ในครั้งก่อนได้พาไปพบกับ ‘3 จุดเปลี่ยน’ ที่สำคัญในโลกการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกกันมาแล้ว
นั่นทำให้ในช่วง ‘ครึ่งหลังของปี2019’ นี้ นักลงทุนควรปรับมุมมอง และเตรียมใจรับ “3 ความท้าทาย” ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากความคาดหวังในช่วงครึ่งปีแรกนั่นเอง
ความท้าทายที่ 1 : ภาวะเศรษฐกิจขาลงหรือ “Late Cycle” ที่มาพร้อมกับเงินเฟ้อระดับต่ำ
ใน ‘ครึ่งหลังของปี2019’ เราจะพบกับเศรษฐกิจแบบ ‘Late Cycle’ ที่ไม่เหมือนในอดีต แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องโดยไม่ถดถอยนานเป็นประวัติการณ์ แต่จีดีพีก็ขยายตัวขึ้นมาเพียง 20% จากวิกฤติครั้งก่อน น้อยกว่า 40% ที่เป็นค่าเฉลี่ยของการฟื้นตัวตั้งแต่ปี1950 อยู่มาก เมื่อเศรษฐกิจไม่ได้ขยายตัวสูงอย่างมีนัยสำคัญ ต่อให้ตลาดแรงงานที่ตึงตัว ก็ไม่สามารถทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นได้ไปด้วย
และก็ไม่ใช่เพียงสหรัฐฯ ทิศทางของ ‘เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (DM)’ ทั่วโลกก็ไม่สามารถฉุดเงินเฟ้อให้ปรับตัวสูงขึ้นได้เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากแนวโน้มเงินเฟ้อในยุโรปและญี่ปุ่นที่ชะลอตัว ภาวะเศรษฐกิจเติบโตต่ำ ที่กำลังมาพร้อมกับเงินฝืด (Deflation) จะส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกกลับเข้าสู่โหมด ‘Search for Yield’
ความท้าทายที่ 2 : คือยีลด์ระยะยาวที่ต่ำกว่ายีลด์ระยะสั้น (Inverted Yield Curve)
นักลงทุนควรทำความคุ้นเคยกับภาวะ ‘Inverted Yield Curve’ ไว้ให้มาก เพราะภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ต่ำพร้อมกับความผันผวนของตลาดการเงินในระดับสูง จะกดดันให้นักลงทุนจำเป็นต้องพักเงินใน ‘สินทรัพย์ที่ปลอดภัย’ บอนด์ระยะยาวก็จะเป็นตัวเลือกแรกๆ ด้วยหวังว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย และนักลงทุนก็จะทนถือวัดใจกับธนาคารกลางไปเรื่อยๆ
และในที่สุด ครึ่งปีหลังนี้ นโยบายการเงินทั่วโลกก็จะผ่อนคลายลง
ด้วยภาพการเมืองที่วุ่นวายไร้ทางออกและตลาดการเงินที่ผิดเพี้ยนติดต่อกันเป็นเวลานาน ทุกธนาคารกลางจะต้องเข้าสู่ภาวะ “ตั้งรับ” เตรียมพร้อมที่จะใช้นโยบายการเงินเพื่อต่อกร ยิ่งถ้านโยบายระหว่างประเทศของสหรัฐฯ วุ่นวายมากขึ้นเท่าไหร่ ความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินแบบไม่ปรกติก็จะมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
“มาถึงตรงนี้ แน่นอนว่านักลงทุนต้องปรับกลยุทธ์การลงทุนไปพร้อมกันด้วย”
ในอดีต 20 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจขยายตัวต่ำ เงินเฟ้อชะลอตัว และบอนด์ยีลด์ปรับตัวลง มี 4 ช่วง คือ
- ม.ค. – ก.ย. ปี2000
- มิ.ย.07 – มิ.ย.09
- ก.ย.14 – พ.ค.16
- ตั้งแต่เม.ย. 18-ปัจจุบัน
ในช่วงเวลาดังกล่าว สินทรัพย์ที่มี “ผลตอบแทนคงที่ และความผันผวนไม่สูง” มักเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ถ้ารับความผันผวนได้ต่ำ พันธบัตรรัฐบาลคือสินทรัพย์ที่ “ต้องมี”
