“สมาคมตราสารหนี้ไทย”...เผยครึ่งแรกปี19 ต่างชาติซื้อสุทธิ 3,213 ล้านบาท

>>

“สมาคมตราสารหนี้ไทย”...เผย ‘ต่างชาติ’ กลับลำซื้อตราสารหนี้ไทยช่วง 2 เดือนสุดท้ายของครึ่งปีแรก จากขายสุทธิในไตรมาสแรกกว่า 4 หมื่นล้านบาท เป็นซื้อสุทธิ 3,213 ล้านบาท ในครึ่งแรกของปีนี้ ในขณะที่บริษัทไทยออก ‘หุ้นกู้ระยะยาว’ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดทั้งปีมีโอกาสทะลุ 1 ล้านล้านบาท พร้อมประเมิน ‘บาทแข็ง-เศรษฐกิจชะลอตัว’ กดดันแบงก์ชาติหั่นดอกเบี้ยลงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า


นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (
ThaiBMA) เปิดเผยว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยในครึ่งปีแรกโดยรวมเติบโตสูงกว่า 5.45% มีมูลค่าคงค้างรวมเพิ่มขึ้นเป็น 13.49 ล้านล้านบาท จาก 12.79 ล้านล้านบาท เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา โดยตราสารหนี้ภาคเอกชน ‘ระยะยาว’ มีการออกเพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยผู้ออกรายใหญ่ 10 อันดับแรกมีมูลค่าการออกคิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของมูลค่าการออกในครึ่งแรกปี19 ทําให้คาดว่าในปีนี้จะมีมูลค่าการออกแตะ 1 ล้านล้านบาท ส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชน ‘ระยะสั้น’ มีมูลค่าการออกลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วกว่า 68% โดยเป็นการลดลงของการออกตั๋ว สัญญาใช้เงิน (ตั๋ว PN) ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน


 
( นายธาดา พฤฒิธาดา )


“หลังจากช่วงกลางเดือนพ.ค. ที่การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนดูจะมีความตึงเครียดมากขึ้น และการแสดงท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ว่าอาจจะปรับลดดอกเบี้ยลงราว 0.5% ในช่วงที่เหลือของปี ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติหัน กลับเข้ามาเป็นฝั่งซื้อในตลาดตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่องใน 2 เดือนสุดท้ายของครึ่งปีแรกนี้ จากที่มีการขายสุทธิมาตั้งแต่ ต้นปี19 –เม.ย. ทําให้ยอดการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในครึ่งปีแรกเท่ากับ 3,213 ล้านบาท โดยเป็น การขายออกในตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้นและเข้าซื้อในตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาว โดยมีมูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิของ ต่างชาติในตราสารหนี้ไทย ณ ครึ่งปีแรกเท่ากับ 989,206 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.3% ของมูลค่ารวมตลาดตราสารหนี้ ไทย”


นายธาดา ยังกล่าวอีกว่า ส่วนเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในครึ่งปีแรกมีความชันน้อยลง โดยรุ่นอายุไม่เกิน 1 ปี ปรับตัวขึ้น ต่อเนื่อง 4-19 bps. ตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ส่วนรุ่นอายุ 10 ปี ค่อนข้างทรงตัวในช่วง 5 เดือนแรกของปี แล้วปรับตัวลงอย่างรวดเร็วในเดือนมิ.ย. กว่า 32 bps จาก 2.47% เมื่อปลายเดือนพ.ค. ลงมาที่ 2.15% เมื่อสิ้นเดือน มิ.ย. สําหรับทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในช่วงครึ่งหลังของปีนี้คาดว่า จากเงินบาทที่แข็งค่าและอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง จะเป็นแรงกดดันให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปีหรือต้นปีหน้า


“ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นอาจขยับลงจากการปรับลดวงเงินการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะเริ่มในเดือนก.ค. และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ระยะยาวน่าจะปรับตัวลงในกรอบจํากัดจากปัจจัยเงินเฟ้อและการลงทุนภาครัฐและเอกชนที่ยังคงทรงตัวเพื่อรอความ ชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่”