โบรกฯประสานเสียง เข้าลงทุนกลุ่มโรงไฟฟ้า หลังราคาหุ้นเกิดแพนิก ชี้โอกาสรัฐผลิตไฟฟ้า 51% 

>> เกิดขึ้นยาก ด้าน ก.พลังงาน ยัน PDP2018 ดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญ

ภาวะการซื้อขายหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าปรับตัวลดลงแรง จากความกังวลต่อประเด็นมีผู้ร้องเรียนต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งต่อมาได้รับเรื่อง และเสนอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาทบทวนแผน PDP2018 เพื่อให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 51% ภายใน 10 ปี นับจากปี พ.ศ. 2562 โดยกำหนดพิจารณาให้เสร็จภายใน 120 วัน ตั้งแต่ได้รับหนังสือแจ้งผลวินิจฉัยนั้น ล่าสุดกระทรวงพลังงาน ยืนยัน PDP2018 ดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญ


จากประเด็นดังกล่าว นักวิเคราะห์ต่างมองว่า มีโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก ที่จะทำให้ภาครัฐเข้ามาถือหุ้นโรงไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงถึง 51% เนื่องจากต้องใช้เงินเป็นจำนวนมหาศาล พร้อมทั้งไม่คาดว่าจะมีการปรับเปลี่ยนแผน PDP2018 ใหม่เช่นกัน ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติไปแล้ว ทำให้การปรับแผนดังกล่าวอาจจะเป็นไปได้ยาก และคาดไม่ส่งผลต่อโรงไฟฟ้าของเอกชนมากนัก 


นักวิเคราะห์แนะนำให้เข้าทุนหุ้นโรงไฟฟ้าที่มีแผนการเติบโตในต่างประเทศที่มีความชัดเจนแล้ว เช่น GULF, GPSC, RATCH, BGRIM, EGCO และมองหุ้นน่าสนใจหลังราคาปรับลง ได้แก่ ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) อาทิ BGRIM, GPSC รวมทั้ง มองไม่กระทบผู้ผลิต Renewable อย่าง EA, GUNKUL, TPCH, SSP ดังนั้นราคาหุ้นที่ปรับตัวลงแรงเมื่อวานจึงเป็นโอกาสในการเข้า “ซื้อ” พร้อมแนะติดตามท่าที รมต.กระทรวงพลังงานคนใหม่ว่าจะทำอย่างไร



กรุงศรีชี้ เป็นจังหวะเข้า “ซื้อ”

บล.กรุงศรี มองประเด็นนี้เราไม่ได้วิตกกังวลมากนัก เนื่องจากจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาเพราะจะต้องไปตีความว่าการผลิตไฟฟ้าของ EGAT ในปัจจุบันและตามแผนในอนาคตขัดหรือไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเมื่อมีการตีความแล้วหากขัดจริง จะมีการทบทวนแผน PDP ใหม่โดยจะต้องเพิ่มสัดส่วนการผลิตของ EGAT ขึ้นเป็น 51% และลดสัดส่วนการผลิตของเอกชนลงจากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 57% ของทั้งหมด


หากเป็นไปตามแนวทางนี้จะทำให้ Growth story จากการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศลดลงซึ่งจะกระทบต่อกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า IPP อาทิ RATCH, EGCO และ GULF โดยในกรณีของ RATCH ต้องไปตีความอีกว่าการที่ EGAT ถือหุ้น 45% และ สหกรณ์ออมทรัพย์ EGAT ถือหุ้นอีก 5% จะรวมเป็นหน่วยงานของรัฐหรือไม่หากรวมจะทำให้ RATCH มีโอกาสได้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น เพราะเป็นหน่วยงานของรัฐโดยตรง