“แม้ว่าปัจจุบันยีลด์ของพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกปรับตัวลงจากช่วงต้นปี ตามความเชื่อว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย แต่ถ้าเศรษฐกิจชะลอตัว พร้อมกับความผันผวนตลาดเพิ่มขึ้น พันธบัตรรัฐบาลยังเป็นตัวเลือกหลักของนักลงทุนได้ และถ้าหากเฟดลดดอกเบี้ยได้จริงตามที่ตลาดมองไว้ บอนด์ยีลด์พันธบัตรรัฐบาลระยะยาวก็สามารถปรับตัวลดลงได้อีก”
ในภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบากในอดีต การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลให้ผลตอบแทนสูงถึง 12.9% ต่อปี โดย ‘พันธบัตรรัฐบาลตลาดเกิดใหม่’ คือสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด เนื่องจากมักมีปัจจัยหนุนจากแนวโน้มเงินดอลลาร์อ่อนค่า และดอกเบี้ยในประเทศที่มักอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ยีลด์สามารถลดลงได้มากกว่าที่อื่น
“ในกลุ่มนี้พันธบัตรรัฐบาลในทวีปเอเชีย มักมีความผันผวนน้อยกว่าในทวีปยุโรปและอเมริกา”
ความท้าทายที่ 3: ‘ความผันผวน’ ของตลาดสูง
ถ้ารับความผันผวนได้บ้าง... ‘กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์’ หรือ ‘REITs’ ยังเป็น “ทางเลือกที่น่าสนใจ”
แม้ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ REITs ให้ผลตอบแทนโดดเด่นกว่า 17% กดดันให้ยีลด์ที่นักลงทุนจะได้ลดลงเหลือเพียง 4.3% จนอาจเรียกได้ว่า “ไม่ถูก” แต่ช่วงเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนในอดีต REITs จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 12.1% นอกจากนี้ ถ้าปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อตลาดอสังหาฯ เช่นในช่วงปี 2007-2009 การลงทุนใน REITs จะให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจถึง 28%
“สุดท้าย ถ้าเรามั่นใจในมุมมองเศรษฐกิจ และกล้ารับความเสี่ยง การลงทุนในหุ้น “ผันผวนต่ำ” คือคำตอบสุดท้าย”
เพราะสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือความผันผวนของตลาดในระดับสูงจากความวุ่นวายของนโยบายการเมืองและสงครามการค้า ตลาดจะถูกบีบให้ลดการลงทุนหรือลดความผันผวนของพอร์ตโดยอัตโนมัติ
จากข้อมูลในอดีตย้อนหลังในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การลงทุนใน ‘หุ้นผันผวนต่ำ’ ในสหรัฐ ให้ผลตอบแทนดีที่สุดเฉลี่ย 8.0% ในช่วงที่เศรษฐกิจย่ำแย่และตลาดการเงินผันผวน ดีกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของดัชนีหลัก (S&P500 TRI) ที่ติดลบถึง 13.2%
ส่วนการลงทุนที่เน้น ‘หุ้นเติบโต’ ,‘หุ้นมูลค่า’ และ ‘หุ้นปันผล’ กลับให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ 15.0%, 10.6% และ 3.8% ตามลำดับ ขณะที่ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมีความผันผวนต่ำกว่าตลาดเกิดใหม่ถึง 9%
“โดยสรุป แม้ว่านักลงทุนจะต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ทั้งภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ต่ำ ความไม่ปรกติของตลาดบอนด์ รวมทั้งความผันผวนของตลาดในระดับสูง แต่การที่ ‘ธนาคารกลาง’ พร้อมจะเข้ามาหนุนตลาดการเงิน ชี้ว่าโอกาสในการสร้างผลกำไรให้พอร์ตการลงทุนยังมีอยู่แน่นอน เพียงแค่นักลงทุนเข้าใจ ประเมินความเสี่ยงและโอกาสให้ออก”
ท่านสามารถติดตามอ่านบทความตอนที่1 ได้ที่...https://bit.ly/2JGqL9o