


ลูมเบิร์ก เล่าเรื่อง มหาเศรษฐีจากไฟฟ้ากำลังสร้างเทสล่าประเทศไทย


สำหรับบริษัทสาธารณูปโภคที่ช่วยป้อนไฟฟ้าให้เมืองใหญ่ที่สุดของเอเชียอาคเนย์แล้ว นี่คือตัวอย่างที่สุดยอดของธุรกิจที่ครบวงจรเลยทีเดียว บริษัทนี้กำลังสร้างรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่และสถานีชาร์จไฟให้กับตลาดที่ยังแบเบาะอยู่ แล้วก็จ่ายพลังงานเพื่อให้องค์ประกอบทั้งหมดทำงานไปพร้อมๆ กัน


สมโภชน์ อาหุนัย มหาเศรษฐีของไทยคนหนึ่ง เล็งเห็นในอนาคตว่า บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA: Energy Absolute Plc.) ของเขาจะเป็นยักษ์ใหญ่แห่งวงการรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (อีวี) แม้ว่าในขณะนี้จะมีรถที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่วิ่งอยู่บนท้องถนนไม่ถึง 1,500 คันด้วยซ้ำ หรือเท่ากับ 0.004 เปอร์เซ็นต์ของรถที่จดทะเบียนทั้งหมดจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม


ประเทศในเอเชียอาคเนย์ขยับตัวค่อนข้างช้าในการยอมรับรถอีวี เพราะราคาที่แพงและคนพอใจที่จะใช้รถจักรยานยนต์มากกว่า แต่รัฐบาลไทยมองว่ารถอีวีเป็นหนทางหนึ่งที่จะลดผลกระทบจากมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ และจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่แต่ละปีสร้างส่วนแบ่งจีดีพีถึง 12 เปอร์เซ็นต์ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) อาศัยเงินอุดหนุนของรัฐและการยกเว้นภาษีในการผลิตรถอีวี 5,000 คัน ภายในปีหน้าพร้อมทั้งติดตั้งสถานีจ่ายไฟ 700 กว่าแห่ง นอกจากนี้ยังวางแผนลงทุน 3 พันล้านเหรียญดอลลาร์ที่จะสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนอีกด้วย


“กระแสมันชัดมาก ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องเลิกชะล่าใจและหันไปไขว่คว้าเทคโนโลยีชั้นสูงมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเรา เทคโนโลยีรถไฟฟ้ากำลังเปิดโอกาสใหม่ๆ สำหรับคนรุ่นใหม่ที่แสวงหาความสำเร็จ”


บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ เป็นบริษัทผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทยถ้าวัดด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด เมื่อต้นปีนี้เองบริษัทได้เปิดตัวรถอีวีชื่อ Mine Mobility ที่งานบางกอกมอเตอร์โชว์ โดยได้รับคำสั่งซื้อกว่า 4,500 คัน แต่ละคันราคาอยู่ที่ 1.2 ล้านบาท ซึ่งถูกกว่ารถอีวีประเภทเดียวกัน เข่น นิสสัน ลีฟ หรือ เกีย โซล


เราจะได้เห็นรถรุ่นนี้ออกวิ่งบนท้องถนนในยามที่โชว์รูมรถอีวีกำลังจะเนืองแน่นด้วยรถนำเข้าจากต่างประเทศรุ่นต่างๆ


ผู้ผลิตรถยนต์ต่างพากันไล่กวดความเติบโตในตลาดเอเชียอาคเนย์ ในขณะที่ยอดขายในประเทศจีน สหรัฐอเมริกาและยุโรปเริ่มตกต่ำเนื่องจากสงครามการค้าและผลของเบรกซิท  ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ดัชนีผู้ผลิตรถยนต์โลกของบลูมเบิร์กร่วงลงถึง 15 เปอร์เซ็นต์