ส่วนกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่นๆ GPSC, BGRIM, BPP และ BCPG คาดว่าจะได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากผู้ผลิตกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มี Growth story ของการเพิ่มกำลังการผลิตอยู่ในต่างประเทศ เช่นเดียวกับ EA ที่มุ่งเน้นสู่ธุรกิจแบตเตอร์รี่ไฟฟ้าจึงไม่ได้รับผลกระทบจากประเด็นดังกล่าว ดังนั้นราคาหุ้นที่ปรับตัวลงแรงเมื่อวานจึงเป็นโอกาสในการเข้า ซื้อ โดยเฉพาะหุ้นโรงไฟฟ้าที่เป็น Top pick ของเราอยู่แล้วคือ GPSC, BGRIM และ EA




เมย์แบงก์ ชอบ BGRIM-RATCH

บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)  มองว่า หากจะพิจารณาปรับแผนฯ ในช่วง 10 ปีข้างหน้า ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าที่ทำสัญญาไปแล้ว เราจึงมองว่าจะไม่ถูกกระทบ ส่วนการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มโดย กฟผ. เพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการฯ จะยิ่งทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศมีมากเกินจำเป็น


นอกจากนั้นแผน PDP2018 ผ่านความเห็นชอบจาก กพช. และ ครม. แล้ว เราเชื่อว่ามีโอกาสไม่มากที่จะมีการปรับปรุงแผนฯ ทั้งนี้เราแนะนักลงทุนติดตามท่าทีของรัฐบาลใหม่ต่อไป อย่างไรก็ตามในมุมมองของเราประเด็นบวกจากแผนฯ (ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับกลุ่ม IPP และ SPP) ได้สะท้อนไปในราคาหุ้นที่ปรับตัวดีกว่าตลาด ทำให้ Valuation เริ่มไม่ถูก (MTD ปรับขึ้นเฉลี่ยว่า 20%) ฉะนั้นในเชิงกลยุทธ์เราเลือกลงทุนเพียง BGRIM และ RATCH




เอเชียเวลท์ ยังชอบหุ้นโรงไฟฟ้า

บล.เอเชียเวลท์ ยังชอบหุ้นโรงไฟฟ้า แต่หุ้นหลักที่ราคาชนเป้าหมายไปแล้ว เช่น GULF GPSC แนะนำให้รอซื้อเมื่อราคาอ่อนตัวจากข่าวนี้ แนะนำหันไปลงทุนหุ้นกลุ่มไฟฟ้าที่มีการลงทุนในต่างประเทศเป็นหลักอย่าง SSP (AWS TP 11.00 บาท) รวมถึง CKP (AWS TP 7.60 บาท) ที่เน้นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าถูกกว่า IPP ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจำกัด


โดยประเด็นดังกล่าวระบุอยู่ใน รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 56 และส่งผลลบต่อผู้ประกอบการที่เน้นโรงไฟฟ้าประเภท IPP โดยเฉพาะ GULF อย่างไรก็ตามในรัฐธรรมนูญระบุเพียงว่ารัฐต้องเป็นเจ้าของ ไม่จำเป็นผู้ผลิต คาดรัฐบาลอาจปรับโครงสร้างโรงไฟฟ้า IPP เป็นสัมปทานแบบทางด่วนหรือรถไฟฟ้าแทนที่รัฐเป็นเจ้าของ แต่ให้สิทธิ์เอกชนในการดำเนินการ หรือส่งเสริมให้ใช้การลงทุนแบบ Public-Private Partnerships (PPP) แทน


ทั้งนี้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่ได้รับสัมปทานแล้วไม่น่าจะถูกยกเลิก หากราคาหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าปรับลงมาจนมี Upside น่าสนใจ อาจเป็นโอกาสเข้าซื้อลงทุน เรายังชอบหุ้นโรงไฟฟ้าที่เน้นการลงทุนในต่างประเทศเป็นหลักอย่าง SSP (AWS TP 11.00 บาท) รวมถึง CKP (AWS TP 7.60 บาท) ที่เน้นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าถูกกว่า IPP ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจำกัด




