“การพัฒนาอย่างยั่งยืน”

>>

โดย : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)



“การพัฒนาอย่างยั่งยืน
(Sustainability Development : SD)”...คืออะไร

ตลาดทุน” มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยไม่เพียงเป็นแหล่งระดมทุนให้แก่ภาครัฐและเอกชน ช่วยเสริมสร้างความสมดุลให้แก่ระบบการเงิน เป็นกลไกในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการจ้างงาน การกระจายรายได้ และเป็นช่องทางการออมการลงทุนของประชาชนอีกด้วย และเมื่อกระแสโลกาภิวัตน์เข้ามามีอิทธิพล การปรับตัวและพัฒนาในทุกด้านของตลาดทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้าสู่มาตรฐานสากลจึงมีความจำเป็น​

           
ในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า หากต้องการเติบโตและอยู่ได้อย่าง ยั่งยืน การดำเนินงานของตลาดทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องไม่ละเลยประโยชน์และผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ใช่เพื่อผลกำไรทางธุรกิจหรือประโยชน์เฉพาะแก่บุคคลบางกลุ่มอีกต่อไป


“ดังนั้น กลยุทธ์ในการดำเนินงานจึงต้องกว้างไกลออกไปรวมถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และโลกที่เราอยู่ด้วย นั่นคือเป้าหมายตลาดทุนที่ต้องมี” 


การพัฒนาอย่างยั่งยืน" (Sustainability Development: SD) ของตลาดทุน

 

 

ความรับผิดชอบต่อ​​สังคมของธุรกิจ (Corporate Social Responsibilities : CSR)​

“ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ หรือ CSR หรือ ESG (Environment, Social, Governance) อาจเป็นคำใหม่ที่เพิ่งมี
การใช้กันแพร่หลายในช่วงสิบกว่าปีหลังมานี้ แต่แท้จริงแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวได้รับการพูดถึงทั้งในระดับประเทศและในระดับสากลมาก่อนหน้าเป็นเวลานาน 

​           
สำหรับประเทศไทย “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9” ทรงมีพระราชดำรัสแก่พสกนิกรชาวไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เกี่ยวกับหลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในเวลาต่อมา โดยเป็นการดำเนินธุรกิจตามทางสายกลาง ภายใต้หลักความพอประมาณ ความระมัดระวัง มีเหตุผล และการบริหารความเสี่ยง พร้อมทั้งต้องมีความรู้และคุณธรรมในการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมาย คือ ความสมดุล  มั่นคง และ ยั่งยืน ของชีวิตและสังคม


“ดังนั้น การดำเนินธุรกิจตามปรัชญานี้ จึงอยู่บนพื้นฐานของการไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น หรือแสวงหาผลกำไรจนเกินควรจากการเบียดเบียนประโยชน์ของสังคม โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะก่อให้เกิดวิกฤตตามมา ตลอดจนให้คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรในธุรกิจอย่างประหยัดและมีคุณภาพ”  

ขณะที่ในระดับสากล แนวคิด CSR ที่แพร่หลายก็มีหลักการสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเช่นกัน โดยมีจุดเริ่มต้นจากการประชุมสุดยอดระดับโลกด้านสิ่งแวดล้อม (Earth Summit) เมื่อปี พ.ศ. 2535 ซึ่งมีการประกาศทิศทางใหม่ของการพัฒนา นั่นคือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน :Sustainable Development) ต้องคำนึงถึงเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย นอกเหนือจากประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว  

​​           
ในปี พ.ศ. 2542 พัฒนาการในเรื่อง CSR ยิ่งชัดเจนมากขึ้น เมื่อ นายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติขณะนั้น ได้เรียกร้องให้ธุรกิจแสดงความเป็นพลเมืองที่ดีของโลก หรือ Good Global Citizenship รวมทั้งประกาศใช้ ‘The UN Global Compact’ เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับองค์กรธุรกิจต่อไป 

​​​
ในปีถัดมา “องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา : OECD)” ได้ออก OECD Guidelines for Multinational Enterprises เพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติ โดยเสนอแนะให้บรรษัทข้ามชาติของประเทศสมาชิก OECD มี CSR และติดต่อค้าขายเฉพาะกับคู่ค้าที่มี CSR เท่านั้น หลังจากนั้น CSR ค่อยๆ แพร่กระจายในวงกว้างจนเป็นที่ยอมรับและถือปฏิบัติในระดับสากล 


“เช่นเดียวกับการดำเนินการผลักดัน CSR ในตลาดทุนไทย ล่าสุด ในปี 2561 OECD ได้ออกคู่มือ OECD Due Diligence Guidance for Responsible Business Conduct เพื่อให้ธุรกิจทั่วโลกนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติโดยสมัครใจ เพื่อช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจที่จะส่งผลกระทบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งในเรื่องสิทธิมนุษยชน  การคำนึงถึง supply chain ผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแข่งขันที่เป็นธรรม การต่อต้านคอร์รัปชัน เป็นต้น”