“Sustainability Bond” คือตราสารหนี้ที่ระดมทุนเพื่อไปใช้กับโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยหลักเกณฑ์การออกและลักษณะของโครงการต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่จัดทำโดย ‘International Capital Market Association (ICMA)’ เรียกว่า ‘Sustainability Bond Guidelines’ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่เกิดจากการรวมกันของหลักเกณฑ์การออก ‘Green Bond : ตราสารหนี้สีเขียว’ กับ ‘Social Bond : พันธบัตรเพื่อสังคม’ ซึ่งขั้นตอนการออกประกอบด้วย 4 ข้อเช่นเดียวกัน ได้แก่
-Use of Proceeds
-Project Evaluation and selection
-Management of Proceeds
-Reporting
“Sustainability Bond” รุ่นแรกออกเมื่อก.ค.2014 โดย ‘ธนาคาร Lloyds’ ในสหราชอาณาจักร มูลค่า 250 ล้านปอนด์ อายุ 4 ปี กำหนดจ่ายคูปองปีละ 2 ครั้งแบบคงที่เท่ากับ 2.75% โดยธนาคารนำเงินที่ระดมได้ไปปล่อยกู้ให้แก่ธุรกิจ SME ธุรกิจเกษตรกรรมและธุรกิจให้บริการสาธารณสุขซึ่งล้วนมีความเชื่อมโยงกับผู้คนในท้องถิ่นและที่สำคัญตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้นำเงินทุนไปพัฒนาโครงการเกี่ยวกับการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน เช่น สถานบริการสุขภาพ การผลิตพลังงานทดแทน
“หลังจากนั้น ‘Sustainability Bond’ ก็ค่อยๆ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากกระแสการลงทุนที่เน้นการใส่ใจสิ่งแวดล้อมพร้อมๆ ไปกับการดูแลสังคม”
สำหรับ ‘ผู้ออก’ Sustainability Bond ที่ผ่านมา มีค่อนข้างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลท้องถิ่น ธนาคารเพื่อการพัฒนา สถาบันการเงิน และผู้ประกอบการในภาคเอกชน โดยผู้นำในการออกคือ ‘State of North Rhine-Westphalia’ รัฐทางตะวันตกของประเทศเยอรมนี โดยรัฐ North Rhine-Westphalia นำเงินทุนไปดำเนินนโยบายสร้างความยั่งยืนแก่ท้องถิ่นผ่านการให้การศึกษาแก่เด็ก การสร้างความเท่าเทียมในสังคม การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน รวมถึงการป้องกันมลพิษทางอากาศและการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากหน่วยงานของรัฐแล้ว
‘ภาคเอกชน’ ที่เป็นผู้นำในการออก ‘Sustainability Bond’ คือ ‘Starbucks Corporation’ ถือเป็นเอกชนรายแรกของสหรัฐที่ออก Sustainability Bond ในปี2016 โดย Starbucks นำเงินไปพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของการผลิตกาแฟด้วยการให้ความรู้ด้านการเพาะปลูก การรณรงค์หยุดทำลายป่าไม้ การป้องกันการกดขี่แรงงาน และการกำหนดราคารับซื้อกาแฟที่เป็นธรรมแก่ชาวไร่กาแฟในประเทศต่างๆ เช่น รวันดา แทนซาเนีย โคลอมเบีย จีน และ คอสตาริก้า
“ในท้ายที่สุด เกษตรกรก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นพร้อมๆ ไปกับทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง”
ส่วนใน ‘เอเชีย’ Sustainability Bond รุ่นแรกออกโดย ‘ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งญี่ปุ่น (Development Bank of Japan: DBJ)’ เมื่อต.ค. ปี 2014 และในปัจจุบัน DBJ ก็ยังเป็นผู้ออกตราสารหนี้ประเภทนี้มากที่สุดในเอเชีย นอกจากนี้ก็มี ‘ธนาคารเพื่อการก่อสร้างแห่งประเทศจีน (China Construction Bank: CCB)’ สาขาฮ่องกง 1 และ ‘บริษัท Korea East-West Power’
ในด้านของ ‘นักลงทุน’ Sustainability Bond ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ซึ่งรวมกลุ่มกันภายใต้ชื่อ ‘พันธมิตรการลงทุนอย่างยั่งยืนระดับสากล (The Global Sustainable Investment Alliance: GSIA)’ โดยมากกว่า 50% อาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศ ‘ยุโรป’
จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม สาธารณูปโภคหรือบริการขั้นพื้นฐานที่ไม่เพียงพอกับประชาชนในหลายๆ พื้นที่ของโลก ประกอบกับการที่นักลงทุนเริ่มหันมาใส่ใจและอยากเข้ามาร่วมรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมดังกล่าวมาข้างต้น
ย่อมเป็นแรงหนุนให้ ‘Sustainability Bond’ ได้รับความนิยมจากนักลงทุนและถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการระดมทุนของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาซ่อมแซมทรัพยากรธรรมชาติที่ลดลงและพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นในอนาคต