โนมูระ มองประเด็นนี้ไม่มีผลย้อนหลังกับโครงการที่ได้รับ PPA ไปแล้ว

บล.โนมูระ พัฒนสิน มองว่าคงต้องรอดูท่าทีของหน่วยงานรัฐฯ และคณะรัฐมนตรีอีกที แต่อย่างไรก็ดีประเด็นนี้ไม่มีผลย้อนหลังกับโครงการที่ได้รับ PPA ไปแล้ว อีกทั้งการที่รัฐฯ จะถือหุ้นโรงไฟฟ้าเอกชนเกินกว่า 51% ความเสี่ยงนี้เป็นประเด็นที่ยังต้องใช้เวลา อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมานโยบายภาครัฐฯ สนับสนุนการแปรรูป (Privatization) มาโดยตลอด ดังนั้นระยะสั้นหุ้นโรงไฟฟ้าหลังพ้น Panic จะเริ่ม Rebound ในระยะสั้น แต่ถ้ายังไม่มีความชัดเจนของหน่วยงานรัฐฯ หรือแผน PDP2018 ที่อาจปรับแก้จะมีความชัดเจน จะเป็นตัวจำกัด Upside ของหุ้นโรงไฟฟ้าที่มีความคาดหวังในการเติบโตจากโครงการใหม่ในประเทศในสัดส่วนสูง




BGRIM เด่นสุด “ซื้อ” เป้าหมาย 39 บาท

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ยังคงน้ำหนักการลงทุนอุตสาหกรรมไฟฟ้า “มากกว่าตลาด” โดย Top pick คือ BGRIM เชียร์ “ซื้อ” เป้าหมาย 39 บาท โดยประเด็นผู้ตรวจการแผ่นดินให้ EGAT พิจารณากลับมามีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า 51% เรามองไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับอุตสาหกรรมไฟฟ้า แม้ใน Worst case scenario ซึ่งทำให้ PDP 2018 มีโอกาสถูกแก้ไขและโครงการโรงไฟฟ้า IPP และ Solar rooftop ภาคประชาชนมีโอกาสถูกดึงกลับตามความเห็นของเราก็ตาม ซึ่งจะส่งผลต่อ Potential projects ในอนาคตของ IPP


แต่การนำโรงไฟฟ้าออกมาประมูลยังใช้เวลาอีก 4-5ปี คาดตลาดยังไม่ Price in อย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับผู้ประกอบการต่างหันไปเน้นขยายธุรกิจในต่างประเทศทำให้ผลกระทบมีจำกัด ในขณะที่ส่วนของ Solar rooftop ประชาชนเองยังเป็นเพียงโครงการที่อยุ่ในระยะนำร่องเท่านั้น ดังนั้นการที่หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ปรับตัวลงวานนี้ จากประเด็นดังกล่าว เป็นโอกาสในการเข้า “ซื้อ”


บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ถึงแม้กระทรวงพลังงานจะเดินหน้าให้กฟผ. เพิ่มสัดส่วนถึง 51% จริงก็ไม่กระทบกับกำไรและมูลค่าหุ้น เรายังไม่ได้รวม upside จาก PDP2018 เข้ามาในการทำประมาณการกำไรและการประเมินมูลค่าหุ้นของเรา โดยเรามองว่าโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างจะไม่ถูกกระทบ ซึ่งหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตัดสินใจปรับแผน PDP จะไม่มีการประมูล IPP เพิ่มเพราะกำลังการผลิตใหม่/ทดแทนจะมาจาก กฟผ. เท่านั้น ในขณะที่ GULF จะเป็นผู้ประกอบการที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด


เรายังคงให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ Neutral โดยคาดว่ารัฐมนตรีพลังงานคนใหม่จะตัดสินใจว่าจะทำตามผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่ เราเลือก BGRIM เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มนี้ เนื่องจาก ผลประกอบการไตรมาส 2-3/2562 มีแนวโน้มเติบโตน่าสนใจ และยังมี upside จากโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ




ติดตามท่าทีของ รมต.กระทรวงพลังงานคนใหม่

บล.ทรีนีตี้ แนะติดตามท่าทีของ รมต.กระทรวงพลังงานคนใหม่ที่จะเข้าทำหน้าที่ว่ามีแนวโน้มไปในทิศทางใด ซึ่งหากมีท่าทีที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐให้เป็น 51% จริง ก็จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของรายได้กลุ่มโรงไฟฟ้าเอกชนที่พึ่งพิงการเติบโตกำลังการผลิตในประเทศเป็นหลักอย่างมีนัยสำคัญ


โดยหากมีการประมูลโรงไฟฟ้าล็อตใหม่ตามแผน PDP2018 เอกชนก็จะเสียส่วนความเป็นเจ้าของไป 51% เรามีมุมมองว่าหากเกิดขึ้นจริงก็จะกระทบเฉพาะกับสัดส่วนความเป็นเจ้าของในโรงไฟฟ้าที่จะสร้างขึ้นใหม่เท่านั้น ไม่มีการนำไปปรับใช้ย้อนหลัง ซึ่งกรณีแย่ที่สุดหากมีการปรับใช้กฏนี้ย้อนหลังก็จะส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมากต่อรายได้ของโรงไฟฟ้าเอกชน แต่เรามองว่าเกิดขึ้นได้ยาก


อย่างไรก็ตาม เรามีมุมมองว่าควรหลีกเลี่ยงการเข้าลงทุนในกลุ่มโรงไฟฟ้าระยะสั้นเนื่องจากหากประเด็นนี้ถูกนำเข้าพิจารณาโดย รมต.กระทรวงพลังงานคนใหม่จริง ก็จะทำให้อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้ามีประเด็น Overhang และมีความไม่แน่นอนจากการตัดสินใจดำเนินการของรัฐ


หากจะเลือกลงทุนในโรงไฟฟ้าและมองหาการเติบโต เรามีมุมมองว่าควรหาบริษัทโรงไฟฟ้าที่มี Exposure ในต่างประเทศมากกว่าในประเทศแต่ต้องมีความระมัดระวังว่าการลงทุนในต่างประเทศนั้นก็มีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน และบางบริษัทแม้มี Exposure ในต่างประเทศก็ยังคงได้รับผลกระทบเชิงลบจากประเด็นคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินอยู่ นักลงทุนจึงควรใช้ความระมัดระวังในการลงทุน


เราได้ทำภาพรวมของสัดส่วนการเติบโตของโรงไฟฟ้าประเภท Conventional โดยแยกการเติบโตของกำลังการผลิตใหม่ตามภูมิภาคต่างๆในประเทศไทยและการเติบโตในต่างประเทศ  มีแผนการเติบโตในต่างประเทศที่มีความชัดเจนแล้ว คือ GULF(2,227MWe), GPSC (347MWe), RATCH (561MWe), BGRIM (70MWe) ส่วนโรงไฟฟ้าที่มีการดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ครบแล้วและกำลังรอแนวโน้มการเติบโตใหม่ๆ คือ EGCO, BPP,  GLOW




เชื่อขายทำกำไร

บล.โกลเบล็ก มีมุมมองบวกต่อหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ อาทิ GULF GPSC EGCO RATCH และ BGRIM วานนี้ที่ราคาปรับตัวลง เรามองเป็นเพียงการขายทำกำไร โดยคาดว่ากลุ่มโรงไฟฟ้าจะยังได้รับแรงหนุนจากตลาดจนใกล้การประมูลโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และขนาดกลางจาดภาครัฐ แนะนำให้รอซื้อเมื่ออ่อนตัว




รัฐเข้าถือหุ้น 51% ต้องใช้เงินสูง

บล.คันทรี่ กรุ๊ป มองว่าเป็นไปได้ยากที่จะทำให้ภาครัฐเข้ามาถือหุ้นโรง ไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงถึง 51% เนื่องจากใช้เงินเป็นจำนวนมหาศาลหากยกตัวอย่างหุ้น GULF ที่มี Market Capitalization อยู่ราว 2.67 แสนล้านบาท หากรัฐบาลต้องการ เข้ามาถือหุ้น 51% อาจต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 1.33 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดีการปรับ ตัวลงมาของราคาหุ้นกลุ่มดังกล่าวไม่ว่าจะจากสาเหตุอะไรเรายังคงมองว่าระดับ PE หลายตัวยังอยู่ในระดับสูงทั้งนี้นักลงทุนควรรอให้ระดับ Valuation ลงมาที่จุดเหมาะสมถึงค่อยเข้าพิจารณาลงทุน