EA ทำตลาดรถ Mine Mobility เป็นรถอีวีรุ่นแรกที่ออกแบบและผลิตในประเทศไทย รถเปิดท้าย (hatchback) ห้าที่นั่งรุ่นนี้วิ่งได้ไกลถึง 200 ก.ม. หรือ 124 ไมล์ ในการชาร์จไฟแต่ละครั้ง แม้ว่าระยะทางการวิ่งจะยังเทียบกับรถ Tesla Model 3 หรือ รุ่น e6 ของ BYD ไม่ได้ แต่ก็เพียงพอที่จะจูงใจให้สหกรณ์แท็กซี่ 5 แห่งในกรุงเทพมหานครสั่งจองถึง 3,500 คัน เพราะเชื่อว่าบริษัท EA จะสามารถส่งรถให้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว


ธนพัชร์ สุขสุธรรมวงศ์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทพลังงานมหานคร ในเครือ
EA กล่าวว่า ผู้ให้บริการรถยนต์ เช่น บริษัทแท็กซี่หรือรถเช่า เป็นกลุ่มเป้าหมายแรกสำหรับรถ Mine Mobility “ไม่มีวิธีแสดงจุดเด่นของเทคโนโลยีได้ดีไปกว่าการให้คนที่ต้องขับรถระยะทางไกลทุกวันมาขับเอง”


แบตเตอรี่ในรถ Mine Mobility จะมาจากโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง  เมื่อโรงงานพร้อมเดินเครื่องผลิตเต็มกำลัง จะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ลำดับสามของโลกทีเดียว


EA พยายามทำแบบเดียวกับ Tesla ในการบูรณาการทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตของรถไฟฟ้า ทั้งผลิตไฟฟ้า ผลิตแบตเตอรี่ ผลิตรถยนต์ และติดตั้งสถานีชาร์จไฟ เจ้าของรถ Tesla นั้นชาร์จไฟรถตัวเองที่บ้านด้วยแผงโซล่าร์เซลล์และใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตโดยบริษัทพานาโซนิค Tesla ไม่มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ไม่กี่คันที่เห็นบนท้องถนนก็ส่งมาจากที่ต่างๆ เช่น ฮ่องกง ซึ่งหมายความว่าต้องเสียภาษีนำเข้าที่ทำให้ราคารถเพิ่มขึ้นเท่าตัว


ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียอาคเนย์ที่เสนอแรงจูงใจให้กับผู้ผลิตรถอีวี และลดภาษีการขาย บริษัทยังได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลถึง 8 ปี การยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับเครื่องจักรและชิ้นส่วน และการลดภาษีสรรพสามิต


EA วางแผนผลิตรถอีวี 3 รุ่นด้วยกัน ประกอบด้วย รถ Mine Mobility ขนาดกลางซึ่งบริษัทยืนยันว่าจะเสร็จพร้อมส่งกลางปีหน้า รถขนาดเล็กที่ราคาถูกกว่าและรถสปอร์ตที่มีราคาสูง บริษัทกำลังก่อสร้างโรงงานด้วยเงินลงทุน 200 ล้านบาท เพื่อประกอบรถมากถึง 10,000 คัน ภายในสิ้นปีนี้


แต่เส้นทางยังอีกยาวไกลกว่าที่จะผลิตได้จำนวนที่ตั้งเป้าไว้ เพราะภายในประเทศเองมีรถใช้พลังงานไฟฟ้า รวมถึงรถเมล์และมอเตอร์ไซค์ ที่ได้จดทะเบียนจนถึงสิ้นเดือนธันวาคมเพียง 1,454 คันเท่านั้น

 

“เป้าหมายของเราเวลานี้คือการแนะนำรถอีวีให้ตลาดในไทยก่อน” อมร ทรัพย์ทวีกุล รองซีอีโอของ EA กล่าว


EA มีสถานีชาร์จไฟอยู่แล้วประมาณ 400 แห่งทั่วกรุงเทพ และวางแผนติดตั้งอีก 300 แห่งภายในปีนี้ โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะมีสถานีชาร์จไฟอย่างน้อยหนึ่งแห่งต่อทุก 5 ก.ม.แอปพลิเคชันชื่อว่า EA Anywhere จะช่วยให้ผู้ขับขี่รถอีวีสามารถหาสถานีชาร์จไฟและจองจุดจ่ายไฟได้


