สัดส่วน "กองหุ้นต่อ AUM"...กับพัฒนาการของกองทุนรวม

>> “กองหุ้น” ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ทุกบลจ.ต่างมุ่งหน้าเข้าช่วงชิงส่วนแบ่งเค้กก้อนนี้กันตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เหตุผลสำคัญ คือ ‘ค่าธรรมเนียมบริหารจัดการ (Management Fee)’ ที่สูงกว่ากลุ่ม “กองตราสารหนี้” คิดกันเฉลี่ย 0.5 - 1.5% ขึ้นกับสไตล์ในการบริหารกองทุนว่าเป็น ‘Active Fund’ หรือ ‘Passive Fund’

“กองหุ้น” ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ทุกบลจ.ต่างมุ่งหน้าเข้าช่วงชิงส่วนแบ่งเค้กก้อนนี้กันตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เหตุผลสำคัญ คือ ค่าธรรมเนียมบริหารจัดการ (Management Fee)’ ที่สูงกว่ากลุ่ม “กองตราสารหนี้” คิดกันเฉลี่ย 0.5 - 1.5% ขึ้นกับสไตล์ในการบริหารกองทุนว่าเป็น ‘Active Fund’ หรือ ‘Passive Fund’

“ด้วยขนาดสินทรัพย์ที่เท่ากัน หากมีส่วนแบ่งของ กองหุ้น ที่มากกว่า ย่อมสะท้อนถึงคุณภาพของสินทรัพย์ของบลจ.นั้นๆ ได้ระดับหนึ่งเลยทีเดียว”

นี่จึงทำให้ทุกบลจ.ต่างพยายามจะขยับเข้าสู่การเพิ่มสัดส่วนของ “กองทุนหุ้น” ให้มากขึ้นตลอดช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา โดยได้ปัจจัยหนุนจากกลุ่ม ‘กองหุ้นประหยัดภาษี’ ผลักดันให้กองทุนหุ้นมีการเติบโตขึ้นตามลำดับ จากในปี2008 มี 238 กอง คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนในหุ้น 256,980.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 687 กอง ณ สิ้นปี2018 มีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นเป็น 1,435,844.71 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยสะสม (CAGR) 18.77% ต่อปี

ปี2008 บลจ.ส่วนใหญ่มี ‘สัดส่วนกองหุ้นต่อ AUM’ ต่ำกว่า 10%

ย้อนกลับไปเมื่อปี2008 นั้น อุตสาหกรรมกองทุนรวม มีสัดส่วนของ “กองหุ้น” คิดเป็น 18.91% ของสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) เท่านั้น จาก 21 บลจ. มีอยู่ 9 บลจ. คิดเป็นสัดส่วน 42.86% ของทั้งหมด ที่มีสัดส่วน กองหุ้นต่อ AUM’ มากกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ในขณะที่อีก 12 บลจ. ที่เหลือ คิดเป็นสัดส่วน 57.14% ของทั้งหมด มีสัดส่วนดังกล่าวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม และเป็นระดับที่ต่ำกว่า 10% ทั้งหมดด้วย

“สะท้อนภาพธุรกิจกองทุนรวมในอดีตนั้น มีการพึ่งพิงพอร์ต กองตราสารหนี้ มากกว่า ในแง่ของสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหารที่ดูมากนั้น ก็จะมากไปด้วย ‘ตราสารหนี้’ เป็นหลัก ในขณะที่มีสัดส่วนของ หุ้น เพียงนิดเดียว โดยเฉพาะบลจ.ลูกแบงก์ในไทย ซึ่งภาพจะต่างกับบลจ.ต่างประเทศค่อนข้างชัดเจน”

ปี2018 ‘สัดส่วนกองหุ้นต่อ AUM’ ของบลจ.ส่วนใหญ่ สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม

ผ่านมา 10 ปี ให้หลัง สิ้นปี2018 สัดส่วนกองหุ้นต่อ AUM’ ของอุตสาหกรรม ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 28.40% โดยมีบลจ.มากถึง 15 บลจ. จาก 22 บลจ. คิดเป็นสัดส่วน 68.18% ที่มี ‘สัดส่วนกองหุ้นต่อ AUM’ สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม โดยมีอยู่ 7 บลจ. คิดเป็น 31.82% จากทั้งหมด ที่มีสัดส่วนดังกล่าวต่อกว่าอุตสาหกรรม ในจำนวนนี้มีเพียงบลจ.เดียวเท่านั้น ที่มี ‘สัดส่วนกองหุ้นต่อ AUM’ ต่ำกว่า 10% (ซึ่งอาจเป็นเพราะโมเดลการทำธุรกิจที่มีเป้าหมายแตกต่างจากบลจ.แห่งอื่นเป็นสำคัญด้วย)

“จากภาพที่เปลี่ยนไปของ สัดส่วนกองหุ้นต่อ AUM’ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงการขับเคลื่อนธุรกิจบลจ.โดยขยับเข้าไปหาสินทรัพย์ที่มีคุณภาพมากขึ้น เช่น หุ้น เพราะไม่เพียงจะตอบโจทย์ในแง่ธุรกิจของบลจ.เท่านั้น หุ้นเองยังเป็นสินทรัพย์ที่สามารถตอบโจทย์การสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ลงทุนได้เป็นอย่างดีเช่นกัน”

แนวทางในการขับเคลื่อนธุรกิจบลจ. ไม่ใช่การมุ่งขายโพรดักท์เป็นชิ้นๆ เป็นกองๆ เช่นรูปแบบเดิมๆ ในอดีต หากแต่มุ่งแนะนำผู้ลงทุนให้จัด “สัดส่วนการลงทุน (Asset Allocation)” เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินเป็นสำคัญ เป็นแนวทางในการให้ผู้ลงทุนได้เรียนรู้ และได้ลองขยับเข้ามาสู่ หุ้น ได้เป็นอย่างดี จากเดิมที่คุ้นเคยแต่ กองตราสารหนี้ เป็นหลัก มองมุมนี้ก็เรียกว่า Win-Win” ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งตัว บลจ. เองและ ผู้ลงทุนเองด้วยเช่นกัน

“มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของตลาดหุ้นไทยประมาณ 17 ล้านล้านบาท เรียกว่ายังมีโอกาสให้ธุรกิจกองทุนรวมโตได้อีกมากทีเดียว ในขณะที่บลจ.ลูกแบงก์คงต้องใช้ความพยายามในการโยกเม็ดเงินจากฝั่ง ‘ตราสารหนี้’ มาสู่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เช่น ‘หุ้น’ ให้มากขึ้นนั้น บลจ.ที่ตั้งขึ้นมาในช่วงหลัง ที่มีการโฟกัสการรุก ‘กองหุ้นโดยตรง’ เป็นหลักเลยก็มีเช่นกัน”

“กองหุ้น” จะเป็นหนึ่งในสินทรัพย์หลักที่แต่ละบลจ.จะไม่ละทิ้ง มีแต่จะทวีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ เรียกว่า “ตลาดหุ้น” นี้เป็นเค้กที่ก้อนใหญ่เพียงพอสำหรับทุกบลจ.แน่นอน ที่เหลือก็อยู่ที่ฝีมือของแต่ละบลจ.เองเป็นสำคัญแล้ว...ว่าจะช่วงชิงส่วนแบ่งกันมาได้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง