“บลจ.ไทยพาณิชย์”...ลูกค้าสำคัญกว่าขนาด ‘AUM’

>>

การเป็นที่หนึ่งว่า ยากแล้ว’…การจะรักษาตำแหน่งที่หนึ่งไว้กลับ ยากยิ่งกว่า ใช่แล้วเรากำลังพูดถึง “บลจ.ไทยพาณิชย์” บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรม ด้วยมูลค่าสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ณ สิ้นปี2018 กว่า 1.5 ล้านล้านบาท ครองส่วนแบ่งการตลาด 20.87% เจ้าเดียวก็ปาเข้าไป 1 ใน 5 ของตลาดรวมแล้ว

ที่สำคัญตั้งแต่ล้มแชม์เก่าขึ้นมาครองตำแหน่ง อันดับ1’ ในอุตสาหกรรมกองทุนได้ในปี2015 ก็ยืนระยะมาต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ทีมงาน ‘Wealthythai.com’ มีโอกาสได้พูดคุยกับแม่ทัพใหญ่ของค่ายนี้ “ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ จำกัด จึงไม่พลาดที่จะถามไถ่ถึงเรื่องราวต่างๆ ของบริษัทมาฝากกัน


Wealthythai.com
:
ปีนี้ไม่มีเป้า AUM แล้วเป้า ‘อันดับ 1’ ยังมีมั้ย?

ณรงค์ศักดิ์ : ปีนี้เราไม่มีเป้าการเติบโตของ AUM มันหมดยุคแล้วที่จะทำธุรกิจแบบในอดีตที่เน้นขายกองทุนโดยเอาตัวเองเป็น ตัวตั้ง ว่าเราอยากจะขายกองทุนอะไร เพื่อให้ได้เป้า AUM เท่าโน่นเท่านี้ บริษัทเราเปลี่ยนมาเอา ประโยชน์ของผู้ลงทุน เป็นตัวตั้ง

ทำยังไง...ให้ผู้ลงทุนได้ประโยชน์จากการลงทุนสูงสุด ทั้งในเรื่องของการบริหารกองทุน ทั้งเรื่องของการบริการต่างๆ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสามารถลงทุนได้สะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น

ที่หนึ่ง...เป็นผล ไม่ใช่เหตุ ถ้าลูกค้ายังไว้ใจเรา เราน่าจะรักษาอันดับหนึ่งไว้ได้ ดังนั้นเป้าหมายของเรายังคงมุ่งมั่นที่จะเป็น ‘บลจ.ที่ได้รับความไว้วางใจสูงสุด (The Most Trusted Asset Management Company)’ มากกว่า การจะเสียตำแหน่งที่1 เราคงต้องเสียธุรกิจในส่วนของกองทุนส่วนบุคคลและกองทุนรวมไปอย่างมีนัยสำคัญ

ซึ่งแน่นอนนั่นคงทำให้เราหลุดจากตำแหน่งที่1 ได้เช่นกัน แต่ด้วยผลงานและบริการที่เราดูแลลูกค้าของเราก็ยังไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น ดังนั้นเราก็ยังน่าจะรักษาอันดับ1 ในธุรกิจกองทุนเอาไว้ได้ในปีนี้”

 

Wealthythai.com : เป้าผู้ใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล 400,000 รายในปีนี้ คิดว่าจะทำได้มั้ย?

ณรงค์ศักดิ์ : (อมยิ้มเล็กน้อย...ก่อนเฉลยให้ฟังว่า) เป้าหมายจำเป็นต้องมีและควรเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย ถึง-ไม่ถึง เป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้วค่อยมาดูกัน ปัจจุบันเรามีผู้ใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลประมาณ 100,000 ราย ก็เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 300,000 ราย ถือว่า ท้าทาย ทีมงานของบริษัททุกคน การขยายฐานลูกค้าโดยใช้คนมีข้อจำกัด ช่วงที่ผ่านมาเราจึงเร่งพัฒนา ‘SCBAM Digital Platform’ เพื่อนำเสนอบริการและให้ข้อมูลข่าวสารความรู้กับลูกค้าได้อย่างครบวงจร ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุน


สำหรับ ‘SCBAM Line Official พร้อม Chatbot ยังเป็นช่องทางการสื่อสารตรงถึงลูกค้าผ่านออนไลน์แชทสำหรับให้ลูกค้าสอบถามข้อมูลกองทุนต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว พร้อมข้อมูลอัพเดทต่าง ๆ อย่างทันสถานการณ์ และ ‘SCBAM website’ โฉมใหม่ที่มีการวางแผนการลงทุนเฉพาะบุคคล สำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่อาจเพิ่งเริ่มลงทุน รวมทั้งการให้ข้อมูลข่าวสารความรู้ผ่าน Social Media  เช่น Facebook และ YouTube 

“ปีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทจะ มีตัวตน ใน โลก Online’ อย่างเต็มตัวอีกด้วย Digital Platform ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่มาเติมเต็มกับช่องทางสาขาและตัวแทนขายต่างๆ ที่บริษัทมีอยู่แล้ว ทำให้เราสื่อสารกับลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ไม่เพียงเท่านี้ยังทำให้เรา รู้จักลูกค้า มากขึ้นด้วย

นั่นจะทำให้เราเข้าใจความต้องการของลูกค้าและสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนรวมถึงบริการต่างๆ ได้ตรงความต้องการของลูกค้ามากขึ้นด้วย ไม่ใช่เราอยากขายอะไรแล้ว แต่ลูกค้าต้องการอะไร เริ่มต้นคำถามก็ต่างกันแล้ว ”

วันนี้เป้าหมายของบริษัทเองคือการดูแลลูกค้าของเราให้มีความมั่งคั่งได้อย่างที่ควรจะเป็น เราจะถามลูกค้าเราว่าทำไมถึงลงแต่ กองตราสารตลาดเงินหรือไม่กระจายการลงทุนไปใน กองต่างประเทศ บ้าง เราอยากรู้ว่าเป็น ความตั้งใจหรือ ความไม่รู้ ถ้าเป็นความตั้งใจก็โอเค แต่ถ้าไม่รู้เราจะได้แนะนำการลงทุนที่เหมาะสมให้กับลูกค้าของเราได้ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป จะเป็นการทำงานใน เชิงรุก มากขึ้น

 

Wealthythai.com : เห็น ‘บลจ.ไทยพาณิชย์’ ปรับลดค่าธรรมเนียมในหลายกองทุนช่วงที่ผ่านมา คงไม่ใช่การแข่งขันด้านค่า Fee นะ?

ณรงค์ศักดิ์ : เราไม่ใช่บลจ.แรกที่มีการปรับลดค่าธรรมเนียม (Fee) กองทุน มีบลจ.อื่นทำมาก่อนเรา แล้วนี่ไม่ใช่การแข่งขันเรื่องค่าธรรมเนียมอะไรหรอก แต่เราพบว่า ค่า Fee เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อผลตอบแทนในระยะยาวเช่นกัน หากเราลดค่า Fee ลง ผู้ลงทุนก็จะได้ประโยชน์ เราก็อยากจะเติบโตไปพร้อมกับผู้ลงทุนของเรา ผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนมาจาก 2 ส่วนที่สำคัญ

  • การบริหารกองทุนที่ดี
  • ค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม


นั่นทำให้เราเลือกที่จะลดค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการกองทุนใน

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)’ ซึ่งมีเป้าหมายการออมเพื่อเกษียณอายุลง หรือเฉพาะกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ที่ปกติผลตอบแทนไม่มากอยู่แล้ว ถ้าไปคิดค่า Fee แพงอีกแล้วลูกค้าจะเหลืออะไร เป็นต้น มันต้องมีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ลงทุนซึ่งเป็นลูกค้าของเราด้วย

“การทำธุรกิจไม่ใช่คิดแต่จะเอาอย่างเดียว เราไม่ทำแบบนั้น แต่เลือกที่จะเป็นฝ่ายให้มากกว่า ด้วยการลดค่าธรรมเนียมในกองทุนบางกลุ่มลง หรือ กอง SCBSET-E’ ถ้าลงทุนผ่านช่องทาง Digital เราไม่คิดค่าธรรมเนีมบริหารจัดการกองทุนเลย บริหารให้ฟรี แต่จำกัดไปจนถึงวงเงิน 1 ล้านบาท เท่านั้น เพราะเราอยากให้ผู้ลงทุนมีโอกาสเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายด้วยต้นทุนที่เหมาะสมเป็นการขยายฐานลูกค้าไปในตัว เติบโตไปกับลูกค้าของเราในลักษณะนั้นมากกว่า”

ก่อนจาก “ณรงค์ศักดิ์”  ย้ำว่า การจะเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวนั้น จำเป็นต้องทำงานให้หนัก เรื่องของขนาด ‘AUM’ เป็นเรื่องรอง แต่เรื่องหลัก คือ การ ‘ดูแลผู้ลงทุน’ ซึ่งเป็นลูกค้าของเราให้ดี ให้มีประสบการณ์ลงทุนที่ดี ให้เขาเลือกที่จะอยู่กับเราแล้วเติบโตไปพร้อมๆ กันตรงนั้นสำคัญกว่า