ในขณะที่แผนภายในประเทศกำลังก่อตัวขึ้น ทางบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ก็ยังวางแผนขยายธุรกิจต่อไปอีก ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ก็ตั้งเป้าสำหรับการมีรถอีวีด้วย แม้แต่ลาวและเมียนมาร์ก็แสดงความสนใจเช่นเดียวกัน


“ประเทศไทยจะเป็นผู้นำของเทคโนโลยีอีวีในภูมิภาคนี้” สมโภชน์กล่าว “เราเป็นเจ้าแรก และนั่นจะทำให้เราออกตัวไปได้ก่อนในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้”



EA เดินหน้าสร้างการเติบโตตามแผน


บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ประเมินทิศทางของ EA ยังเติบโตได้ดีในระยะยาว ปัจจุบัน EA อยู่ระหว่างเตรียมสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยจะใช้เงินลงทุน 200 ล้านบาท ล่าสุดได้มีการจัดเตรียมชิ้นส่วนครบแล้ว และกำลังไล่ขอการยืนยันคำสั่งซื้อจากลูกค้าทั้งหมดสำหรับในเฟสแรกที่ได้รับจองไว้ 4,558 คัน (หยุดรับจองแล้ว) ซึ่งผู้บริหาร ตั้งเป้าจะเริ่มผลิตในปลายปี 2562 และ ทยอยส่งมอบในไตรมาส 1/63


ส่วนธุรกิจเรือไฟฟ้า กำลังต่อเรือ 2 ลำแรก เพื่อทดสอบให้บริการบนแม่น้ำเจ้าพระยาในราวเดือน ส.ค. จากเป้าปีนี้ 20 ลำ ส่วนโรงงานแบตเตอรี่ เริ่มทำฐานราก และเครื่องจักรกำลังทยอยนำเข้ามาแล้ว ส่วนทางด้านการเงินนั้น ตั้งเป้าลงทุน 9.2 พันลบ.ปีนี้ โดยมีเงินสดในมือ 4 พัน ลบ. และ คาดการณ์กระแสเงินสดปีนี้ 9 พัน ลบ. เป็นตัวรองรับ และจะมีการออกหุ้นกู้ 1 หมื่นลบ. ส่วนหนึ่งเพื่อรีไฟแนนซ์ Bridging Loan ค่าก่อสร้างโครงการหนุมาน


ทิศทางผลการดำเนินงานไตรมาส 2/62 ไม่น่ากังวล โดยคาดกำไรปกติจะขยายตัวเด่นจากกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโครงการพลังงานลมใหม่ที่เข้ามาระหว่างไตรมาส ขณะที่พัฒนาการของ

  • ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (EV car)
  • เรือไฟฟ้า
  • โครงการแบตเตอรี่พลังงาน และ
  • PCM


ซึ่งทั้งหมดเป็น upside นอกประมาณการของเรานั้น ยังคงดำเนินไปตามแผนบริษัท ซึ่งจะต้องเริ่มเห็นเม็ดเงินรายได้ในปี 2563 เป็นตัวบีบของด้านเวลา เราจึงยังคงคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ราคาเหมาะสมปี 2562 ที่ 57.75 บาทต่อหุ้น 


อย่างไรก็ตามทิศทางการเติบโตของ EA ในสายตาของสื่อต่างชาติ และ นักวิเคราะห์ยังอยู่ในทิศทางที่ดี และสามารถเป็นผู้นำด้านรถยนต์ EV ในย่านอาเซียนได้ไม่ยาก แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่EA ต้องทำ คือ การสร้างการเติบโตให้ได้ตามแผนที่วางไว้ เป็นสิ่งที่ท้าทายกับ EA ที่จะสร้างการเติบโตตามความคาดหวังของผู้ถือหุ้นให้จนได้


อ้างอิง 

Link บทความเต็ม เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ   https://www.bloomberg.com/news/features/2019-06-19/thailand-s-tesla-being-built-by-billionaire-s-energy-absolute