บล.คิงส์ฟอร์ด มองว่าหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าปรับตัวลดลงแรง จากความกังวลต่อประเด็นความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินที่เสนอแนะให้ภาครัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่ระดับ 51 %  ส่งให้นักลงทุนกังวลต่อความไม่แน่นอนสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐใน บจ.ผลิตไฟฟ้าที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  ซึ่งทางฝ่ายวิเคราะห์ประเมินโอกาสเกิดขึ้นน้อย เนื่องจากต้องใช้จำนวนเงินค่อนข้างมาก แต่น่าจะเป็นการปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของภาครัฐในอนาคตมากกว่า


บล.ไอร่า ระบุว่า แผน PDP2018 ซึ่ง ครม.อนุมัติไปแล้ว ทำให้คาดการปรับแผนดังกล่าวอาจจะเป็นไปได้ยาก และคาดไม่ส่งผลต่อโรงไฟฟ้าของเอกชนมากนัก ทำให้คาดมีโอกาสกลับเข้ามาลงทุนหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า เช่น BGRIM ซึ่งคาดได้รับผลกระทบจากประเด็นดังกล่าวไม่มาก เนื่องจากมีแผนขยายไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น


บล.กสิกรไทย มองแม้ข่าวดังกล่าวจะเป็น overhang สำหรับหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าเพราะมีโอกาสที่เรื่องดังกล่าวจะมีการนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลปกครอง แต่เรามองว่าการยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟสำหรับโรงที่ได้รับ PPA แล้วไม่เคยมีกับประเทศไทย เราชอบโรงไฟฟ้า SPP และโรงที่จะไปโตในต่างประเทศ เพราะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้น้อยสุด เลือก BGRIM และ GUNKUL เป็น Top pick




ผู้บริหารโรงไฟฟ้าชี้ประเด็นยังคงไม่มีความชัดเจน

บล.เอเซีย พลัส ประจำวันที่ 5 ก.ค. 2562 ระบุว่า จากการสอบถามผู้บริหารโรงไฟฟ้าหลายรายพบว่าประเด็นดังกล่าวยังคงไม่มีความชัดเจนต้องรอกระทรวงพลังงานพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยในปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) อยู่ที่ 26% ของทั้งระบบ (ข้อมูลกระทรวงพลังงาน ณ เดือน มี.ค. 2562) ซึ่งในเบื้องต้นหากเกิดขึ้นจริงคาดจะเป็นส่วนของกำลังการผลิตที่จะมาจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ (lPP) มากกว่าผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP)


แต่อย่างไรก็ตามโอกาสที่จะเกิดขึ้นเชื่อว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากจะต้องมีการทบทวนแก้ไขแผน PDP2018 (พ.ศ. 2561-80) ที่เพิ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 30 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา รวมถึงเชื่อว่า EGAT อาจมีข้อจำกัดในด้านเงินลงทุนหาก EGAT ต้องมีสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 51%


ในส่วนของปัจจัยพื้นฐานหุ้นในกลุ่มฯโรงไฟฟ้าเกือบทุกตัวก่อนหน้านี้ได้ปรับตัวขึ้นเร็วและแรงในช่วงที่ผ่านมาจนเกินมูลค่าพื้นฐาน ประกอบกับประเด็นดังกล่าวเป็น sentiment เชิงลบต่อหุ้นในกลุ่ม ดังนั้นจึงเชื่อว่ามีโอกาสที่ราคาหุ้นจะปรับตัวลงเข้าสู่มูลค่าพื้นฐานได้   




EA, GUNKUL, TPCH, SSP ไร้ผลกระทบ

ส่วน บล.ฟินันเซีย ไซรัส มองว่าข่าวนี้เป็นลบต่อผู้ผลิต IPP อย่าง GULF, RATCH, EGCO แต่กระทบจำกัดมากต่อผู้ผลิต SPP อย่าง BGRIM และ GPSC และไม่กระทบผู้ผลิต Renewable อย่าง EA, GUNKUL, TPCH, SSP เรามีความเห็นเป็นกลาง ไม่คาดว่าจะมีการปรับเปลี่ยนแผน PDP2018 ตามข้อร้องเรียนนี้ อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นโรงไฟฟ้าหลายตัวปรับขึ้นจน PE แพง ในกลุ่มนี้เราแนะนำซื้อ EA, GPSC และซื้ออ่อนตัวสำหรับ BGRIM, GUNKUL


บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีมุมมองเป็นกลางต่อข่าวดังกล่าว เนื่องจากทั้งสองประเด็นยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอน และภาครัฐจะต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาและดำเนินการ รวมทั้งหากมีการแก้ไขปรับปรุง จะต้องได้รับอนุมัติมติ ครม.ใหม่ (คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ใช่คำสั่งที่รัฐบาลต้องปฎิบัติตาม)


ขณะที่แรงขายหุ้นโรงไฟฟ้าอย่างหนักเมื่อวานนี้ น่าจะเกิดจากการขายทำกำไร เพราะราคาหุ้นโรงไฟฟ้าได้ปรับขึ้นมามากในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวน ดังนั้น ในเชิงกลยุทธ์ เราแนะนำให้ ชะลอการลงทุนหุ้นโรงไฟฟ้า และแนะนำ “ซื้อ” หุ้น PTT ที่ราคาปรับตัวขึ้นน้อยกว่า โดยให้มูลค่ายุติธรรม 59.50 บาท


บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จากประเด็นดังกล่าว ทำให้ตลาดอาจกังวลถึง ความเสี่ยงจากการทบทวนแผน PDP ใหม่ และชะลอการลงทุนหุ้นในกลุ่มนี้ ทั้งนี้ถึงแม้ไม่มีประเด็นดังกล่าว เรามองความเสี่ยงของแรงทำกำไร เนื่องจาก Valuation ที่ตึงตัวของหุ้นในกลุ่มไฟฟ้า และได้เตือนนักลงทุนมาตลอดสัปดาห์นี้ ทั้งนี้กลุ่มที่น่าสนใจหลังราคาปรับลงจะได้แก่ ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) อาทิ BGRIM, GPSC และผู้ประกอบการที่เติบโตจากกำลังการผลิตต่างประเทศมากอย่าง EGCO



ก.พลังงาน ยัน PDP2018 ดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญ

ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ชี้แจงว่า จากกรณีดังกล่าวกระทรวงพลังงาน จะได้เร่งพิจารณาข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินดังกล่าวตามขั้นตอน พร้อมทั้งยืนยันว่าการดำเนินงานตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ที่ผ่านมา ที่ให้เอกชนมีบทบาทร่วมในการผลิตไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2532 จนถึงประกาศในแผน PDP2010 เมื่อปี 2553 แผน PDP2015 ปี 2558 และล่าสุด PDP2018 ที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 นั้น เป็นการดำเนินการตามกรอบของรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด



“กูรู การันตีแล้วว่ารัฐเข้าถือหุ้น 51% และเปลี่ยนแผน PDP2018 ใหม่ ที่ ครม.อนุมัติไปแล้วเกิดขึ้นยาก และยังเชื่อว่าราคาหุ้นลงแรงนั้น เป็นแรงขายทำกำไรเท่านั้น จึงเป็นโอกาสเข้าซื้อหุ้นโรงไฟฟ้า แต่หากเกิดขึ้นจริง หุ้นโรงไฟฟ้าที่เน้นขยายต่างประเทศจะไม่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งกลุ่มพวก Renewable และโรงไฟฟ้าที่ได้ PPA ไปแล้ว ก็จะไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ล่าสุดก.พลังงาน ยืนยันแผน PDP2018 ดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเชื่อว่านักลงทุนคงหายใจคล่อง..... อย่างไรก็ตามเราก็ต้องติดตามท่าทีของ รมต.พลังงานคนใหม่ว่าจะเป็นไรอย่าง”